xs
xsm
sm
md
lg

ธีรยุทธ บุญมี เปรียบ ทักษิณ “ขี้ขำ” อุจจาระที่ค้างคารูทวารการเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธีระยุทธ บุญมี (ภาพจากแฟ้ม)
นักวิชาการเสื้อกั๊กปาฐกถาเปรียบอดีตนายกฯ กลุ่มทุนกาฝาก เกาะกินรัฐบาล-คุมอำนาจรัฐ ภาษาเหนือเรียก “ขี้ขำ” อุจจาระที่ค้างคารูทวารการเมืองไทย สังคมไทยตกต่ำกลายเป็น “สังคมขี้ข้า” เสาะหาผู้อุปถัมภ์เส้นสาย เรื่องเสื้อเหลือง-เสื้อแดงไม่ใช่วิกฤต รอการแก้ไข ปัญหาทักษิณเป็นเรื่องธรรมาภิบาล กังขาแกนนำแดงไม่เสนอกระจายอำนาจลงสู่รากหญ้า


วันนี้ (14 ต.ค.) นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย ปาฐกถาในหัวข้อ “ปณิธานประเทศไทย” ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 ทั้งนี้ยังได้เผยแพร่บทความ “เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา” เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ในชื่อ “40 ปี 14 ตุลา : อุดมการณ์ประชาธิปไตย 40 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516” มีเนื้อหาดังนี้

“...มีคำถามยอดนิยมที่มีคนถามพวก 14 ตุลา เป็นประจำก็คือ “ผ่านมาตั้ง 40 ปีแล้ว ทำไมประชาธิปไตยไทยยังไปไม่ถึงไหน” ที่แรงหน่อยก็ว่า “ทำไมการเมืองไทยยังเฮงซวยอยู่” “อุดมการณ์ของพวก 14 ตุลา หายไปไหนหมด?”

ถ้าจะตอบอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ผู้ถามไม่เข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร ยังไม่เข้าใจความจริงของการเมืองและประวัติศาสตร์ ประการแรก ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องเกิด มาเลเซีย สิงคโปร์ จีน ซึ่งเจริญทางเศรษฐกิจ การศึกษากว่าไทย ปัจจุบันยังไม่เป็นประชาธิปไตย เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ก็ไม่จำเป็นต้องเกิดในปี 2516 ฟิลิปปินส์ซึ่งคุ้นเคยกับประชาธิปไตยมาก่อนไทย เพิ่งมาล้มล้างเผด็จการมาร์กอสได้ในปี พ.ศ. 2529 เกาหลีใต้ล้มเผด็จการทหารได้ในปี 2530 ปัจจุบันพม่ายังอยู่ใต้เผด็จการทหาร อินโดนีเซียยังเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบอยู่

ประการที่สอง ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่เขียนไว้เป็นกฎหมายแล้วจะเกิดขึ้น ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่พวกคณะราษฎร 2475 และ 14 ตุลา อัญเชิญมาจากฟากฟ้ามาประดิษฐาน แล้วประชาธิปไตยก็บังเกิดขึ้นในประเทศไทย ประชาธิปไตยเป็นการเมืองซึ่งเกิดจากการรับรู้และสำแดงพลังอำนาจของคนกลุ่มต่างๆ เพื่อขอแบ่งปันสิทธิในการมีกินมีอยู่ในการจัดการทรัพยากร ตัดสินชะตากรรมของตนและส่วนรวม เมื่อได้มาแล้วก็ต้องรักษาสิทธิเหล่านี้ของตนเองไว้ให้ได้

ในประเทศตะวันตกซึ่งเป็นแม่แบบประชาธิปไตยทั้งหลาย ก่อนการปฏิวัติประชาธิปไตยในอังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส ในศตวรรษที่ 18 ทั้งขุนนาง ชนชั้นนำ ปัญญาชน ชาวบ้าน มีบทบาทในการต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเองมาก่อนหน้าอย่างยาวนาน

