ส.ส.ปชป.ชี้รัฐใช้เงินฟาดหัวชาวสวนยางน้อยมาก ลงทะเบียน 1.2 ล้านคนได้จริงไม่กี่ราย ถามจะจ่ายให้คนที่ไม่มีเอกสารสิทธิเหมือนชาวไร่ข้าวโพดบ้างหรือไม่ และราคายางแผ่นดิบกิโลกรัมละ 90 บาทได้เมื่อใด ชี้ราคากำลังตก หวั่นแก้ไม่ตรงจุด ราคาอาจตกเหลือแค่ 60 กว่าบาท อีกด้านร้องเร่งเจรจากับอียู หลังไทยถูกตัดสิทธิ์จีเอสพี กระทบส่งออกไม่ต่ำกว่า 9 หมื่นล้านบาท ถามนายกฯ ไปเมืองนอกทำไมไม่ทำ
วันนี้ (9 ต.ค.) นายอาคม เอ่งฉ้วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปัญหาราคายางพาราที่ปรับลดลงถึง 5 บาท ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจากเดิมยางแผ่นดิบรมควันชั้น 1 กิโลกกรัมละ 80 บาท ลดลงเหลือเพียงแค่ 76 บาท ยางแผ่นดิบชั้น 3 กิโลกรัมละ 74 บาท น้ำยางสด กิโลกรัมละ 72 บาท เศษยางกิโลกรัมละ 70-71 บาท ทั้งนี้สาเหตุมาจากประเทศจีนหยุดซื้อยาง เนื่องจากหยุดการผลิตในช่วงสารทจีน แต่ขณะนี้มีคำสั่งเข้ามาปกติแล้ว คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้ราคายางแผ่นรมควันชั้น 1 จะปรับขึ้นมาเป็นกิโลกรัมละ 80 บาท
อย่างไรก็ตามจากการติดตามการช่วยเหลือของรัฐบาลในการจ่ายค่าปัจจัยการผลิตให้รายละไม่เกิน 25 ไร่ ไร่ละ 2,520 บาท ในระยะเวลา 7 เดือน มีเกษตรกรไปขึ้นทะเบียนเพื่อรักษาสิทธิประมาณ 1.2 ล้านราย แต่รัฐบาลได้จ่ายเงินให้แก่เกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิบ้างแต่น้อยมาก เช่น จ.กระบี่ อ.เมือง ต.ไสไทย 28 ราย ต.ทับปริก 1 ราย อ.เขาพนม 5 ตำบล ได้ตำบลละ 1 รายเท่านั้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีการกำหนดเวลาว่าจะจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรได้เมื่อใด เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนโดยเฉพาะที่ไม่มีเอกสารสิทธิรัฐบาลควรจ่ายให้เช่นเดียวกับเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด ซึ่งรัฐบาลจ่ายประกันให้ข้าวโพดที่ขึ้นทะเบียนทั้งที่มีเอกสารสิทธิและไม่มี แต่ของยางพาราให้ขึ้นทะเบียนโดยที่อ้างว่าต้องเข้า ครม.อีกครั้ง โดย 40% ไม่มีเอกสารสิทธิ นอกจากนี้ตัวเลขการชดเชยก็ไม่ได้ 90 บาทตามที่ตกลงกัน เนื่องจากในวันนี้ราคยางพาราแผ่นดิบชั้นสามเหลือ 73 บาท ไม่ใช่ 78 บาทตามที่ตกลงกันว่าการอุดหนุนจะครบที่จำนวน 90 บาท ดังนั้นรัฐบาลต้องมีกำหนดเวลาว่าราคาแผ่นดิบกิโลกรัมละ 90 บาทได้เมื่อใด และขอให้มีความชัดเจนว่าผู้ที่ขึ้นทะเบียน 1.2 ล้านคนจะได้เงินเมื่อไหร่
