xs
xsm
sm
md
lg

“วิลาศ” แฉสภาฯ แต่งตั้งส่อทุจริตเพียบ! “วัฒนา” โต้ ปัดได้เบี้ยประชุมสัปดาห์ละ 4 หมื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส.ส.กทม.ปชป.แฉสภา ตั้งอนุฯ กก.เยอะผิดปกติ ส่งญาติเซ็นชื่อประชุมรับเงินแทน จวกแต่งตั้งนอกเหนืออำนาจ จ่อยื่นกรมบัญชีกลาง-สตง.สอบ พร้อมเรียกเบี้ยประชุมคืน ปูดตั้งอดีต ขรก.เกษียณเป็นผู้ชำนาญการที่ไม่ชำนาญ รับเหนาะๆ เดือนละ 5 หมื่น พร้อมระบุสายแจ้งมีวิ่งเต้นตำแหน่งเป็นแสน จวก “สมศักดิ์” เปิดปลด “สุวิจักขณ์” ด้าน “วัฒนา” โผล่โต้โวผู้ชำนาญเชี่ยวชาญจริง ปัดได้เบี้ยประชุมสัปดาห์ละ 4 หมื่น อ้างถก 24 ครั้งต่อเดือนเป็นไปไม่ได้


วันนี้ (4 ต.ค.) ที่รัฐสภา นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขณะนี้สภาฯ ได้มีการตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการจำนวนมากผิดปกติ ซึ่งส่งผลให้บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้ง จะได้รับเบี้ยประชุมเป็นเงินจำนวนมาก อาทิ นายประสพ บุษราคัม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เป็นประธานกรรมการอยู่ 3 คณะ แต่กลับมีการแต่งตั้งอนุกรรมการอีก รวมทั้งสิ้น 25 คณะ และนายวัฒนา เซ่งไพเราะ ที่ปรึกษาประธานสภาฯ เป็นประธาน 2 คณะ และที่ปรึกษาอนุกรรมการอีก 10 คณะ โดยเฉพาะส่วนของนายวัฒนา ทุกคณะกรรมการและอนุกรรมการจะมีการประชุมสัปดาห์ละ 2 ครั้ง นั่นเท่ากับว่านายวัฒนาจะได้รับเงินจำนวน 2,000 บาทสำหรับการเป็นประธานคณะกรรมการ และ 1,600 บาทสำหรับอนุกรรมการ ดังนั้น นายวัฒนาจะได้รับเงินประมาณ 40,000 บาทต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ หากตัวของประธานและที่ปรึกษาไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ก็จะมีการส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมแทน ก็จะได้รับเบี้ยประชุดเท่าเดิม จึงไม่แปลกใจที่ทำไมคณะกรรมการเหล่านี้ถึงมีบรรดาเครือญาติเข้ามาเซ็นชื่อเข้าร่วมประชุมแทนอยู่บ่อยๆ โดยปรากฏว่าในรายชื่อของคณะเหล่านี้ มีชื่อของ”นางฐปณีย์ สุขสำราญ”อยู่ในทุกคณะที่นายวัฒนาแต่งตั้งขึ้น นอกจากนั้นยังมีบุคคลนามสกุล “เซ่งไพเราะ”และ”สุขเผือก”ปรากฏอยู่ในคณะอนุกรรมการอีก 2 ชุดด้วย

นายวิลาศกล่าวต่อว่า ระเบียบในการแต่งตั้งกรรมการจะต้องตั้งเพื่อผลประโยชน์ในงานของสภาฯแต่การแต่งตั้งแบบนี้มันนอกเหนืออำนาจ ในเมื่อสมาชิกก็มีคณะกรรมาธิการอยู่กว่า 30 คณะแล้ว จะมีการแต่งตั้งเพื่อทำงานซ้ำซ้อนกันทำไม เพราะฉะนั้นเมื่อการแต่งตั้งไม่ชอบตั้งแต่แรก เบี้ยประชุมที่ได้รับไปก็ต้องไม่ชอบเช่นกัน ดังนั้น ตนจะยื่นเรื่องนี้ให้กับกรมบัญชีกลาง และสำนักงานคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้พิจารณาว่าจะมีการเรียกเงินคืนหรือไม่

