ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 2 รับคำร้อง “สมเจตน์-วิรัตน์” โวยแก้ รธน.ที่มาวุฒิสภาผิด ม.68 ส่อล้มล้างการปกครอง แต่ยกคำร้องเบรกโหวตวาระ 3 พร้อมรับคำร้อง 114 สมาชิกรัฐสภายื่นตีความงบปี 57 ปรับลดงบศาล-ป.ป.ช. ขัดกฎหมายหรือไม่ สั่งส่งหนังสือแจงใน 1 ตุลาฯ ให้แจ้งด้วยวาจา พุธหน้า ขณะเดียวกันเลื่อนพิจารณาคดีคุณสมบัติ “มาร์ค” รอศาลปค. ชี้คำสั่งกห.ที่ปลดออกชอบด้วยกม.หรือไม่
วันนี้ (25 ก.ย.) ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 2 สั่งรับคำร้องกรณีคำร้องของพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม กับพวก และคำร้องของนายวิรัตน์ กลัยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของส.ว. เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ไว้วินิจฉัย เนื่องจากเห็นว่ากรณีมีมูลว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญ ส่วนคำขอให้ศาลมีคำสั่งระงับกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน ให้ระงับการพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นศาลมีคำสั่งให้ยกคำขอ
ทั้งนี้นายชัช ชลวร ตุลาการเสียงข้างน้อย เห็นว่า ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ประสงค์ให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเท่านั้น ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลได้โดยตรง ส่วนอีกหนึ่งตุลาการเสียงข้างน้อย นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี เห็นว่า ตามคำร้องยังไม่มีมูลกรณีฝ่าฝืนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68
โดยกรณีดังกล่าว พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 17 ก.ย. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้ ส.ว.200 คนมาจากการเลือกตั้ง และให้ยุบ 6 พรรคร่วมรัฐบาลที่ ส.ส.ในสังกัดร่วมลงชื่อเห็นชอบกับการแก้ไข และสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารของ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเป็นเวลา 5 ปี พร้อมขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวฉุกเฉินสั่งประธานรัฐสภา และเลขาธิการรัฐสภาให้ระงับการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ขณะที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา ในฐานะทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้ายื่นคำร้องในประเด็นเดียวกัน แต่ไม่ได้ขอให้สั่งยุบ 6 พรรค
นอกจากนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำสั่งรับคำร้องที่ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กับคณะรวม 50 คน และคำร้องของนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กับคณะรวม 62 คน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1 ) ว่าร่างพ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปีพ.ศ. 2557 มาตรา 27 ในส่วนของสำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานศาลปกครอง มาตรา 28 ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขัดหรือแย้ง หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้อง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรคแปด วรรคเก้า หรือไม่
จากกรณีหน่วยงานทั้ง 3 ได้ขอจัดสรรงบประมาณประจำปีไปยังคณะรัฐมนตรี แต่คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาปรับลด และในชั้นแปรญัตติ ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีสภาผู้แทนราษฏร หน่วยงานทั้ง 3 ก็ได้ขอเสนอเพิ่มงบประมาณ เพื่อให้เพียงพอต่อการบริหารงาน แต่คณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้เชิญหน่วยงานทั้ง 3 มาหารือ และใช้ดุลยพินิจฝ่ายเดียวไม่จัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานดังกล่าว โดยให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแจ้งไปยัง ประธานกรรมาธิการฯ สำนักงบประมาณ สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานป.ป.ช.ทำคำชี้แจงเป็นหนังสือยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 1 ต.ค. และให้ประธานกรรมาธิการฯ หรือผู้แทน รวมถึงผู้แทนหน่วยงานทั้ง 4 องค์กรมาชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 ต.ค. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
กรณีดังกล่าว นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้รวบรวมรายชื่อสมาชิกรัฐสภา รวม 114 คน ยื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 5 ก.ย.เพื่อขอให้ส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ กรณีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 มาตรา 27 ในส่วนของสำนักงานศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลปกครอง และมาตรา 28 ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ว่าเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรค 8 และ 9 ในกรณีที่รัฐไม่ได้จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอกับการบริหารงานโดยอิสระของหน่วยงานของศาล และหน่วยงานขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ คือ สำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานศาลปกครอง และสำนักงาน ป.ป.ช.
ส่วนกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของส.ส.จำนวน 134 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ว่า สมาชิกภาพการเป็นส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 (5) ประกอบมาตรา 102 (6) หรือไม่ เนื่องจากกระทรวงกะลาโหมมีคำสั่งลงวันที่ 8 พ.ย. 2555 สั่งปลด ร.ต.อภิสิทธิ์ ออกจากราชการ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงมีคำสั่งให้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไป เพื่อรอคำชี้ขาดตัดสินของศาลอื่นในประเด็นเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งกระทรวงกลาโหม
สำหรับประเด็นเดียวกับคำสั่งกระทรวงกลาโหมดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ได้ยื่นฟ้อง รมว.กลาโหม (พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ) ขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 1163/2555 ลงวันที่ 8 พ.ย.55 ที่ปลดร.ต.อภิสิทธิ์ ออกจากการเป็นนายทหารสัญญาบัตร ตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. 2531 เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ เห็นว่าเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย