xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” ฉะรัฐกู้ 2 ล้านล้านก่อหนี้ 50 ปี เลี่ยงตรวจสอบ “ชูวิทย์” แฉคลิปรางรถไฟคุณภาพต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถกร่างกู้เงิน 2 ล้านล้านสุดชืด ปชป.ชำแหละขัดรัฐธรรมนูญ “อภิสิทธิ์” หวั่นโยกย้ายโครงการตามอำเภอใจ ยันชัดทำลายระบอบตรวจสอบ แต่มาแปลกกลับอ้างออก พ.ร.ก.ไม่เป็นไร “กิตติรัตน์” อ้างแยกนอกงบแผ่นดินเพื่อความต่อเนื่อง “ชูวิทย์” อัด “ร.ฟ.ท.” กลางสภา ซื้อเหล็กคุณภาพต่ำทำรถไฟตกรางบ่อย

วันนี้ (19 ก.ย.) ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท หลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ แล้วเสร็จ โดย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมาธิการ นำเสนอรายงานว่า ทางกรรมาธิการได้มีการแก้ไขบทบัญญัติของร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ จำนวน 3 มาตรา และมีผู้ที่สงวนคำแปรญัตติจำนวน 143 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศการประชุมตลอดวันเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีความขัดแย้ง และการประท้วงแต่อย่างใด โดยก่อนการเข้าสู่การพิจารณา ส.ส.ฝ่ายค้านได้หารือขอให้กรรมาธิการนำรายละเอียดของโครงการที่จะใช้จ่ายตามร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ มาให้ที่ประชุมพิจารณาเพิ่มเติม เพราะรายละเอียดตามเอกสารแนบนั้นมีรายละเอียดที่ไม่เพียงพอ ทั้งนี้ทราบว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดทำเอกสารรายละเอียดที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดไว้ให้แล้ว โดย นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกฯ และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ฐานะรองประธานกรรมาธิการ ระบุว่า เอกสารดังกล่าวมีจำนวนมาก แต่จะรวบรวมและมามอบให้กับที่ประชุม

ส่วนประเด็นที่สมาชิกได้มีการอภิปราย อาทิ ส่วนของคำปรารภที่ระบุว่า “โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ มีมูลค่ารวมกันไม่เกินสองล้านล้านบาท”

นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายขอปรับลดวงเงินเงินกู้เหลือ 4 แสนล้านบาท ว่า เนื่องจากในชั้นกรรมาธิการที่ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการมาชี้แจงแล้วพบว่าโครงการที่ผ่านการประเมินความคุ้มค่า และมีความพร้อมเข้าสู่กระบวนการรับฟังความเห็น ประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีมูลค่าเพียง 4 แสนล้านบาทเท่านั้น ส่วนโครงการที่เหลือ และมีมูลค่ารวม 1.6 ล้านล้านบาท นั้น สามารถดำเนินการกู้เงินและเบิกจ่ายได้ตามกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณได้ โดยในปีงบประมาณ 2557 ที่รัฐบาลตั้งงบประมาณแบบขาดดุล ดังนั้นตามสูตรจึงจะต้องกู้เงินเพื่อมาชดเชยงบขาดดุล โดยมีกรอบวงเงินกู้ได้ถึง 5.5แสนล้านบาท และในปี 2557 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุถึงแผนการกู้เงินตามร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทว่าจะมีระยะเวลาการกู้ถึง 7 ปี และในปีแรกของการกู้เงินจะใช้วงเงินกู้ 1.3 แสนล้านบาท ดังนั้นเมื่อคำนวณจากกรอบวงเงินกู้ของปี 2557 จึงถือว่าไม่เกินเพดานกู้เงินของรัฐบาล