แต่ตนเชื่อว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบรรดาคณะกรรมการชุดเหล่านี้จะต้องใช้กฎหมายมหาชนมาอ้างว่ารับเบี้ยประชุมไปโดยไม่รู้ว่าเป็นการแต่งตั้งโดยไม่ชอบและไม่ได้มีการจงใจรับ ซึ่งก็อาจทำให้เบี้ยประชุมที่ได้รับไปแล้วอาจจะไม่สามารถเรียกคืนได้ แต่ส่วนตัวเห็นว่าควรจะมีการเรียกเงินเบี้ยประชุมคืน เนื่องจากเห็นว่าบางคณะกรรมการไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับสภาฯอย่างแท้จริงอย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีคำสั่งยกเลิกคณะกรรมการบางคณะไปแล้วก็ทำให้เราปกป้องภาษีของประชาชนไปได้กว่า 10 ล้านบาทต่อเดือน

นอกจากนี้ นายวิลาศยังได้เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 56 ที่ผ่านมาได้มีการแต่งตั้งผู้ชำนาญการด้านต่างๆ จากการที่มีบรรดารองเลขาฯปลดเกษียณไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 56 เช่น 1. การแต่งตั้ง น.ส.อัจฉราฉวี นิ่มศิริ เป็นผู้ชำนาญการด้าน เศรษฐกิจ โดย น.ส.อัจฉราฉวี คืออดีตรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเป็นลงนามในการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาแบบหน้าจอสัมผัส (ไอแพด) จำนวน 808 เครื่อง ให้แก่สมาชิกรัฐสภา ทั้งนี้ น.ส.อัจฉราฉวี จบการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของประวัติศาสตร์ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของเศรษฐกิจแต่อย่างใด 2. การแต่งตั้ง น.ส.ศศิเพ็ญรัตน์ พลสนะ เป็นผู้ชำนาญการด้านสังคม โดย น.ส.ศศิเพ็ญรัตน์ คืออดีตรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กำกับดูแลสำนักงานเลขานุการ ก.ร. และสำนักบริหารงานกลาง 3.นายนุกูล สัญฐิติเสรี เป็นผู้ชำนาญการด้านการเมือง โดยนายนุกูล อดีต รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่มักจะทำหน้าที่ชี้แจงเรื่องการจัดซื้อนาฬิกาดิจิตอลในสภาฯทั้งหมด 200 เรือน มูลค่า 15 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเรือนละ 75,000 บาท แทนนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มาโดยตลอด

4. การแต่งตั้งนายทวีเกียรติ เชาวลิตถวิล เป็นผู้ชำนาญการด้านกฎหมาย โดยในช่วง ปี 55 นายทวีเกรียติ เคยถูกคำสั่งโยกย้ายจากผู้อำนวยการสำนักงานรักษาความปลอดภัย ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักการพิมพ์ ซึ่งคาดกันว่ามีสาเหตุมาจากกรณีที่นายพงศ์พิชาญ ธนาถิรพงษ์ สามารถขับรถแท็กซี่ไปเข้ามาในบริเวณรัฐสภาถึงสองครั้งโดยที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของรัฐสภาไม่สามารถดำเนินการยับยั้งได้ และเมื่อปี 56 นายทวีเกียรติจึงได้มาดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รับผิดชอบด้านอาคารสถานที่ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ 5.การแต่งตั้งนายสมพล วณิคพันธุ์ เป็นผู้ชำนาญการด้านต่างประเทศ โดยนายสมพล คือ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกำกับดูแลสำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ ที่เคยตกเป็นแพะรับบาปในกรณีการเดินทางไปดูงานของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะสื่อมวลชนที่ประเทศอังกฤษว่าเป็นผู้ดูแลประเด็นดังกล่าวทั้งหมด

โดยนายวิลาศระบุว่า จะเห็นว่าเป็นการแต่งตั้งผู้ชำนาญการเหล่านี้ไม่มีจำเป็น และบางคนก็ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ตนจึงคาดว่าอาจเป็นการแต่งตั้งเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง เนื่องจากตำแหน่งที่ปรึกษาฯ นั้น ได้รับเงินเดือนเดือนละ 50,000 บาท โดยมีสัญญาจ้าง 1 ปี แต่เราก็คงจะเข้าไปยุ่งกับเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะถือเป็นอำนาจการแต่งตั้งของประธานสภาฯ

