“สุวิจักขณ์” เลขาธิการสภาฯ งานเข้า กมธ.ป.ป.ช.สอบลุแก่อำนาจ สั่งเช่าสำนักงานรัฐสภาจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งที่ประธานสภาสั่งห้าม ขณะเดียวกันยังพบแก้ระเบียบรัฐสภาให้อำนาจตัวเองตั้งกรรมการได้เบี้ยเลี้ยงคนละ 1,600 บาทโดยไม่จำกัดจำนวน ส่วนอนุกรรมการได้ 1,200 บาท ทำเด็กในถาคารวยอู้ฟู่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน กมธ.ได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติน้าที่ของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาฯ ในการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปีบประมาณ 2556 โดยเชิญ น.ส.สุนทร รักเมือง ผู้อำนวยการสำนักการคลังและงบประมาณ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเข้าชี้แจง
กรรมาธิการฯ ได้ซักถามในประเด็นที่มีการนำเสนอข่าวว่าสำนักงานเลขาธิการสภาฯ มีการใช้งบประมาณจัดซื้อจัดจ้างและปรับปรุงห้องประชุมกรรมาธิการในราคาที่ไม่เหมาะสม และมีราคาแพง เช่น การจัดซื้อนาฬิกาดิจิตอลแขวนผนัง, เครื่องทำน้ำร้อน-น้ำเย็น และงบประมาณที่สำนักงานใช้ เป็นค่าเช่าสำนักงานรัฐสภาจังหวัดอุบลราชธานี ในราคา 3 ล้านบาท
น.ส.สุนทรชี้แจงว่า โครงการจัดซื้อนาฬิกาดิจิตอล มีมูลค่าโครงการรวม 14,891,089 ล้านบาท และมีราคาต่อเรือนเพียง 4 หมื่นบาทเท่านั้น และมียอดการสั่งซื้อจำนวน 238 เรือน แบ่งเป็นเรือนที่ติดตั้งภายในอาคาร 234 เรือนและติดตั้งภายนอกอาคาร จำนวน 4 เรือน โดยแต่ละแบบนั้นราคาไม่เท่ากัน ส่วนงบประมาณที่ใช้นอกจากจะมีการจัดซื้อตัวนาฬิกาแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการติดตั้งระบบดาวเทียมและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้อง โดยโครงการจัดซื้อนาฬิกาดังกล่าว เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2547 หลังจากที่คณะกรรมาธิการกิจการสภาฯ ไปดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วพบว่านาฬิกาที่ใช้เที่ยงตรงกันทุกเรือน ซึ่งต่างจากรัฐสภาไทยที่ใช้ระบบใส่ถ่าน ที่มักพบว่าไม่มีความเที่ยงตรงและการดูแลไม่ทั่วถึง สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างนั้นเป็นไปตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2555 โดยไม่ผ่านการอีออคชั่น
“การจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆ ทางสำนักงานหรือหน่วยงานที่มีความต้องการจะเป็นผู้นำเสนอโครงการและส่งเรื่องมายังสำนักการคลังฯ เพื่ออนุมัติการใช้เงิน โดยการจัดซื้อจัดจ้างทุกโครงการเป็นไปตามระเบียบ และมีคณะกรรมการ เช่น ทีโออาร์, ตรวจรับงาน เป็นผู้กำกับ ไม่ได้มีเจตนาที่จะปกปิดเอกสาร แต่เอกสารที่กรรมาธิการฯ ขอมีจำนวนมาก ต้องใช้เวลาในการทำสำเนา โดยในสัปดาห์หน้าจะส่งเอกสารมาให้ท่านได้ตรวจสอบ ทั้งนี้ไม่ตั้งใจที่ขัดขวางการทำหน้าที่ และมีความบริสุทธิ์ใจที่จะให้ตรวจสอบ เพราะอีก 5 ปีก็จะเกษียณอายุราชการแล้วคงไม่ทำเรื่องแบบนั้น” น.ส.สุนทรชี้แจงภายหลังจากที่ถูกกรรมาธิการฯ ซักอย่างหนักเรื่องการจัดส่งเอกสาร
น.ส.สุนทรชี้แจงต่อว่า สำหรับการจัดซื้อตู้ทำน้ำร้อน-น้ำเย็น เท่าที่จำได้มีการจัดซื้อ 62 เครื่อง 1 ยี่ห้อ ผ่านตัวแทนบริษัท โดยมี 3 ระบบ คือ 1. ระบบทำเฉพาะน้ำเย็น 2. ระบบทำน้ำร้อนและน้ำเย็น และ 3. ระบบทำน้ำร้อน-น้ำเย็น และน้ำแข็ง ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ขอจัดส่งเป็นเอกสาร ทั้งนี้ในประเด็นดังกล่าว นายวิลาศ จันทรพิทักษ์ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่ปรึกษา กมธ.ป.ป.ช.แย้งว่า ที่ระบุว่ามีเพียง 1 ยี่ห้อนั้นไม่เป็นความจริง เพราะตรวจสอบแล้วมี 2 ยี่ห้อ ซึ่งไม่มีขายในประเทศไทย
จากนั้น น.ส.สุนทรชี้แจงต่อประเด็นการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ (แอร์) ในห้องเก็บขยะหลังสโมสรรัฐสภาว่า เท่าที่ทราบสำนักรักษาความปลอดภัย ที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องงานอาคารสถานที่นั้นเป็นเจ้าของโครงการและมีกระบวนการศึกษาและได้ผลรายงานว่าห้องขยะที่ติดแอร์จะไม่มีกลิ่น อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวตนไม่ค่อยรู้เรื่อง ขอให้ กมธ.ป.ป.ช.เชิญผู้เกี่ยวข้องมาตรวจสอบดีกว่า