สำหรับปี 2558 กระทรวงการคลังได้ตั้งเป้าลดการขาดดุลงบประมาณลงเหลือ 1.5 แสนล้านบาท ทำให้รัฐบาลมีเพดานกู้เงินถึง 3.9 แสนล้านบาท และเมื่อพิจารณาแผนการกู้เงินตามโครงการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จะมีแผนกู้เงิน จำนวน 2.4 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงมีกรอบกู้เงินเหลืออยู่อีก 6 แสนล้านบาท ทั้งนี้รัฐบาลระบุว่าจะมีการกู้เงินตามร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มากที่สุดในปี 2560 รวมวงเงินที่จะใช้ 4 แสนล้านบาท ซึ่งปีดังกล่าวเชื่อว่าเพดานเงินกู้ของรัฐบาลจะอยู่ที่ 7 แสนล้านบาท ดังนั้นเมื่อพิจารณาตัวเลขดังกล่าวแล้ว ทำให้เห็นชัดเจนว่าไม่มีปีไหนที่รัฐบาลจะมีปัญหาในการกู้เงินนอกงบประมาณเพื่อจะใช้ในโครงการเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ

“ผมขอถาม ว่า หากไม่มีกฎหมายฉบับนี้ รัฐบาลจะสามารถเดินหน้าโครงการในร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทได้หรือไม่ หากตอบไม่ได้ ผมจะขอใช้สิทธิ์กรรมาธิการเสียงข้างน้อยตอบแทน เพราะผมมีช่องทางที่ชัดเจนว่าโครงการทุกโครงการเดินหน้าต่อไปได้แม้ไม่มีร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท” นายกรณ์ อภิปราย

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เห็นด้วยให้ปรับลดมากู้ไม่เกินสองแสนล้านบาท เพราะกฎหมายเปิดโอกาสให้จัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ และอาจเกิดปัญหาตามมา อย่างเช่นโครงการบริหารจัดการน้ำตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท

ด้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมาธิการ ชี้แจงว่าเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ.แทนที่จะเป็นการออกตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ทั้งนี้ยืนยันว่าการออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน และนำเสนอผ่านสภา ถือเป็นการปฏิบัติในระบบ อย่างไรก็ตามการเสนอร่างกฎหมาย ไม่ได้มีเจตนาเพื่อเลี่ยงการตรวจสอบ การควรคุม หรือ ความโปร่งใส ทั้งนี้รัฐบาลก่อนหน้านี้เคยมีการออกกฎหมายเพื่อใช้เงินลักษณะเดียวกันเนื่องจากวงเงินที่ใช้จ่ายเกินกว่ากรอบวงเงินงบประมาณประจำ

นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกฯ และ รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า วิธีของนายกรณ์ เสนอมาสามารถกระทำได้ แต่อาจส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องของโครงการเพราะงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตลอด 7 ปี หากเกิดปัญหาในการประเมินรายรายได้ในอนาคต เพราะปัญหาเศรษฐกิจโครงการใหญ่จะได้รับผลกระทบแน่นอน อีกทั้งไม่สามารถตั้งงบประมาณร่ายจ่ายเพิ่มเติมหรืองบกลางปีเข้ามาได้เพราะติดเพดานงบประมาณตามกฎหมายอีกด้วย

ส่วนมาตรา 1 ชื่อ “พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงการพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.. ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง เช่น นายสาทิตย์ ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ แปรญัตติ เปลี่ยนชื่อ เป็น พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการ “ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยไม่มีระเบียบวินัยทางการเงินและการคลัง” นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ให้ใช้ชื่อกฎหมายว่า “พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงการพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ “โดยไม่คำนึงถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พ.ศ.” แต่เสียงส่วนใหญ่ก็ยังคงให้ความเห็นชอบตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก

ส่วนมาตรา 3 ความหมายของคำนิยามที่ใช้ในกฎหมาย อาทิ คำว่า “ยุทธศาสตร์” “แผนงาน” หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเจ้าของโครงการ ครอบคลุมถึงอะไรบ้าง ฝ่ายค้านได้ทวงถามรายละเอียดเอกสารประกอบในโครงการฉบับสมบูรณ์ที่ขาดไป 4 หน่วยงาน ได้แก่ รฟม. ร.ฟ.ท. กรมศุลกากร กรมขนส่งทางบก