ทั้งนี้ นายวิลาศยังเปรียบเทียบอัตราจ้างของลูกจ้างในรัฐสภาที่ทำหน้าที่ดูแลความสะอาดและบริการสมาชิกว่า เงินเดือนของทางสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภาไม่เท่ากัน โดยลูกจ้างของสภาผู้แทนราษฎร จะได้รับเดือนละ 6,140 บาท ขณะที่ลูกจ้างของวุฒิสภา ได้รับ 9,000 บาท ทั้งที่มีวุฒิการศึกษาเท่ากัน รวมไปถึงค่าล่วงเวลาก็ไม่เท่าเทียมกัน และเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมาสภาได้เรียกประชุมลูกจ้างทุกคนว่าจะมีการปรับค่าจ้างในระบบค่าแรงขั้นต่ำ โดยลูกจ้างจะได้รับค่าจ้าง 340 บาทต่อวัน แต่ถ้าเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ วันลาหยุด ก็จะไม่ได้รับค่าจ้างในวันนั้นๆทันที ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างน่าจะได้รับค่าจ้างน้อยลงไปกว่าเดิมอีก โดยเรื่องนี้ได้มีบุคคลที่เกี่ยวข้องมาขอไม่ให้ตนออกมาแถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีนี้ และจะมีการแก้ไขให้ แต่ตนไม่รู้ว่าจะเชื่อถือได้หรือไม่ จึงตัดสินใจออกมาพูดก่อนดีกว่า

อย่างไรก็ตาม นายวิลาศเปิดเผยว่า ในช่วงเดือนตุลาคมที่เป็นฤดูการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และเมื่อคืนที่ผ่านมาช่วงเวลาประมาณ 20.00 น.ก็ได้มีข้าราชการสภาฯ เข้าพบกับผู้ที่มีอำนาจในการโยกย้าย และมีข้าราชการ 2 คนที่มาเปิดเผยกับตนว่า มีการวิ่งเต้นและเรียกรับเงินหลายแสนบาท เพื่อโยกย้ายไปยังตำแหน่งที่ต้องการ ตนจึงอยากให้ข้าราชการที่มีข้อมูลแจ้งมายังตน เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามความถูกต้อง ทั้งนี้ตนก็อยากจะสอบถามไปยังนายสมศักดิ์ด้วยว่า หากไม่มีผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ ทำไมเมื่อมีคนเสนอให้ออกคำสั่งพักงานนายสุวิจักขณ์ และนายสมศักดิ์ ยังทำตัวเอาหูไปนาเอาตาไปไร่อยู่อีก

ขณะที่นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงตอบโต้นายวิลาศ ว่า นายสมศักดิ์ ได้แต่งตั้งผู้ชำนาญการ 5 ด้านตามที่นายสุวิจักขณ์ เป็นผู้ตั้งเรื่องขึ้นมาถึงประธานสภาฯ ซึ่งเป็นไปตามประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งผู้ชำนาญการ ฉบับวันที่ 3 ก.ย. 2547 ทั้งนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์มีเพียงตำแหน่งผู้ชำนาญการด้านต่างประเทศที่กำหนดคุณสมบัติพิเศษว่า ต้องเคยรับราชการในตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือเทียบเท่า จึงไม่ติดใจที่นายสมพล วณิกพันธ์ มาดำรงตำแหน่งนี้ ส่วนผู้ชำนาญการอีก 4 ด้าน ส่วนใหญ่เป็นรองเลขาธิการสภาฯมาก่อน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ เพราะผ่านงานในกรรมาธิการสามัญ 35 คณะของสภาฯมาแล้ว ซึ่งครอบคลุมงานด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย และการต่างประเทศมาทั้งนั้น ดังนั้นการแต่งตั้งเป็นไปตามระเบียบ และทุกคนมีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วน

