xs
xsm
sm
md
lg

เงินกู้ 2 ล้านล้านผ่านสภาแน่ แต่ด่านข้างนอกนี่สิสุดหินถึงขั้น “ปู” ไขก๊อก !

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

แน่นอนว่าร่างพระราชบัญญัติที่เรียกกันแบบชาวบ้านว่าร่างกฎหมายเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่กำลังพิจารณากันในสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 ต้องผ่านสภาแบบสะดวก ต่อให้ฝ่ายค้านยกเหตุผล หรือมีวาทะศิลป์โน้มน้าวสมาชิกในสภาได้ดีแค่ไหน รวมไปถึงหากฝ่ายรัฐบาลเปิดโอกาสให้อภิปรายได้ต่อเนื่องกันจนหายอยากสักหนึ่งเดือนเต็ม สุดท้ายเมื่อถึงคราวลงมติให้แถมยกเท้าเข้าไปด้วยคนละสองเท้าก็ยังแพ้ฝ่ายรัฐบาลอยู่ดี ไม่มีความหมายอะไร ก็เพราะด้วยวิธีการที่ทั้งสภา คือฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารคือรัฐบาลเป็นพวกเดียวกัน และหากพูดกันแบบตรงไปตรงมาให้เข้าใจง่ายก็คือ สภาเป็นลูกน้องของรัฐบาล ตัวประธานรัฐสภาในปัจจุบันก็เป็นลูกน้อง ไม่ต่างจาก “ขี้ข้า” คนที่เป็นนายกรัฐมนตรี นั่นแหละ สามารถชี้นิ้วสั่งได้ทุกเรื่อง

ดังนั้นหากมองตามรูปการณ์อย่างที่เห็นถือว่าขั้นตอนที่พิจารณากันอยู่ในสภาที่กำลังอภิปรายกันในวาระที่ 2 ตอนนี้ ต่อให้พูดการปากเปียกปากแฉะแค่ไหน ในขั้นลงมติวาระ 3 ก็ไม่มีปัญหาผ่านฉลุยอยู่แล้วพี่น้องเอ้ย ถ้าไม่ผ่านนี่สิเป็นเรื่องแปลก

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องพิจารณากันก็คือ ขั้นตอน “นอกสภา” หลังจากผ่านสภาวาระ 2-3 ไปแล้ว เนื่องจากหลังจากนี้ไปมีคน “จองกฐิน” รอยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าร่างพระราชบัญญัติกู้เงินฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนญหรือไม่ ซึ่งกรณีหลังนี่แหละที่ฝ่ายรัฐบาลตั้งแต่หัวยันหางกลัวจนขี้ขึ้นสมองอยู่ในเวลานี้นั่นแหละ

ที่ผ่านมาสิ่งที่ฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยพยายามยิบยกขึ้นอ้างตอบโต้ก็คือหากบอกว่ากฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทขัดรัฐธรรมนูญแล้ว ร่างพระราชกำหนดกู้เงินจำนวน 4 แสนล้านบาทในโครงการไทยแข้มแข็งในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งตอนนั้นก่อนที่สภาจะอนุมัติฝ่ายค้าน(พรรคเพื่อไทย) ก็ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในประเด็นว่าขัดมาตรา 184 ในวาระวิกฤติเร่งด่วนหรือเปล่า แต่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ออกมาว่าไม่ขัด สามารถทำได้ อย่างไรก็ดีต่อมารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็กลัวว่าจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 169 เรื่อง “การจ่ายเงินแผ่นดินจะทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวกับการโอนงบประมาณฯ” จึงส่งให้กฤษฎีกาตีความ ก็ได้รับความเห็นกลับมาในทำนองว่าไม่ขัด โดยเฉพาะในเรื่องที่อ้างว่า “ไม่ใช่เงินแผ่นดิน” และกรณีหลังในเรื่อง “ไม่ใช่เงินแผ่นดิน” นี่แหละที่ทำให้รัฐบาลชุดปัจจุบันนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานไว้โต้แย้งทั้งไว้ตอกหน้าฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์ รวมไปถึงศาลรัฐธรรมนูญในภาย หากมีการตีความที่เป็นลบกับตัวเอง

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการเผื่อเหลือเผื่อขาดรัฐบาลชุดนี้ก็นำเอาร่างพระราชบัญญัติการเงินการคลังภาครัฐที่เคยดองเอาไว้มาตั้งแต่ปี 2552 ในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์เพราะเป็นร่างกฎหมายที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับ “เงินแผ่นดิน” ที่มีความหมายกว้างขวาง ซึ่งตอนนั้นเมื่อกฤษฎีกาให้ความเห็นว่าเงินกู้ไทยเข้มแข็งไม่ใช่เงินแผ่นดินจึงต้องดองยื้อเอาไว้ก่อน และล่าสุดเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมารัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็นำกลับมาปัดฝุ่นเสนอใหม่ แต่มีการตัดถ้อยคำสำคัญหรือตัดความหมายของคำนิยามเกี่ยวกับเงินแผ่นดินทิ้งใหม่ และแก้ไขใหม่ในความหมายให้ใช้เงินนอกงบประมาณได้สะดวกโดยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ

