xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ซัด “โต้ง” โกหกบอกไม่กู้ ตปท. แฉ “ปู” ปูดเองใช้เงินนอก 8 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน (แฟ้มภาพ)
วุฒิสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน “เกชา” เผย กมธ.คมนาคมศึกษาแล้วพบขัด ม.169 จี้ศึกษาโครงการต่างๆ ใหม่ให้รอบด้าน “คำนูณ” ระบุเงินกู้เป็นเงินแผ่นดิน เชื่อขัด ม.169 ตอก “กิตติรัตน์” พูดเท็จไม่กู้เงินจากต่างประเทศ ที่สุด “นายกฯ ปู” ออกมาปูดเองจะกู้เงินนอก 40% 8 แสนล้านบาท สูงกว่ากู้ไอเอ็มเอฟ ยุคต้มยำกุ้งถึง 2 เท่า เสี่ยงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณา ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ (พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท) วาระแรก โดยนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุมวันนี้ (7 ต.ค.) นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา อภิปรายว่า หลังจากที่ประชุมวุฒิสภามอบหมายให้คณะกรรมาธิการฯไปศึกษารายละเอียดร่าง พ.ร.บ.มีข้อสรุปและข้อสังเกต คือ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว อาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ควรมีการศึกษาในแต่ละโครงการให้รอบด้านก่อน และดำเนินโครงการเท่าที่จำเป็นและมีความพร้อม

โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สาย กรุงเทพ-เชียงใหม่, กรุงเทพ-หนองคาย, กรุงเทพ-ปาดังเบซาร์ ควรมีการกำหนดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงให้ชัดเจน เพราะแต่ละประเทศแตกต่างกันมาก หากกำหนดราคาไว้กลางๆ เกรงว่าจะได้เทคโนโลยีที่ไม่คุ้มกับราคา งบฯศึกษาโครงการของกระทรวงคมนาคมมีมาก การจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และที่ปรึกษาการก่อสร้าง ไม่ควรให้เกิดการซ้ำซ้อนกัน และควรพิจารณาขีดความสามารถในการรับงานแต่ละบริษัทด้วย

นายเกชากล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ เห็นความสำคัญว่ารถไฟรางคู่สายเด่นชัย-เชียงใหม่ น่าจะเกิดประโยชน์ด้านการขนส่งภาพรวม แต่ไม่ถูกบรรจุโครงการไว้ในบัญชีแนบท้าย จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนด้วย โดยรวมเห็นควรให้ที่ประชุมรับร่างฯ ไว้พิจารณา

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา รองประธานคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน กล่าวว่าจากการศึกษาแม้คณะกรรมาธิการฯจะเห็นด้วยกับร่างฯ แต่มีข้อเสนอแนะว่ารัฐบาลควรศึกษารายละเอียดการลงทุน ความคุ้มค่าทุกด้านเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด แม้รัฐบาลพยายามปฏิเสธว่าเงินกู้ตามร่างฯ ไม่ใช่การใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 เพื่อไม่ต้องนำส่งคลัง แต่ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 12) มีความเห็นแนบท้ายว่าผู้ที่จะวินิจฉัยชี้ขาดคือศาลรัฐธรรมนูญ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเคยมีคำวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือ พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง 2552 และ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ 2555 พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 168 ด้วยเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน แต่ยังไม่เคยมีการวินิจฉัยว่าเป็นการใช้จ่ายเงินแผ่นดินที่ต้องนำรายได้ส่งคืนคลังหรือไม่

นายคำนูณกล่าวว่า ดังนั้นเมื่อศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยจนเป็นข้อยุติ คณะกรรมาธิการฯ จึงมีความเห็นว่าเป็นเงินแผ่นดิน และเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 โดยมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า รัฐบาลสามารถบริหารจัดการโครงการเหล่านี้ด้วยวิธีการงบประมาณปกติได้ ด้วยการตั้งงบฯ รายจ่ายข้ามปี หรือตั้งเป็นงบผูกพันข้ามปีพร้อมวงเงินเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ ดังนั้นการนำเข้าสภาเพียงครั้งเดียวแล้วต้องมีผลผูกพันวงเงินถึง 2 ล้านล้านบาท เป็นเวลา 7 ปี เท่ากับหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ถือเป็นการโอนอำนาจการตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติไปให้ฝ่ายบริหารถึง 7 ปีงบประมาณ เป็นการทำลายฝ่ายนิติบัญญัติอย่างร้ายแรงที่สุด การไม่มีรายละเอียดโครงการอาจมีการเปลี่ยนแปลงโครงการได้ และยังสุ่มเสี่ยงลงทุนไม่คุ้มค่า อาจไม่เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง และยังเสี่ยงสูงต่อภาระหนี้ประเทศ จากความไม่แน่นอนเศรษฐกิจโลก

นายคำนูณกล่าวว่า ยังปรากฏข้อเท็จจริงใหม่เป็นประเด็นที่สำคัญ หลังนายกฯนำคณะไปพบบรรดานายธนาคาร ว่าจะกู้เงินสกุลต่างประเทศ เป็นเงินดอลลาร์ถึงร้อยละ 40 ทั้งที่นายกิตติรัตน์ยืนยันมาตลอดว่า จะเป็นการกู้เงินภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นหากต้องกู้เงินจากต่างประเทศถึงร้อยละ 40 หรือ 8 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นยอดสูงถึง 2 เท่าของเงินกู้ไอเอ็มเอฟ จึงมีความเสี่ยงหากเกิดวิกฤติอย่างปี 40 แต่คราวนั้นหนี้เกิดจากภาคเอกชน ขณะที่ภาครัฐยังเข้มแข็งอยู่ แต่คราวนี้เป็นการก่อหนี้โดยภาครัฐเอง แล้วรัฐบาลจะเอาอะไรมาประกันความเสี่ยง

ด้านนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรมช.เกษตรและสหกรณ์ รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯชี้แจงว่า ก่อนจะผ่านร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้หารือกับหลายหน่วยงาน ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาเอง การมองว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ซึ่งเจตนารมณ์เขียนขึ้นมาเพื่อควบคุมเงินที่เป็นรายได้แผ่นดิน ต้องเข้าคงคลัง ไม่ต้องการให้ใช้จ่ายโดยไม่มีระบบตรวจสอบ โดยได้รับคำยืนยันจากคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะว่าดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 142 และ 143 (3) เท่าที่ตรวจสอบกรณีนี้ไม่ใช่ครั้งแรก มีการออก พ.ร.บ.กู้เงินในลักษณะนี้กว่า 10 ฉบับแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น