นายวัฒนายังกล่าวถึงกรณีถูกนายวิลาศพาดพิงมีตำแหน่งเป็นคณะกรรมการ และอนุกรรมการต่างๆ ถึง 24 คณะ ได้รับเบี้ยประชุมสัปดาห์ละ 4 หมื่นบาทว่า ไม่เป็นความจริง คณะกรรมการและอนุกรรมการที่ตนเป็นอยู่ไม่ได้มีการประชุมทุกสัปดาห์ บางคณะประชุมแค่เดือนละ 1-2 ครั้งเท่านั้น บางคณะก็ประชุมจนเสร็จสิ้นภารกิจไปแล้ว บางคณะก็ยังไม่มีการประชุมเลย เพราะประธานและเลขาฯไม่ว่าง ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการที่มาร่วมงานเป็นผู้มีชื่อเสียง เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มาช่วยบูรณาการงานสภา บุคคลเหล่านี้คงไม่หวังเอาเงินเบี้ยประชุมแค่นิดหน่อยเท่านั้น แต่นายวิลาศ นำข้อมูลเดิมมาอ้าง ว่าอนุกรรมการ 10 คณะ และ 2 คณะกรรมการประชุมเดือนละ 2 ครั้ง รวม 24 ครั้งทุกเดือนเป็นไม่ได้ เทวดาก็ประชุมไม่ได้ ถือว่าไม่ยุติธรรม ส่วนเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภายในของรัฐสภาถ้ามีข้อมูลการทุจริตคอรัปชั่นก็ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งก็เห็นด้วยที่จะดำเนินการเอาคนผิดมาดำเนินคดี

"คนที่เป็นนักการเมือง เราอย่าไปดูถูกประชาชนหรือข้าราชการ หากเขาขยันเขาก็สมควรที่จะได้รีบเบี้ยประชุมเป็นการตอบแทนการทำหน้าที่ อย่าไปอิจฉาเขา แค่นี้เขาก็เกลียดนักการเมืองมากอยู่แล้ว เพราะชอบไปจิกหัวต่อว่าต่อขานเขา คนที่เป็นนักการเมืองก็ต้องสร้างภาพลักษณ์ให้กับนักการเมืองด้วยกันด้วย ไม่เช่นนั้นเขาก็จะเหมารวมเอา" นายวัฒนา กล่าว

นายวัฒนา กล่าวต่อว่า การแต่งตั้งบุคคลให้เข้ามาทำหน้าที่ในคณะกรรมการหรืออนุกรรมการเป็นหน้าที่ของประธานวนแต่ละชุดว่าจะเลือกใคร หากเขาเห็นคนๆนั้นเหมาะสมเขาก็สามารถทำหน้าที่ได้ในหลายคณะ แต่ตนขอยืนยันว่าการรับเบี้ยประชุมนั้นจะต้องมีการประชุมเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่ไม่มีการประชุมแล้วมารับเงินอย่างแน่นอน ส่วนชื่อ ฐปณีย์ สุขสำราญ นั้นถ้าตนจำไม่ผิดน่าจะมีการศึกษาจบระดับปริญญาโท และคงจะมีการศึกษามากกว่านักการเมืองบางคนด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นเขาเป็นเพียงข้าราชการหรือประชาชน เป็นคนนอกที่เราต้องให้เกรียติไม่ใช่จะไปต่อว่าเขาต้อหน้าบุคคลอื่นๆ

เมื่อถามว่า จะมีการดำเนินคดีกับนายวิลาศในเรื่องนี้หรือไม่ นายวัฒนา กล่าวว่า เราคงต้องให้เกรียติกันและกัน เพราะตนกับนายวิลาศก็มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ซึ่งนายวิลาศอาจจะได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนมาก็เป็นได้ ก็ถ้ามีการแถลงข่าวระบุถึงตนอีก ตนก็คงต้องออกมาทำความเข้าใจกับประชาชนเท่านั้นเอง

นายวัฒนา กล่าวด้วยว่า นายวิลาศต้องเข้าใจเรื่องโครงสร้างของคณะกรรมการและอนุกรรมการที่มีความแตกต่างจากกรรมาธิการด้วย ว่าบุคคลที่มาเข้าร่วมประชุมก็ต้องมีหน้าที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายข้อมูล ฝ่ายเอกสาร ถ้าจะไปใช้แต่คนที่เป็นระดับอาจารย์เท่านั้นงานก็คงจะเดินหน้าไปไม่ได้







กำลังโหลดความคิดเห็น