xs
xsm
sm
md
lg

“เติ้ง” เปิดวงปาหี่ ขอ รบ.ช่วยลุยให้สุด “โกร่ง” แนะสื่อ ปชช.รู้ เพื่อกดดันการทำงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“บรรหาร” เปิดประชุมปาหี่ แจงผลเดินสายชวนร่วมวง ยันได้ผลคณะทำงาน ศก.-สังคม ลุยอีกรอบ ลั่น พยายามทำให้ได้ถึงที่สุด ยันเป็นผู้ประสาน ปัดเป็นปธ.ฝากรัฐไม่ช่วยไม่สำเร็จ ยันต้องรับไปดู “ธงทอง” สรุปผลรอบก่อนสรุปไว้ 7 ข้อ พร้อมร่วมรายงานแผนต่างๆ สรุปให้ได้ 3 กลุ่ม การเมือง ศก. สังคม “พิชัย” หนุนลงทุนขนาดใหญ่ ชี้กู้ 2 ล้านล้านแยะไป ค่าแรง 300 กระทบมาก “วีรพงษ์” แนะ ประชาสัมพันธ์ให้ ปชช.รู้ กดดัน รบ.ทำงาน จี้ ใช้เงินให้เป็น

วันนี้ (7 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุม “เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย พัฒนาประชาธิปไตยและประเทศร่วมกัน” ช่วงเช้ามีการหารือด้านเศรษฐกิจและช่วงบ่ายหารือด้านสังคม โดยมี นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานสภาที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นประธาน มีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตรฯ นายพิชัย รัตตกุล อดีตประธานรัฐสภา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

โดย นายบรรหาร ได้เปิดการประชุมและชี้แจงที่ประชุมถึงข้อสรุปการเชิญบุคคลต่าง ๆ เข้าร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย ดังนี้ 1.การเดินทางไปเชิญ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมนั้น นายอานันท์ ระบุว่าไม่สามารถเข้าร่วมปฏิรูปได้เนื่องจากมีบางเรื่องที่รัฐบาลไม่ควรทำ เช่น เรื่องของกฎหมายนิรโทษกรรม การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่นายอานันท์ ยืนยันว่าไม่ใช่ไม่รับเชิญ รับ แต่ขอให้ได้มีการจัดรูปโครงสร้างทั้งหมดให้ออกมาให้เห็นชัดก่อน แล้วจะเข้าร่วมประชุมด้วย

2.การเดินทางไปพบกับศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโสนั้น หลังจากที่ได้พูดคุยกันแล้ว นายแพทย์ประเวศ ยินดีที่จะร่วมเดินหน้าประสานความร่วมมือในรอบต่อไป หากสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าการปฏิรูปสามารถเกิดขึ้นได้จริง โดยมีการเสนอสูตรสามเหลี่ยมภูเขาเขยื้อน ที่ยอดแหลมนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นประธานสภาปฏิรูป อีกด้าน นายแพทย์ประเวศ รับจะดำเนินการในภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ส่วนอีกด้านเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปทั้งหมด

3.การไปพบกับ นายสนธิ ลิ้มทองกุล และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปอย่างเป็นกันเอง จากการหารือมีข้อแม้ 5-6 ข้อ ที่สรุปได้ว่าทั้ง 2 คน มีความเห็นตรงกันว่าไม่เห็นด้วยในการตั้งสภาปฏิรูป อีก 5-10 ปี ก็ไม่มีทางสำเร็จ ซึ่งตนพยายามชี้แจงว่าต้องพยายามทำ เหมือนที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพเปิดเวทีให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น ที่จะไม่มีขาดทุนมีแต่กำไรและเสมอตัว โดยสรุปแล้วทั้ง 2 คนไม่เข้าร่วมเวทีปฏิรูป ซึ่งตนได้บอกไปว่าไม่เป็นไรและจะเดินทางไปรอบ 2 อีก

4.การไปพบกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สรุปคือให้รัฐบาลถอนกฎหมายนิรโทษกรรม ให้ถอนร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญออกไป แล้วค่อยมาพิจารณาว่าจะดำเนินการสภาปฏิรูปได้อย่างไร ซึ่งตนได้ชี้แจงไปว่าเรื่องดังกล่าวได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาไปแล้ว หากไปถอนออกคงจะลำบาก การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็เข้าสู่วาระ 3 แล้ว ส่วนกฎหมายนิรโทษกรรม หากสงสัยมาตราไหน สงสัยข้อไหนก็แปรญัตติ โดยสรุปคือนายอภิสิทธิ์ไม่เข้าร่วม และ5. การไปพบกับนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีความเห็นคล้ายกับนายอภิสิทธิ์ และคงมาร่วมไม่ได้

