xs
xsm
sm
md
lg

แรงกดดันโถมใส่ “ศาลรธน.” ปม “สภาทาสทักษิณ”ทุจริต

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


จุดสนใจการเมืองพุ่งกลับมาอยู่ที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ”อีกครั้ง เมื่อมติเสียงข้างมากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ5 ต่อ 2 เมื่อ 25กันยายน 2556 ให้รับคำร้องคดีเรื่อง “การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา”

ตามคำร้องของกลุ่มส.ว.นำโดยพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา กับพวก และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลาพรรคประชาธิปัตย์ กับพวก ในประเด็นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68

ว่านายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภากับพวกรวม 310 คนกระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่จากการร่วมกันจัดให้มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติร่างแก้ไขรธน.รายมาตราเรื่องที่มาของสว.เมื่อช่วงสองสัปดาห์ก่อนหน้านี้

ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเสียงข้างมาก5 ต่อ 2 เห็นว่า กรณีมีมูลเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปโดยวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง

“จึงมีคำสั่งให้รับคำร้องทั้ง2 ไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 2ส่วนคำร้องให้ศาลมีคำสั่งกำหนดให้คุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉินให้ผู้ถูกร้องทั้งหมดระงับการลงมติวาระ3 นั้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง”

จริงอยู่ว่าส่วนใหญ่แล้ว หากมีผู้ยื่นคำร้องได้ยื่นคำร้องถูกต้องตามขั้นตอน ก็เป็นเรื่องปกติที่ศาลรธน.จะรับคำร้องแต่กรณีนี้เมื่อศาลรธน.รับคำร้องไว้วินิจฉัย ย่อมทำให้ทั้ง “สมศักดิ์-นิคม”ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมในช่วงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวร่วม3 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ รวมถึงพวกบรรดาสมาชิกรัฐสภาที่ส่วนใหญ่ก็คือส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและส.ว.เลือกตั้งที่ได้ร่วมกันลงมติเห็นชอบกับร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวเรียงตามมาตราคงรู้สึกหนักใจแน่นอก

“นอนผวา”กับมติของศาลรธน.

ยิ่งล่าสุดพรรคฝ่ายค้านมีการนำ”คลิปภาพ”ในห้องประชุมร่วมรัฐสภาซึ่งเป็นภาพส.ส.เพื่อไทยกดบัตรแทนกันในห้องประชุมร่วมรัฐสภาระหว่างการพิจารณาร่างแก้ไขรธน. แล้วในขั้นตอนการวินิจฉัยคดีของศาลรธน.ฝ่ายผู้ร้องคือพรรคประชาธิปัตย์สามารถทำให้ศาลรธน.เห็นได้ว่าเป็นภาพจริง ไม่มีการตัดต่อ

มันก็ทำให้คำร้องเรื่องการแก้ไขรธน.เรื่องที่มาส.ว.ถึงตอนนี้ดูแล้ว สุ่มเสี่ยงไม่น้อยที่ร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวอย่างน้อยจะเดินเข้าสู่จุดเสี่ยง 2 ประเด็น

1.ต้องลุ้นว่าร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวขัดต่อรธน.มาตรา 68 ที่เป็นเรื่องการใช้สิทธิป้องกันไม่ให้มีการกระทำอันใดที่จะเป็นการล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยตามที่ได้มีการยื่นคำร้องหรือไม่

2.ร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวจะกลายเป็น “โมฆะ”ไปหรือไม่หากกระบวนการวินิจิฉัยคดีของศาลรธน. เห็นว่ามีการเสียบบัตรลงคะแนนเสียงแทนกันจริง

จังหวะเข้าทางตีนประชาธิปัตย์ก็ไม่รอช้า พยายามเร่งเครื่องหวังสกัดกระบวนการแก้ไขรธน.ดังกล่าวที่จะทำให้มีการฟื้นสภาผัวเมีย-สภาหมอนข้างขึ้นในสภาสูงโดยเร็วมีการส่งพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์เข้ายื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยว่า

การดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นโมฆะ ด้วยการอ้างว่าคลิปดังกล่าว เป็นภาพในห้องประชุมระหว่างพิจารณามาตรา 9ในการประชุมรัฐสภาวันที่ 10 ก.ย. เวลา 17.33 น. มาตรา 10 วันที่ 11 ก.ย. เวลา11.43 น. เมื่อมีการเสียบบัตรแทนกัน จึงถือว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 122 ว่าด้วยสมาชิกรัฐสภาต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต และมาตรา 126ที่ระบุว่า สมาชิกมีสิทธิ์ลงมติ 1 คนต่อ 1 เสียงและจะต้องมีสมาชิกเกินกึ่งหนึ่งในการลงมติ

อย่างไรก็ตามพรรคร่วมรัฐบาลอาจโล่งใจบ้างที่ศาลรธน.ไม่ได้มีการออกคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินระงับการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติร่างแก้ไขรธน.วาระ3 ในวันที่ 28 ก.ย.56 ตามที่ฝ่ายส.ว.และประชาธิปัตย์ร้องขอต่อศาลรธน.