ในศตวรรษที่ 13 อัศวินและขุนนางอังกฤษต่อสู้ให้กษัตริย์ลงนามในกฎหมายสิทธิยอมรับและการสืบทอดมรดกเหนือปราสาทและที่ดินของตน ทำให้เกิดกฎหมาย Magna Carta ขึ้น ปัญญาชน บาทหลวงยุโรปจำนวนมากเผยแพร่ความคิดสิทธิในชีวิตและทรัพย์สิน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิธรรมชาติ ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน สิทธิในการต่อต้านผู้นำที่ไม่เป็นธรรมมาตลอด ส่วนชาวบ้าน ชาวเมือง ชาวนา ก็มีการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน การเลิกข้อจำกัดไม่ให้ชาวบ้านล่าสัตว์ ตัดฟืน การต่อสู้ให้เลิกล้มระบบไพร่ติดที่ดินของชาวนาในฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ และเยอรมัน ในศตวรรษที่ 14, 15, 16 การต่อสู้เพื่อประกาศถึงสิทธิในการชุมนุม เสรีภาพส่วนบุคคล เสรีภาพในชีวิต ทรัพย์สิน เสรีภาพในการต่อต้านผู้ปกครองที่ไม่เป็นธรรม ฯลฯ การต่อสู้เหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะพ่ายแพ้ กองกำลังฝ่ายต่อต้านหรือชาวบ้านเสียชีวิตจำนวนมาก บางครั้งกองกำลังหลายพันคนถูกกวาดล้างจนหมดสิ้น เมื่อสิ่งที่ได้มาต้องแลกมาด้วยราคาที่แพงลิบลิ่วเช่นนี้ คนตะวันตกจึงเห็นคุณค่าของประชาธิปไตย พยายามรักษาให้มันทำงานให้มันดำรงความเป็นระบบที่ดีเอาไว้ จนไม่มีทหารหรือนักการเมืองคนใดจะกล้ามาเบี่ยงเบนหรือบิดเบือน นี่คือสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมประชาธิปไตยนั่นเอง

แต่ในสังคมไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่มีใครได้ใช้ประชาธิปไตยนอกจากทหาร พลเรือน และนักการเมืองจำนวนหยิบมือ หรือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ในหมู่นักศึกษา ปัญญาชน ชนชั้นกลางเสรีภาพของคนไทยเป็นเหมือนส้มหล่น ที่จะใช้กันอย่างเพลิดเพลิน เป็นโอกาสที่กลุ่มทุนไทยซึ่งปลดแอกจากทหาร ตำรวจ เก็บเกี่ยวดอกผลจากมัน ไม่มีความพยายามจะรักษาให้ระบบการเมืองทำงานไปได้ หรือรักษาความเป็นระบบที่ตั้งไว้ได้ กลับส่งเสริมสนับสนุน (ให้ทุนในการซื้อเสียง เมินเฉยเรื่องการขายเสียง)

(ก) ในเรื่องอุดมการณ์ ข้อเท็จจริงก็คือ ในสังคมไทยไม่มีใครยึดมั่นในประชาธิปไตยหรืออุดมการณ์ที่จะยอมรับ สิ่งเสริมอำนาจสิทธิของประชาชนตาดำๆ จริงๆ นอกจากประชาชนฝ่ายซ้ายจำนวนไม่มาก ซึ่งก็มักโน้มเอียงไปในการโจมตีล้มล้างทางชนชั้น ปัญญาชนชั้นนำของฝ่ายอนุรักษ์ไม่เคยสื่อหรือขยายความหมายเรื่องสิทธิอำนาจของประชาชน กลับพร่ำบอกว่าประชาชนขาดการศึกษา ยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย จาก พ.ศ. 2475 จนถึง 14 ตุลาคม 2516 สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นหลักก็คือ กองทัพและสถาบันอนุรักษ์แย่งชิงการเป็นอธิปัตย์ ซึ่งก็คือการดำรงอำนาจสูงสุดทางการเมือง ทั้งสองส่วนนี้หันมาผนึกแน่นกันมากขึ้นในภารกิจการต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนในที่สุดในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 กองทัพซึ่งมีบทบาทเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 2475 ก็ได้ยอมกลับมาอยู่ใต้สถาบันพระมหากษัตริย์โดยสิ้นเชิง สังเกตได้จากคำขวัญของกองทัพซึ่งในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้ใช้คำขวัญ “ชาติ เกียรติ วินัย กล้าหาญ” มาเป็นจะปกป้องเทิดทูน “ชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์” ในปัจจุบันจึงกล่าวได้ว่า ตลอด 50-60 ปีที่ผ่านมาสองสถาบันนี้ไม่ได้เน้นไปที่ประชาธิปไตย แต่โฟกัสอยู่ที่ความมั่นคงของชาติ ซึ่งก็คือความมั่นคงของ “สถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์” นั่นเอง