น.ส.สุนทรชี้แจงถึงประเด็นการใช้เงิน 3 ล้านบาท เพื่อเช่าอาคารเพื่อใช้เป็นสำนักงานรัฐสภาจังหวัดอุบลราชธานี ว่าข้อเท็จจริงมีการจ่ายค่าเช่าไป 1 เดือน คิดเป็นเงิน 2.5 แสนบาท โดยมีการทำสัญญาเช่าเพียง 3 เดือนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 เท่านั้น ส่วนอีก 9 เดือนนั้นทางสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้ดำเนินการหาสถานที่อยู่ ส่วนเหตุผลที่ต้องไปเช่าอาคารอื่น แทนที่จะใช้พื้นที่ของหน่วยราชการที่ไม่ต้องเสียค่าเช่านั้น เนื่องจากทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ได้ทำหนังสือมาถึงสำนักงานก่อนวันเปิดงานรัฐสภาจังหวัดอย่างเป็นทางการว่าไม่ให้ใช้พื้นที่ ทำให้นายสุวิจักขณ์ต้องไปหาพื้นที่ใหม่ เพื่อให้ทันต่อการเปิดรัฐสภาจังหวัดทั้ง 5 แห่ง
โดยประเด็นนี้ ประธาน กมธ.ซักค้านว่า นายสมศักดิ์ระบุว่าไม่ให้มีการเช่าสถานที่ และให้ใช้พื้นที่ของหน่วยราชการ นอกจากนั้นแล้วในวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา นายสมศักดิ์กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมาธิการสามัญจำนวน 35 คณะ และสั่งให้ยกเลิกการเช่าดังกล่าว นอกจากนั้นแล้วยังระบุย้ำว่าการขยายรัฐสภาจังหวัดเพิ่มเติมให้ระงับ เพื่อให้มีการประเมินผลรัฐสภาจังหวัดที่นำร่องไปทั้ง 6 แห่งก่อน
ทางด้านนายสุพล ฟองงาม ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ฐานะที่ปรึกษา กมธ. กล่าวว่า เดิมทาง อบจ.อุบลราชธานีให้ใช้พื้นที่ได้ และเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการปรับปรุงแล้ว แต่การเจรจารอบสุดท้ายนายสุวิจักขณ์ไปดำเนินการเช่าอาคารซึ่งเดิมเป็นศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทย ทั้งนี้ ตนท้วงติงผ่านเจ้าหน้าที่ไปแล้ว แต่นายสุวิจักขณ์ยังดำเนินการ ส่วนประเด็นที่ระบุว่าเช่าอาคารเพียง 3 เดือนเชื่อว่าไม่เป็นความจริง ดังนั้นตนขอเอกสารเกี่ยวกับสัญญาเช่าด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรรมาธิการฯ ได้ซักถาม น.ส.สุนทรอย่างหนักเป็นเวลานานเกือบ 3 ชั่วโมง ก่อนที่เลิกประชุม นายวิลาศได้สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการเบิกเบี้ยประชุมของกรรมการที่แต่งตั้งโดยนายสุวิจักขณ์ โดย น.ส.สุนทรยืนยันว่า นายสุวิจักขณ์ได้แก้ไขระเบียบของรัฐสภาเพื่อให้มีอำนาจในการลงนามแต่งตั้งกรรมการชุดต่างๆ ขึ้นได้ด้วยตนเอง ผ่าน ก.ร. และขณะนี้ได้รับการอนุมัติแล้ว ทั้งนี้ ตนไม่ทราบว่าระเบียบที่มีผลบังคับใช้ มากว่า 3 เดือนมีการแต่งตั้งไปแล้วกี่คณะ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการที่ตั้งโดยนายสุวิจักขณ์นั้นจะได้รับเบี้ยประชุมต่อคนจำนวน 1,600 บาท และอนุกรรมการฯ จะได้เบี้ยประชุมต่อคนจำนวน 1,200 บาทโดยไม่จำกัดจำนวนต่อครั้งใน 1 วัน โดยเป็นไปตามระเบียบราชการ
ทั้งนี้ เมื่อกรรมาธิการฯ รับฟังประเด็นดังกล่าว ต่างอุทานด้วยความตกใจ พร้อมกับระบุว่า ส.ส.ที่เป็นกรรมาธิการฯ ถูกจำกัดให้เข้าประชุมได้เพียงวันละ 2 คณะ และได้รับเบี้ยประชุมคณะละ 800 บาท และรับได้วันละ 1 ครั้งต่อ 1 คณะเท่านั้น นอกจากนั้น ข้าราชการรัฐสภาที่ทำหน้าที่เจ้าหน้าที่ในกรรมาธิการฯ ที่ทำงานเกินเวลา ยังได้รับค่าล่วงเวลาเพียงชั่วโมงละ 50 บาทและ 1 วันได้รับไม่เกิน 200 บาทเท่านั้น นอกจากนั้นแล้วพบว่าข้าราชการที่ไปเป็นอนุกรรมการบางคน มีเงินซื้อรถยี่ห้อบีเอ็มดับเบิลยู รุ่นเอ็กซ์วันขับได้
ด้าน พล.ต.ท.วิโรจน์กล่าวขึ้นทันทีว่า “ทีเราขอตั้งอนุกรรมาธิการเพิ่ม 1 คณะ เขาไม่ให้ บอกว่าไม่มีห้องประชุมแล้ว แต่นี่กลับอนุญาตตั้งกรรมการให้คนของตนเองเข้าไป” ทางด้านนายธีระชาติ ปางวิรุฬรักษ์ ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แบบนี้เป็นการนำเงินภาษีของประชาชนเพื่อไปสร้างบารมีให้ลูกน้อง แบบนี้ไม่ลงทุน ต้องตรวจสอบให้ถึงที่สุด