ส่วนสมาชิกที่สงวนคำแปรญัตติส่วนใหญ่เป็นพรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในประเด็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 ชัดเจนและรุนแรง ขณะที่วินัยการเงินการคลังของรัฐบาลนี้อาจส่งผลกระทบต่อระบบการเงินของประเทศในอนาคต และมีเจตนาที่จะเลี่ยงการตรวจสอบ

นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอพนันได้ว่าไม่มีประเทศทั่วโลกที่ยอมให้ออกกฎหมายเช่นนี้ หากกฎหมายผ่านก็ถือเป็นประเทศแรกในโลกที่ทำ และท้าทายเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หมวด 8 อีกทั้งยังอนุมัติโครงการ ทั้งที่ยังไม่มีความพร้อมถึง 70 เปอร์เซ็นต์ หากเป็นเงินของรัฐบาลเองจะยอมให้กู้หรือไม่ ซึ่งเป็นการสร้างบรรทัดฐานว่าโครงการไม่พร้อมแต่ก็สามารถทำได้ และทำให้เกิดการทุจริตได้ง่ายที่สุด รวมทั้งบางโครงการไม่ต้องกู้เพราะสามารถให้เอกชนเข้ามาลงทุนได้ซึ่งอาจจะราคาถูกและเร็วกว่ารัฐบาลทำ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน อภิปรายว่า เราเห็นด้วยโครงการแต่ก็มีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยเช่นความคุ้มค่าและความเหมาะสมของโครงการ ตนโต้แย้งว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพราะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และการปกครองประชาธิปไตย นำมาซึ่งปัญหาบริหารจัดการและความไม่โปร่งใส อีกทั้งยังพยายามหลีกเลี่ยงหมวด 8 ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องมีรายละเอียดของการใช้จ่ายงบประมาณอย่างชัดเจน เพราะหากอนุญาตให้ใช้เงินมากขนาดนี้ต่อไปรัฐบาลไม่ต้องเสนองบลงทุน และใช้วิธีการออก พ.ร.บ.เป็นงบลงทุนแทน ดังนั้น ระบบการตรวจสอบในสภาจะมีไว้ทำไม ขณะรายละเอียดของโครงการก็ไม่ได้มีการนำเสนอเป็นกฎหมาย จึงสามารถดำเนินการได้อิสระและโครงการใหม่ๆ สามารถโผล่ได้ตลอด เพียงแค่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เท่านั้น รัฐบาลไม่เอาโครงการไปอยู่ในกฎหมายเพราต้องการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ที่นำเงินภาษีของประชาชนในปัจจุบันและอนาคตที่อาจเป็นหนี้อีก 50 ปี ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ผมจึงแปรญัตติให้โครงการต่างๆ ในเอกสารแนบท้ายต้องออกเป็นกฎหมาย เพื่อโอกาสให้รัฐบาล เน้นการตรวจสอบ และช่วยลดปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วย นอกจากนี้ นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อยังฝากตนอภิปรายในส่วนที่ได้แปรญัตติ ว่าให้องค์กรภาคเอกชนในการตรวจสอบทุจริตสามารถเข้ามาตรวจสอบความโปร่งใสของโครงการได้