กลุ่มทุนดั้งเดิมของไทยนอกจากไม่สนใจประชาธิปไตยแล้ว ยังกลัวอันตรายการผูกพันกับการเมือง แต่ก็เกาะอาศัยสถาบันกษัตริย์ กองทัพ เพื่อการอยู่รอดมาตลอด เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากการกำกับและการแบ่งปันผลประโยชน์จากทางตำรวจ ข้าราชการ จึงมีความคึกคักและความเพลิดเพลินในการขยายตัวและแสวงหาผลกำไรทางธุรกิจของตนอย่างเต็มที่ และพยายามเกื้อกูลทั้งข้าราชการ กองทัพ พรรคการเมือง สถาบันอนุรักษ์ ให้เอื้อต่อการขยายตัวของธุรกิจตน

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ได้เปิดพื้นที่ใหม่คือการเมืองแบบรัฐสภาและการเลือกตั้งให้กับพรรคการเมือง จุดที่น่าสังเกตคือ ในช่วงต้นที่อำนาจรัฐยังอยู่ในมือของกองทัพและราชการ และอำนาจเศรษฐกิจอยู่กับทุนเก่าซึ่งมีรากเหง้าอยู่กับศูนย์กลางประเทศ พรรคการเมืองจึงเกิดจากทุนท้องถิ่น ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ซึ่งเคยถูกกีดกันออกจากการเมืองพื้นฐาน อำนาจของภาคการเมืองจึงมาจากภาคชนบท และมีจุดมุ่งหมายในการหาผลประโยชน์จากการพึ่งพาและเกาะกับรัฐและระบบราชการ โดยไม่มีจิตสำนึกเรื่องประชาธิปไตยแท้จริงอยู่เลย พรรคการเมืองไทยทุกพรรคอาศัยทุนเก่า ทหาร และราชการอยู่ตลอด จนเมื่อถึงช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งทุนเก่าและสถาบันอื่นๆ ทรุดโทรมลง พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มทุนใหม่ขนาดใหญ่ เน้นความว่องไว และการจัดการความเสี่ยง ได้ยกระดับฐานอำนาจและผลประโยชน์ของภาคการเมืองจากการเป็นกาฝากเกาะกินรัฐ มาเป็นการควบคุมรัฐและภาคชนบทโดยตรง จนเป็นชนวนความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างกลุ่มอนุรักษ์ที่เคยกุมอำนาจรัฐมาแต่เดิม กับกลุ่มทุนใหม่เก็งกำไรทางอำนาจซึ่งอยู่ในรูปของพรรคการเมือง ทำให้เกิดวิกฤติต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