ทว่าในการไม่ระงับการลงมติวาระ 3 ดังกล่าวของศาลรธน.แต่มันก็ทำให้เงื่อนไขการเมืองบางอย่างที่วิปรัฐบาล-พรรรคเพื่อไทย วางไว้ กำลังสะดุด

เพราะอะไรหรือ?

ก็เพราะว่าหากเป็นไปตามนี้คือ จากข่าวล่าสุดจนถึงช่วงเช้าวันที่ 26 ก.ย. 56 ฝ่ายวิปรัฐบาลยืนกรานจะไม่มีการยกเลิกหรือเลื่อนการลงมติวาระ 3 ที่กำหนดไว้เป็นวันที่28 ก.ย. 56 โดยวิปรัฐบาลยืนกรานจะเดินหน้าลุยโหวตวาระ3 แล้วเสียงโหวตวาระ 3 ฉลุยท่วมท้นไม่มีแตกแถว ไม่มีใครกลัวผลที่จะตามมา ขั้นตอนต่อไป

มันก็จะไปติดปัญหาตรงที่ว่าตามรธน.มาตรา291 ที่เป็นบทบัญญัติเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ใน 291(7)ให้นำบทบัญญัติในรธน.มาตรา150 มาบังคับใช้โดยอนุโลม ที่บัญญัติว่าหลังจากรัฐสภาผ่านร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวแล้ว นายกรัฐมนตรี ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างดังกล่าวจากรัฐสภา

“ทีมข่าวการเมือง”ยากจะคาดเดาได้ว่าถึงช่วงใกล้วันที่ 28 ก.ย.จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่วิปรัฐบาล-วิปวุฒิสภา สายนิคม ไวยรัชพานิช ยืนกรานลุยโหวตวาระ 3 วันที่ 28ก.ย.โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ศาลรธน.วินิจฉัยคำร้องให้เสร็จสิ้นก่อนขอไปตายเอาดาบหน้า หรือว่าจะฝ่อยอมถอยตั้งหลัก ให้ศาลรธน.วินิจฉัยให้สะเด็ดน้ำก่อน

แต่เมื่อข่าวมาล่าสุดว่าไม่มีถอยก็ต้องเอาตามนี้ นั่นก็หมายความว่า หลังรัฐสภาโหวตวาระ 3 ร่างแก้ไขรธน.ที่มาสว.เสร็จในวันที่ 28 ก.ย.ก็ต้องรอดูว่า สมศักดิ์ ประธานรัฐสภาจะส่งร่างแก้ไขรธน.ให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีภายในวันไหนแล้วก็ต้องนับไปอีกไม่เกิน 20วันที่ยิ่งลักษณ์ต้องทำตามรธน.มาตรา 150

ดูตามเกณฑ์แล้วหากไม่มีอะไรพลิกหลัง 28 ก.ย.ฝ่ายเพื่อไทยและพวกส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล-สว.เลือกตั้ง ก็จะต้องออกมากดดันศาลรัฐธรรมนูญอย่างหนักให้เร่งวินิจฉัยคดีให้เสร็จสิ้นโดยเร็วจะมาชักช้าแล้วใช้ขั้นตอนตามปกติเหมือนคำร้องอื่นๆ ไม่ได้

ถึงได้บอกไว้แต่ต้นว่า นับแต่นี้ศาลรธน.จะกลายเป็นจุดสนใจการเมืองขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

เพราะจะต้องเจอทั้งแรงกดดัน-แรงปะทะ-แรงเสียดสีสารพัดที่จะซัดเข้าใส่จากฝ่ายรัฐบาลและเพื่อไทยรวมถึงพวกฝั่งเดียวกันอย่างพรรคร่วมรัฐบาล-สว.เลือกตั้งและคนเสื้อแดงสามัคคีกันกดดันเข้าใส่ศาลรธน.อย่างหนักเพื่อให้เร่งวินิจฉัยคดีแก้ไขรธน.เรื่องที่มาสว.ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