ความหมายก็คือเป็นการออกกฎหมายเพื่อ “ฟอกความผิด” การเสนอร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเอาไว้ล่วงหน้า เนื่องจากกลัวว่าจะเกิดผลเสียหายใหญ่หลวงตามมาหากมีคนยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในประเด็นใหม่เพิ่มเติมนั่นคือ เรื่อง “เงินแผ่นดิน” ที่ต้องใช้จ่ายตามวิธีกฎหมายงบประมาณที่ต้องมีระเบียบ การตรวจสอบและชี้แจงอย่างเข้มงวด

ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหากพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ปี 50) ที่ต้องการให้มีการควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณ และเงินแผ่นดินทุกบาททุกสตางค์ของรัฐบาลและนักการเมืองเป็นไปอย่างเข้มงวด ที่สำคัญต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายวิธีการใช้จ่ายงบประมาณอย่างเคร่งครัด ก็ย่อมเข้าใจได้ทันทีว่า ร่างกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลฉบับนี้ถือว่าเป็นการ “ใช้เงินนอกงบประมาณ” โดยใช้วิธีพิเศษ มีเจตนาหลีกเลี่ยงการตรวจสอบตามกลไกที่มีอยู่

แน่นอนว่านาทีนี้ หรือว่าตอนไหนก็ตามประเด็นก็คือไม่มีใครต้องการขัดขวางการพัฒนาประเทศ แต่สิ่งที่มีคนคัดค้านขัดขวางอยู่ในเวลานี้ก็คือไม่ต้องการให้มีการ “ทุจริต” มีการใช้เงินจำนวนมหาศาลที่เป็นภาระหนี้ของคนทั้งประเทศจำนวนมหาศาล เพราะหากรวมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจากจำนวน 2 ล้านล้านจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 5 ล้านล้านบาท ใช้หนี้ต่อเนื่องกันไปถึงชาติหน้านั่นแหละ และที่อ้างว่าต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ จำเป็นต้องใช้งบประมาณก้อนโตรวดเดียว ไม่อาจตั้งงบในแต่ละปีงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณได้นั้นก็ไม่จริง เพราะมีการยืนยันอย่างชัดเจนจากบรรดากูรูผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายแล้วทำได้ และที่ผ่านมารัฐบาลก็ยอมรับเองว่าเงินที่ยังไม่ถึงเวลาต้องกู้ หรือไม่ถึงเวลาต้องใช้ก็ยังไม่ต้องกู้ แต่ตั้งเป็นกรอบวงเงินเอาไว้เฉยๆเท่านั้น นั่นก็แสดงว่าสามารถตั้งเป็นงบผูกพันโครงการในแต่ละปีต่อเนื่องกันไปได้ แต่ปัญหาก็คือหากมีการใช้วิธี “ในงบประมาณ” มันไม่ทันใจ ต้องถูกตรวจสอบเข้มงวดตามระเบียบ จึงต้องหาทางแหกกฎออกมา ซึ่งวิธีการแบบนี้แหละมันทุจริต “มีเงินทอน” ได้ง่ายกว่า เพราะขนาดใช้วิธีการตามกฎหมายงบประมาณยังมีการทุจริตกันอย่างโจ๋งครึ่ม แล้วอย่างนี้จะไปเหลืออะไร

หากพิจารณาตามขั้นตอนแบบมองข้ามช็อตกันแบบที่ว่าหลังจากผ่านสภาแบบฉลุยแล้วต้องมาลุ้นที่ “ด่านหิน” ศาลรัฐธรรมนูญที่มีคนเตรียมยื่นเรื่องมาให้ตีความแน่นอน และเชื่อว่าคราวนี้จะมีการตีความกันอย่างครอบคลุมในทุกมิติโดยเฉพาะเรื่อง “เงินแผ่นดิน” รวมไปถึง “เจตนารมณ์” ของรัฐธรรมนูญ อีกด้วยซึ่งทั้งสองกรณีมันทำท่าจะดิ้นให้หลุดยากเสียด้วย แล้วเมื่อถามว่าดิ้นไม่หลุดขัดรัฐธรรมนูญ รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะต้องรับผิดชอบอย่างไร ก็ไม่อยากจะนึกภาพสยดสยอง เพราะนั่นคือไม่ลาออกก็ต้องยุบสภาเท่านั้น!!
กำลังโหลดความคิดเห็น