(ข) ในประเด็นเรื่องวัฒนธรรมการเมือง สังคมไทยมีวัฒนธรรมการเมืองแบบอุปถัมภ์ หรือถ้าจะใช้คำแรงๆ ก็คือ สังคมขี้ข้า ที่คนส่วนใหญ่เสาะหาผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนที่มีอำนาจเส้นสาย (สังเกตได้จากนักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ที่หลั่งไหลไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณทุกวันนี้ คนไทยนิยมมองสิ่งต่างๆ ด้วยมุมมองเรื่องขี้ เช่น เรื่องนี้ขี้ปะติ๋ว ขี้ผง มองคนคนเต็มไปด้วยขี้จากหัวจรดเท้า เช่น ขี้หัว ขี้รังแค ขี้หู ขี้ตา ขี้มูก ขี้ฟัน ขี้เหงื่อ ขี้ไคล ขี้เต่า ขี้เล็บ ขี้ตีน มองอุปนิสัยพฤติกรรมคนด้วย “ขี้” ขี้เกียจ ขี้คร้าน ขี้เหร่ ขี้หลี ขี้อาย ขี้ดื้อ ขี้ตืด ขี้เหนียว ขี้กะโล้โท้ ขี้เป้ ขี้อิจฉา ขี้ฟ้อง ขี้ตัวะ ขี้จุ๊ มองฐานะคนด้วยคำว่า “ขี้” เช่น ขี้ข้า ขี้ครอก ขี้ทึ้ง ขี้ถัง ขี้โอ่ ขี้อวด ขี้อ่ง คนเลวทรามผ่าน “ขี้” เช่น ขี้โกง ขี้ฉ้อ ขี้จาบ ถ้าจะมอง พ.ต.ท.ทักษิณผ่านมุมมองว่าด้วยขี้ ก็ต้องเรียกทักษิณเป็น “ขี้ขำ” ของการเมืองไทย เพราะขี้ขำแปลว่า อุจจาระที่ค้างคารูทวารอยู่ แม้จะออกแรงแคะก็ยังเอาออกลำบาก ส่วนนายกยิ่งลักษณ์นั้นอาจจะมองว่าเป็นนายกฯ “ขี้หย้อง” กับ “ขี้แบ๊ะ” คำแรกหมายถึง หญิงสาวที่ชอบแต่ตัวสวยงาม ชอบสำรวย สำอาง ส่วนคำที่สองหมายถึง พวกที่ไม่ทำอะไรจริงจังเป็นล่ำเป็นสัน ทำตัวอีล่อยป้อยแอ หรือทำไปอย่างเสียไม่ได้เป็นส่วนใหญ่ ส่วนชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์ของไทยก็อาจมองได้ว่าเป็นพวก “ขี้หักถ่อง” ซึ่งแปลว่าพวกทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ปากว่าตาขยิบ ปากพูดให้คนทำดี แต่ไม่กล้าลงมือแก้ปัญหาเอง เพราะกลัวจะกระทบกระเทือนตัวเอง กองทัพมีปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นของนักการเมือง มีโอกาสและอำนาจจะแก้ได้ 2 หนคือ การรัฐประหาร รสช. และ 19 กันยายน 2549 แต่ก็ทำแค่ครึ่งๆ กลางๆ เพราะกลัวจะเข้าเนื้อหรือถูกแว้งกัดได้ในภายหลัง แม้จะนำเอาคนมีฝีมือของตน เช่น พลเอกสุรยุทธ์ ก็ทำอย่างโหย่งโย่ย ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน)

ดังนั้น เมื่อกลุ่ม องค์กร สถาบันสำคัญๆ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ไม่มีใครตั้งใจเปลี่ยนแปลง กระตุ้นให้คนไทยส่วนใหญ่ได้รู้จักใช้อำนาจ ใช้สิทธิของตน เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมประชาธิปไตยแล้ว จะกล่าวโทษชาวบ้านที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤติการเมืองไม่ได้ เพราะทุกฝ่ายต่างมุ่งรักษาผลประโยชน์หรือแสวงผลประโยชน์ของตนเองทั้งสิ้น

ประชาธิปไตยไทยจะไปทางไหน?

ความฝันที่ยังเหลือของ 14 ตุลา คนหนึ่ง

14 ตุลาคม 2516 ผมเองก็ไม่ได้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยแต่อย่างใด ผมเป็นเพียงคนหนุ่มที่มีความฝัน เป็นคนไฟแรงที่ไม่ชอบความไม่ยุติธรรม ไม่อดทนต่อพวกใช้อำนาจบาตรใหญ่ มาถึงวันนี้ที่วันเวลาผ่านไป 40 ปี ผมก็ยังไม่กล้าพูดว่าตัวเองเป็นคนมีอุดมการณ์ไม่ว่าจะเป็นด้านไหน และไม่แน่ใจว่าการอ้างถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตยหรือการปฏิรูปการเมือง การแก้รัฐธรรมนูญ การเขียนกฎหมายใหม่ การเรียกร้องความปรองดองระหว่างเสื้อเหลือง-เสื้อแดง จะช่วยให้ปัญหาลึกๆ ของประเทศดีขึ้นมาได้อย่างไร

ถ้าผมจะยังมีความหวังในความฝันอยู่ ผมอยากจะหวังอย่างเดียวคือ จากโอกาสที่เสียไป 40 ปี ผมอยากให้ทุกส่วนช่วยกันมองปัญหาให้ถูก จึงจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ถูกได้

1. สังคมไทยจะทุ่มเทพลังงานไปในทิศทางที่ถูกต้องได้ไม่ควรมองเรื่องของทักษิณหรือเสื้อเหลือง-เสื้อแดงเป็นวิกฤติอีกต่อไป ทั้งหมดเป็นเพียงปัญหาที่ยังค้างคารอการแก้ไขอยู่เท่านั้น