จะมาทำเรื่องให้ช้าแบบคดีอื่นๆกลุ่มทักษิณไม่ยอมแน่อย่างเช่นคดีแก้ไขรธน.มาตรา 68ที่ป่านนี้ผ่านมาแล้วร่วม 5 เดือน ศาลรธน.ก็ยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมาเสียที

ดูแล้วกับคดีแก้ไขรธน.เรื่องที่มาส.ว.พวกเพื่อไทย-พรรคร่วมรัฐบาล-สว.-คนเสื้อแดงคงจะเปิดหน้าชนกับศาลรธน.เต็มพิกัดแน่นอน เพื่อให้วินิจฉัยคดีให้เสร็จโดยเร็วและต้องเป็นการเสร็จสิ้นโดยทุกอย่างต้องฉลุย ไม่มีการถูกล้มกระดานกลายเป็นโมฆะด้วย

ยิ่งเมื่อเวลานี้ศาลรธน.กำลังมีปมปัญหาในตัวเองจากกรณีเรื่องที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แม้จะไม่ได้ชี้มูลความผิดใดๆ ต่อ “บุญส่ง กุลบุปผา” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

กรณีแต่งตั้งบุตรของตนเองเป็นเลขานุการแล้วอนุญาตให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยไม่ได้มาปฏิบัติงานประจำที่ศาลรัฐธรรมนูญแต่ยังคงได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทน ตามปกติ ตลอด 1 ปี 6 เดือนที่ไปศึกษาแต่ก็เป็นความรับผิดชอบในทางแพ่งที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะเรียกให้นายบุญส่งชดใช้คืนต่อไป

อันเป็นเรื่องที่ทำให้ศาลรธน.เสียเครดิตความน่าเชื่อถือไม่ใช่น้อยที่สำคัญเลยคือเปิดช่องให้ศาลรธน.ถูกทวงถามเรื่องความสง่างาม-การเป็นองค์กรตรวจสอบคนอื่นไม่ให้ทำผิดรัฐธรรมนูญแต่คนของตัวเองกลับมีปัญหา

อย่างล่าสุดก็มีการออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้กันแล้วจากกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.)ที่สงสัยคงตระเตรียมกันมาอย่างดีกับฝ่ายเพื่อไทย ที่คงรู้ว่ายังไงเสียศาลรธน.ต้องรับคำร้องคดีนี้แน่นอน ก็เลยเริ่มเคลื่อนไหวกดดันให้บุญส่ง กุลบุปผาลาออก โดยอ้างว่าหากไม่ลาออก พวกเสื้อแดงกวป.ก็จะนัดรวมตัวตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.เป็นต้นไปที่หน้าสำนัก งานศาลรัฐธรรมนูญ

เพื่อกดดันให้ “บุญส่ง”แกะดำในศาลรธน.ลาออก

แน่นอนว่า พวกม็อบแดงกวป.คือพวกแดงไร้ราคาไม่มีราคาค่างวด แต่เมื่อช่วงจังหวะไทม์มิ่งมันได้ กวป.ออกมาขยายปมเรื่อง “บุญส่ง”เพื่อหวังดิสเครดิตศาลรธน. แล้วมาประจวบเหมาะกับช่วงนี้ ที่ศาลรธน.ทำเพื่อไทยและรัฐบาลอารมณ์เสียหลายเรื่อง เพราะไม่ใช่แค่เรื่องแก้ไขรธน.อย่างเดียว

ตอนนี้ศาลรธน.ก็รับคำร้องเรื่องพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 57 ไว้วินิจฉัยด้วยแล้ว จน“กิตติรัตน์ ณ ระนอง”รมว.คลังในฐานะประธานกมธ.งบฯ 57 ออกอาการเซ็งหลังรู้มติศาลรธน.ทว่าดูแล้ว โอกาสที่พ..ร.บ.งบฯ 57 จะสะดุดในศาลรธน.มีน้อยมาก

รัฐบาล-เพื่อไทย-พรรคร่วมรัฐบาล-ส.ว.เลือกตั้งคงกังวลกับเรื่องร่างแก้ไขรธน.ที่มาส.ว.มากกว่าแล้วที่ต้องกังวลต่อไปก็เรื่องพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทที่คงจ่อส่งเรื่องไปที่ศาลรธน.อีกไม่ช้า

การเตรียมการเพื่อกดดันศาลรธน.ในรูปแบบต่างๆนับจากนี้ทั้งวิธีการบนดิน-ใต้ดิน ดูแล้วอาจออกมาเป็นชุด!




กำลังโหลดความคิดเห็น