ด้าน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรสวนยางพารา กำลังประชุมเรื่องมาตรการให้ปัจจัยการผลิต 2,520 บาทนั้นไม่มีผลต่อการยกระดับราคายางและส่งสัญญาณผิดไปตลาดโลกว่ารัฐจะไม่เข้าไปแทรกแซงอีกแล้ว ทำให้ราคาลดต่ำลงมา 5 บาท จาก 78 เหลือ 73 บาท หากรัฐบาลยังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ตนเป็นห่วงช่วงปลายปีที่ผลผลิตจะออกมากราคาอาจตกเหลือแค่ 60 กว่าบาท มาตรการของรัฐบาลจึงไม่ได้ช่วยเหลืออย่างตรงจุด ขอให้ทบทวนมาตรการในการช่วยเหลือเงินปัจจัยการผลิตให้ถึงมือเกษตรกรโดยเร็วก่อนที่ราคายางพาราจะตกต่ำไปมากกว่านี้ หากราคายางพาราตกขอให้รัฐบาลเปลี่ยนแนวทางเพื่อส่งผลด้านจิตวิทยายกระดับราคายางพารา ส่งเสริมให้พ่อค้ายางพาราช่วยแข่งขันรับซื้อเสรีให้มากขึ้น ไม่ใช่ปล่อยข่าวมั่วว่ามีการสต๊อคยางพารา
นายชินวรณ์ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเจรจากับอียูหลังจากไทยถูกตัดสิทธิ์จีเอสพีในการลดภาษีนำเข้าสินค้าไทย มีผลวันที่ 1 ม.ค.57 ซึ่งจะทำให้ต้องเสียภาษีนำเข้าปกติที่สูงกว่าการได้สิทธิจีเอสพี โดยจะกระทบกับสินค้าคือ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ สินค้าประมงแปรรูป อาหารแปรรูป อัญมณี และผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ และที่จะกระทบทันทีคือ สับปะรดกระป๋อง ได้รับผลกระทบ 47% กุ้งแปรรูป 15% และอาหารสัตว์เลี้ยง 1% ทั้งนี้เป็นที่น่าแปลกใจว่านายกรัฐมนตรีใช้เวลาส่วนใหญ่เดินทางไปต่างประเทศ แต่ทำไมไม่มีการเจรจากับอียู เพื่อรักษาสิทธิของไทยไม่ให้ถูกตัดจีเอสพี ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่รับทราบกันอยู่แล้วว่า อียูจะมีนโยบายเช่นนี้ เนื่องจากไทยมีอัตราการส่งออกมากกว่าประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา ทำให้มีการตัดสิทธิ์ไทยในที่สุด ซึ่งจะกระทบกับการแข่งขันของไทยอย่างมาก เพราะในขณะที่ไทยถูกตัดสิทธิ์ ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งทางการค้ายังได้รับสิทธิ์จีเอสพีอยู่ ทั้ง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชาและพม่า
นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลต้องรีบเจรจาแต่รัฐบาลกลับไม่มีการเคลื่อนไหวเลย ถ้ายังล่าช้าสิ่งที่จะกระทบระลอกที่สองคือ ยานยนต์ ขนส่ง 3% เครื่องปรับอากาศ 13% และกุ้งสดแช่แข็ง 6% จากตัวเลขนี้ในฐานะที่ตนเป็น รมว.เกษตรเงา จึงเห็นว่ารัฐบาลต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือและวางแผนเจรจาเพื่อคุ้มครองเกษตรกรไทยให้แข่งขันในการส่งออกได้ และสื่อสารกับเกษตรกรให้รับทราบข่าวสารอย่างถูกต้อง แต่ถ้ารัฐบาลไม่ดำเนินการเชื่อว่า พี่น้องเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนก็คงจะออกมาเรียกร้องอย่างแน่นอน
สำหรับสินค้า 10 รายการที่ส่งสินค้าส่งออกโดยได้ใช้สิทธิ์จีเอสพีไปยังอียู รวมมูลค่าแล้วเกือบ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือไม่ต่ำกว่า 90,000 ล้านบาท โดยในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมีปัญหาในการเจรจาเพื่อลดอุปสรรคมาตรการกีดกันทางการค้าสินค้าเกษตร ล้มเหลวการดึงดูดให้อียูใช้ไทยเป็นฐานการผลิต และล้มเหลวในการอุดหนุนสินค้าเกษตรไปอยู่ในอียู รวมถึงการเจรจาต่อรองเพื่อให้อียูยกเลิกการตัดบัญชีจีเอสพี