2. ปัญหาเรื่องทักษิณไม่ใช่วิกฤติประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาธรรมรัฐ ธรรมาภิบาล คือการขาดความโปร่งใส ตรวจสอบ และการคอร์รัปชั่นทำผิดกฎหมาย ซึ่งต้องใช้มุมคิดของธรรมรัฐ ธรรมาภิบาล และกลไกสำหรับปัญหาของมันมาแก้ไข การแก้ปัญหาโดยวิธีการรัฐประหารพิสูจน์แล้วว่าเป็นวิธีการที่ผิดพลาด ผู้ที่คิดจะแก้ไขโดยวิธีที่ไม่ใช้กฎหมาย เช่นจะนำเอาการเมืองมาแก้ไขก็ต้องพร้อมรับปัญหา หรือพวกที่จะนำเอารัฐธรรมนูญมาแก้ปัญหาก็ต้องพร้อมรับผิดชอบเช่นกัน ทักษิณก็ต้องพร้อมรับผิดชอบถ้าดึงดันใช้วิธีหักดิบ ไม่ยอมแก้ปัญหาไปตามกระบวนการที่ควรจะเป็น เพราะทักษิณคือตัวปัญหา “ขี้ดัน” ของการเมืองไทย คนที่มีปัญหาขับถ่ายไม่ออกจะหงุดหงิดอย่างมาก คงจะออกมาประท้วงต่อต้านอย่างมากมายแน่นอน

3. นโยบาย “ประชานิยม” หรือการที่พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่ปัญหาประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ นักวิชาการมีหน้าที่ออกมาแสดงทัศนะตักเตือนข้อดีข้อเสีย และถ้าจะถึงขั้นทำให้เกิดวิกฤติจริงๆ กลุ่มธุรกิจใหญ่ต่างๆ ที่ประสบความเดือดร้อนก็จะต้องออกมาคัดค้านด้วยตัวเอง หรือประชาชนอาจต้องเจอปัญหาเงินเฟ้อไปเรื่อยๆ ก็จะต้องลุกขึ้นมาประท้วงเรียกร้องอย่างใดอย่างหนึ่ง

4. ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เป็นเพราะแม่แบบความคิดและกระบวนทัศน์เดิมของตัวเอง ทำให้รัฐไทยโดยเฉพาะกองทัพ สถาบันอนุรักษ์ และภาคธุรกิจไทยมองปัญหาและตั้งยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดอย่างยิ่งในการไม่ช่วยกันป้องปรามไม่ให้ปัญหาการซื้อเสียง การคอร์รัปชั่นทางการเมืองจนบานปลายจนมีสภาพที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

การมองปัญหาและกำหนดนโยบายที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงมากอีกประการหนึ่ง และซ้ำเติมปัญหาการไม่ส่งเสริมประชาธิปไตยของชนชั้นนำไทยก็คือ การที่รัฐไทยโฟกัสปัญหาอยู่ที่การรักษาความเป็นชาติ หรือความมั่นคงของชาติอย่างผิดๆ ผิวเผิน หรือสุ่มเสี่ยงมากเกินไป คือ (ก) เน้นการรวมศูนย์ความเป็นไทยและความเป็นชาติไทยในทุกๆ ด้าน (ข) การเน้นสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นใจกลางของศูนย์กลางนี้ในทุกๆ ด้าน คือพยายามอาศัยท่านให้เป็นใจกลางของความมั่นคงการเมือง เป็นใจกลางของการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นใจกลางของคุณธรรม อย่างล้นเกินจนคล้ายการสุ่มเสี่ยง เพราะพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันมีลักษณะเป็นที่เคารพรักของประชาชนอย่างเป็นประวัติการณ์ ควรคำนึงถึงความต่อเนื่องของสถาบันว่า พระมหากษัตริย์อีหลายพระองค์ถัดๆ ไป ซึ่งเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ต่างไป จะสามารถดำเนินภารกิจและบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้จะส่งผลสะท้อนกลับอย่างไร (ค) ทั้งสองประเด็นข้างต้นส่งผลให้ความรับรู้ของคนไทยที่มีต่อประวัติศาสตร์ของตัวเอง ภาษา ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม ประเพณี ถูกจำกัดอยู่ในกรอบที่คับแคบมากที่สุด การสำแดงออกซึ่งสัญลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณีเหล่านี้ก็อยู่ในลักษณะที่คับแคบเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ประวัติศาสตร์ก็เน้นศูนย์กลางและประวัติศาสตร์ของราชวงศ์อย่างล้นเหลือ ละเลยประวัติศาสตร์เชิงสังคมว่า ทหาร แพทย์ พยาบาล วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักกฎหมาย นักการเมือง นักร้อง นักแสดง พ่อค้า นักธุรกิจ ชาวบ้าน แรงงาน ได้มีส่วนร่วมสร้างบ้านเมืองมาอย่างไร ละเลยประวัติศาสตร์เชิงวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ย่อย ประวัติศาสตร์เชิงภูมิวัฒนธรรม เชิงนิเวศ ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ชาวบ้านหรือชุมชน ฯลฯ ความรับรู้ทางประวัติศาสตร์ ความรับรู้เชิงสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศิลปะศาสตร์ต่างๆ ของคนไทยก็คับแคบตามไปด้วย

ผลเสียร้ายแรงที่เกิดขึ้นแล้วคือ กรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถ้าเราจะลองถามตัวเองด้วยความซื่อสัตย์ว่า ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา นอกจากกรณีโจรจีนมลายูแล้วเรารับรู้อะไรบ้าง ทั้งที่เป็นความเจริญก้าวหน้า การอยู่ดีมีสุข หรือเป็นปัญหาคับคาใจ ที่เกี่ยวกับ 3 จังหวัดภาคใต้ คำตอบก็คือไม่มีเลย หรือเกือบไม่มีเลย ที่ไม่มีไม่ใช่เพราะไม่มีปัญหาความทุกข์ความสุข ความก้าวหน้าหรือความเสื่อมทราม แต่เป็นเพราะกรอบความรับรู้อันคับแคบที่รัฐไทยได้ตีไว้จนไม่สามารถมีการสื่อสารใดๆ เกิดขึ้นได้ ถ้าเราจินตนาการว่า ได้มีการรับรู้ มีความชื่นชม จนทำให้เกิดการท่องเที่ยวแลกเปลี่ยนรอยยิ้ม พูดจาปราศรัยกันด้วยภาษาไทยปนภาษายาวีระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน มีภาพข่าวเรื่องราวของพี่น้องมุสลิมภาคใต้ มีภาพสุเหร่า มัสยิด ภาพสถานที่สวยงาม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรมที่สวยงาม ภาพผู้หญิง ผู้ชาย ในเครื่องแต่งกายท้องถิ่นของพวกเขา มีนิยาย ละคร เพลง ปรากฏในสื่อต่างๆ สม่ำเสมอตลอด 30-40 ปีที่ผ่านมา ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างมากมายทุกวันนี้อาจไม่สามารถเกิดขึ้นเลยก็ได้

การไม่ยอมรับส่งเสริมสิทธิอำนาจของชาวบ้านก็ซ้ำเติมให้ปัญหานี้เลวร้ายลงไปอีก เพราะชุมชนและชาวบ้านไม่มีช่องทางใดๆ ที่จะโต้เถียงหรือแสดงออกได้ ซึ่งเป็นปัญหาทั่วประเทศไม่ใช่เฉพาะเพียงภาคใต้เท่านั้น คนไทยทุกคนไม่ควรประมาท และไม่ควรคิดว่าความขัดแย้งบางอย่างอาจเกิดขึ้นได้กับภูมิภาคอื่นๆ เช่น ภาคอีสาน ภาคเหนือ หรือแม้แต่ภาคใต้ส่วนบนเอง เพราะทิศทางใหญ่ของโลกยุคโลกาภิวัตน์และอาเซียนภิวัตน์คือการตื่นตัวทางอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ของผู้คนทั่วโลกผ่านทางข่าวสารและ Social network ต่างๆ ความสนใจใคร่รู้ การเดินทางท่องเที่ยว แสวงหาสิ่งแปลกใหม่ต่างถิ่นต่างวัฒนธรรม ย่อมเพิ่มพูนขึ้นยิ่งกว่าอย่างทวีคูณ ท้องถิ่นและภูมิภาคต่างๆ จะได้ประโยชน์ก็ต้องรับรู้ รื้อฟื้น หรือสร้างอัตลักษณ์เฉพาะของตนขึ้นมา นี่เป็นทิศทางที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจการลงทุนทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว การเคารพกัน ชื่นชมกัน ให้การยอมรับกัน (recognition) อย่างแท้จริงของการเมืองทั่วโลกในปัจจุบัน