“สรุปแล้วทั้งหมดผมยุติเพียงแค่นี้ไม่ได้เดินไป แต่ในอนาคตถ้าหากผลการหารือของคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ออกมาว่าเป็นรูปแบบใด ผมจะเดินทางไปอีกรอบหนึ่ง ต้องพยายาม ซึ่งผมพูดกับอดีตนายกรัฐมนตรีชวยฯ ว่า I will try คือพยายามที่จะทำให้ได้ถึงที่สุด และวันนี้ขอเรียนกับที่ประชุมวันนี้อีกครั้งว่า ผมไม่ใช่ประธานในที่ประชุม ผมเป็นผู้ประสานงาน และจะประสานงานกับทุกฝ่าย ที่วันนี้มีการประชุมด้านเศรษฐกิจช่วงเช้า ด้านสังคมช่วงบ่าย และวันพุธที่ 9 ต.ค.ช่วงบ่ายด้านการเมือง ซึ่งหลังจากสรุปแล้วจะต้องดูกันอีกที โดยผมจะทำงานต่อไปเพราะอยากให้เกิดความเรียบร้อยและสำเร็จ ถึงแม้อีก 5 ปีไม่สำเร็จได้สักส่วนหนึ่ง หรือ 50 เปอร์เซ็นต์ครึ่งทางก็ยังดี ต้องมีอะไรออกมาบ้างตามเป้าหมาย 7 ข้อที่เห็นร่วมกัน แต่ทั้งหมดนี้ต้องขอให้รองนายกรัฐมนตรีพงศ์เทพ และรัฐมนตรีวราเทพ เรียนไปถึงนายกรัฐมนตรีด้วยว่ารัฐบาลจะต้องเข้ามาร่วมด้วย ถ้ารัฐบาลไม่ช่วยไม่สำเร็จอย่างแน่นอน เพราะจุดสุดท้ายคือปลายน้ำเมื่อได้ข้อมูลแล้วรัฐบาลต้องรับไป ข้อไหนทำได้ข้อไหนทำไม่ได้ เป็นสิ่งที่สำคัญ” นายบรรหารกล่าว

ด้าน นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปผลการดำเนินการที่ผ่านมา จากการประชุมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2556 ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม ซึ่งได้มีการระดมความคิดเห็นและมีการสรุปกำหนดเป้าหมายการปฏิรูปประเทศไทยทั้ง 7 ข้อ ประกอบด้วย ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีความเข้มแข็ง, การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจนในประเทศไทย, กลไกการดำเนินงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้, ความเสมอภาคเท่าเทียมกันที่เป็นมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับ, ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน, ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน การให้อภัย และการยึดหลักประโยชน์ส่วนรวมและความถูกต้องเป็นหลัก

นายธงทอง กล่าวต่อว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ศูนย์กลางการประสานงาน และคณะทำงานของนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีการศึกษางานที่ได้มีการดำเนินงานในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ รายงานฉบับสมบูรณ์ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีศาสตราจารย์ คณิต ณ นคร เป็นประธาน รายงานการวิจัยด้านการปรองดองแห่งชาติ ของสถาบันพระปกเกล้า แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย ของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แผนพัฒนาการเมืองของสภาพัฒนาการเมือง ที่มีการเผยแพร่เป็นรูปเล่มแล้ว รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สมัชชาปฏิรูปประเทศไทย และการรายงานของคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ที่เปิดรับฟังความเห็นประชาชนทั่วประเทศภายใต้หัวข้อ พูดจาหาทางออกประเทศ 108 เวที รวมทั้งหมด 7 ชุด มาพิจารณาเปรียบเทียบหาข้อสรุปร่วม เพื่อเป็นฐานในการคิด ให้เกิดเป็นโจทย์ร่วมกันและนำมาปรึกษาหารือ 3 กลุ่มย่อย คือ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในวันนี้และวันพุธที่ 9 ต.ค.นี้ โดยสรุปประเด็นในด้านเศรษฐกิจจากรายงานทั้งหมด คือ การจัดการทรัพยากร อาทิ ที่ดิน ป่าไม้ ทะเลและชายฝั่ง ส่วนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และลดความเลื่อมล้ำ จะหารือในเรื่องระบบภาษี รายได้ พลังงาน การเกษตร และความปลอดภัยด้านอาหาร

ต่อมาเวลา 12.00 น.นายพิชัย รัตตกุล อดีตประธานรัฐสภา กล่าวว่า มีการเสนอในที่ประชุมว่าเราขาดการลงทุนในระบบใหญ่ๆ ตนเห็นด้วยที่จะมีการทำในส่วนนี้ แต่ตนไม่เห็นด้วยในโครงการ 2 ล้านล้าน เพราะไม่จำเป็นต้องใช้เงินขนาดนั้น ช่วงต้นอยากให้ทำรถไฟรางคู่ก่อน รถไฟความเร็วสูงอย่าเพิ่งทำได้หรือไม่ เพราะใช้เงินจำนวนมาก นอกจากนี้ตนอยากจะชี้ให้เห็นว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ส่งผลกระทบมาก ควรมีเป้าหมายไม่ใช่เอาการเมืองอย่างเดียว นโยบายประชานิยมก็ดี แต่ควรดูองค์ประกอบส่วนอื่น

ด้านนายวีรพงษ์ รามางกูร กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าการลงทุนมีความจำเป็นกับประเทศ โดยเฉพาะด้านขนส่ง การจัดการบริหารน้ำ การปฏิรูปกฎหมายที่ทันสมัย หากจะปฏิรูปการเมืองต้องปฏิรูปทั้งองคาพยพ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการปฏิรูปของรัฐบาลมีความเป็นไปได้ มีการพูดถึงปัญหาจริงๆ อะไรที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ 10-15 ปี ข้างหน้า โดยที่ประชุมเห็นว่าควรทำประชาสัมพันธ์มีการให้ข่าวกับ สื่อเป็นระยะ จะได้คัดค้าน ติติง ประชาชนรับรู้ข่าวสาร รู้การทำงาน จะได้สร้างกระแส ให้เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจสังคม เกิดกระแสการเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งทำงานให้เร็วมีประสิทธิภาพ ใช้เงินให้เป็น เรามีเงินมากมาย แต่ที่ผ่านมาใช้เงินไม่เป็นแล้วนึกว่าตัวเองไม่มีเงินด้วย สิ่งนี้จะกระตุ้นและสร้างความกดดันให้รัฐบาลทำงานให้มากขึ้น รวดเร็วมีประสิทธิภาพ ถ้าขาดการสนับสนุนจากภาคประชาชน สื่อมวลชน ก็จะเป็นแผนที่นิ่งและอยู่กับที่ ซึ่งเห็นด้วยหากจะมีการจ้างมาจัดอีเวนต์มาช่วยกระตุ้นประชาชนจะได้รับรู้ข่าวสาร จะได้สนับสนุนติติง

ต่อมาเวลา 17.30 น.นายบรรหาร กล่าวภายหลังการประชุม “เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย พัฒนาประชาธิปไตยและประเทศร่วมกัน” ในส่วนคณะทำงานด้านเศรษฐกิจและสังคมว่า มีผลสรุปดังนี้ ด้านเศรษฐกิจได้มีการนำรายงานผลการศึกษาของคณะต่างๆ 7 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) สถาบันพระปกเกล้า สภาบันพัฒนาการเมือง เป็นต้น มาเสนอต่อคณะทำงานในประเด็นที่สำคัญ เช่น การจัดการทรัพยากรที่ดิน แร่ น้ำ ป่า ทะเล และชายฝั่ง การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การลดความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น จากนั้นคณะทำงานได้ร่วมแสดงความเห็นอย่างกว้างขวางและเห็นสมควรสรุปประเด็นการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ แบ่งออกเป็น 5 ประเด็น ได้แก่ 1.เป้าหมายระยะยาวในการพัฒนาเศรษฐกิจ 2.การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ 3.การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ 4.การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และ5.ประเด็นเร่งด่วนเฉพาะหน้า

ส่วนด้านสังคมคณะทำงานเห็นสมควรสรุปกำหนดประเด็นปฏิรูป 6 ประเด็น ได้แก่ 1.การพัฒนาคนทั้งด้านความรู้ ความรับผิดชอบ คุณธรรม และการเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย 2.การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการสร้างความเป็นธรรมทางกฎหมาย 3.การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของประชาชน และชุมชนท้องถิ่น 4.การบริหารจัดการภาครัฐที่ดี โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ 5.การจัดระบบสวัสดิการสังคมและการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และ 6.ประเด็นเร่งด่วนเฉพาะหน้า ทั้งนี้คณะทำงานได้มอบหมายให้นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นำความเห็นต่างๆ ไปดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานชุดเล็กตามประเด็นย่อยข้างต้น โดยมีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ความคิดที่ตกผลึกแล้วนำกลับมาเสนอต่อตนในฐานะผู้ดูแลภาพรวม เพื่อประมวลความเห็นเสนอต่อที่ประชุมเวทีปฏิรูปชุดใหญ่ในเดือน ธ.ค.นี้









กำลังโหลดความคิดเห็น