ผมมองว่าปัญหาใหญ่หรือภารกิจใหญ่ของประเทศในอนาคตก้าวพ้นเกินปัญหาประชาธิปไตยธรรมดาๆ ไปแล้ว แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวพันหลายๆ ด้าน ถึงที่สุดแล้วก็คือปัญหาในระดับความเป็นรัฐไทย ทั้งในประเด็นว่ารูปแบบรัฐไทยควรเป็นอย่างไร โครงสร้างอำนาจการเมืองและอำนาจการปกครองควรเป็นอย่างไร สิ่งที่ควรขบคิดเพื่อสร้างสิ่งที่ถูกต้อง ดีกว่า ในอนาคตก็คือ การพิจารณาว่าจะลดอำนาจรัฐส่วนกลางลงอย่างไร เพิ่มอำนาจภูมิภาค ท้องถิ่น และชุมชนในการกำหนดผลประโยชน์ทางทรัพยากร เศรษฐกิจ การศึกษา ในด้านประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ วัฒนธรรมประเพณีของตนอย่างไร ในการขบคิดปัญหานี้อาจต้องยอมรับร่วมกันในจุดหนึ่งว่า กระบวนทัศน์แนวรวมศูนย์อย่างอนุรักษ์ของเราแต่ดั้งเดิมนั้น ไม่สามารถนำมาใช้นำพาการเคลื่อนตัวของรัฐไทยได้อีกต่อไป ที่ชัดเจนก็คือการรัฐประหารไม่อาจมีขึ้นได้แล้วในประเทศไทย เพราะจะมีคนต่อต้านมากขึ้น ไม่มีใครสนับสนุน ถึงแม้จะรัฐประหารโดยใช้กำลังได้ พลังอนุรักษ์ก็ไม่มีทั้งบุคลากร วิสัยทัศน์ และกระบวนทัศน์ที่ถูกต้องที่จะนำพารัฐไทยต่อไปได้ ผมไม่คิดว่าเพียงบุคคลหรือคณะบุคคล โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นนำเดิม ที่จะสามารถนำพารัฐไทยต่อไปได้ ผมคิดว่าแนวความคิดในการปรับเปลี่ยนใหญ่ครั้งหน้าจะเกิดขึ้นได้ จะต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งของนักการเมือง นักคิด NGOs และขบวนการรากหญ้าของภูมิภาคและท้องถิ่น หรือมีพวกเขาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ บางทีการแก้ปัญหาความขัดแย้งเหลือง-แดงอาจอยู่ตรงจุดนี้ นั่นคือการมีภารกิจร่วมกันในการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ให้พ้นไปจากศูนย์กลางชนชั้นนำและชนชั้นกลางไปสู่ชาวบ้าน ภูมิภาค และท้องถิ่นให้ได้

ในอีกประเด็นหนึ่งซึ่งน่าพิจารณาท้าทายยิ่งก็คือ ถ้ามองว่าขบวนเสื้อแดงเป็นตัวแทนของชาวบ้านและพลังชาวรากหญ้าที่แท้จริงแล้ว เหตุใดแกนนำเสื้อแดงจึงจะไม่ขบคิดเสนอต่อพรรคเพื่อไทย เพื่อกระจายอำนาจลงสู่ชาวรากหญ้าอย่างแท้จริงด้วย รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์แง่ดีแง่เสียของนโยบายประชานิยม ติติงขอบเขต ปริมาณ และปัญหาที่สัมพันธ์กับนโยบายการเงินการคลังต่อพรรคเพื่อไทยด้วย? ขณะเดียวกัน “เสื้อเหลือง” ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของพลังอนุรักษนิยม ก็ควรผลักดันให้พลังอนุรักษ์ไทยยอมรับการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ยอมสลายการตีกรอบความคิดและองค์ความรู้ที่คับแคบด้านต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว รวมทั้งการเสนอแนะให้พลังอนุรักษ์ได้พิจารณาข้อจำกัดของตัวเอง เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือ remodernize ตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือสมานฉันท์ปรองดองอย่างแท้จริงของสองขั้วนี้นั่นเอง

มีแต่เดินทางดังกล่าวข้างต้น จึงจะเป็นการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงให้กับประเทศไทยได้ เป็นการสืบเนื่องกับประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 14 ตุลา อย่างน้อยก็เสี้ยวหนึ่งได้”


กำลังโหลดความคิดเห็น