“ในอดีตเคยรัฐบาลเคยกู้หลายครั้ง แต่ทำบนเงื่อนไขพิเศษ เช่น พ.รก.ในกรณีฉุกเฉิน จำเป็น เร่งด่วน เพราะไม่สามารถทำตามงบประมาณปกติ แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่สามารถใช้ระบบงบประมาณปกติได้ โดยนายกรัฐมนตรี บอกว่าหากเราไม่ทำอย่างนี้จะทำโครงการขนาดใหญ่ไม่ได้ เพราะขาดความต่อเนื่อง ข้ออ้างนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะเมื่อดูจากรถไฟฟ้า และสนามบินที่มีอยู่ในประเทศ ทำไมถึงทำได้ เพราะสุดท้ายอยู่ที่การตัดสินใจของรัฐบาล อีกทั้งหากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ซึ่งโครงการไหนยังไม่ได้ทำ รัฐบาลใหม่ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้หากเห็นว่าไม่สำคัญ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย กล่าวอภิปรายร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาทว่า ตนดีใจที่รัฐบาลวางแผนจะลงทุนกับระบบรางบ้าง ที่ผ่านมาลงทุนแต่กับถนนซ่อมแล้วซ่อมอีก เงิน 2 ล้านล้านไม่ใช่น้อยๆ ขนาดจะไปกู้เงินจากธนาคารเขายังต้องไปตรวจสอบโครงการใช้เงิน อย่างสภาพรถไฟฟ้าของเราตอนนี้มีแต่ตกรางรายวัน สาเหตุหลักที่รถไฟตกรางบ่อย เนื่องจาก ร.ฟ.ท.ไปสั่งซื้อเหล็กคุณภาพต่ำจากประเทศจีน ที่เป็นโรงงานขนาดเล็ก ซึ่งผลิตแต่เหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างเท่านั้น ไม่ใช่เหล็กทำรางรถไฟ

นายชูวิทย์ กล่าวต่อว่า ผู้รับเหมาได้แก่บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) มีความสะเพร่า โดยมีการสั่งซื้อเหล็กจากประเทศจีนของบริษัท อันซาน ซึ่งไม่ได้มาตรฐานและเป็นบริษัทที่เพิ่งเปิดในปี 2552 เป็นบริษัทขนาดเล็ก ซึ่งไทยซื้อเหล็กชนิด BS100A เป็นประเทศแรก ขณะที่กำหนดมาตรฐานระบุว่าสามารถซื้อเหล็กในราคาตันละ 45,000 บาท แต่กลับซื้อในราคาตันละ 2 หมื่นกว่าบาท อีกทั้งผู้รับเหมายังใช้หินในบริเวณพื้นที่การรถไฟฯมาก่อสร้างรางรถไฟ นอกจากนี้ ยังได้นำหินเก่ามาโม่ เพื่อเป็นหินใหม่ขายให้กับการรถไฟฯด้วย และมาเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจาก ร.ฟ.ท.แม้จะมีการลดราคาให้ก็ตาม เหมือนอัฐยายซื้อขนมยาย อีกสาเหตุที่รถไฟตกรางคือ ผู้รับเหมายังซ่อมแซมทางรถไฟไม่แล้วเสร็จและกลับเปิดใช้บริการ

นายชูวิทย์ ยังกล่าวต่อว่า ผู้รับเหมาก่อสร้างทางรถไฟสายเหนือ กม.249 ลำนารายณ์-บัวใหญ่ ต.ลำสนธิ อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี มีการขุดพื้นที่ข้างทางรถไฟเพื่อนำเอาหินบริเวณนั้นมาใช้ในการก่อสร้าง และอ้างว่าจะลดราคาให้จาก 1,000 บาทต่อคิว เป็น 920 บาทต่อคิว ประกอบกับมีการใช้หินจากรางรถไฟเก่ามาโม่ใหม่ และใช้ก่อสร้างในรางรถไฟสายใหม่ กลายเป็นการนำหินจากพื้นที่ของการรถไฟ มาขายให้กับการรถไฟเอง

ทั้งนี้นายชูวิทย์ยังได้เปิดเผยเอกสารสัญญาจัดซื้อของผู้รับเหมาและบริษัทจากจีน อีกทั้งยังได้เปิดคลิปวิดีโอห้องแล็บของบริษัท อันซาน ที่มีขนาดเล็กไม่ได้มาตรฐาน ขณะที่นายชัชชาติ กล่าวว่า จะมอบหมายให้ผู้ว่าการการรถไฟฯตรวจสอบ รัฐบาลยินดีรับข้อมูลต่างๆ เพื่อปรับปรุงการรถไฟฯ

ด้าน นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ชี้แจงว่า ตนจะนำข้อมูลที่นายชูวิทย์นำมาเปิดเผยไปตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง





















กำลังโหลดความคิดเห็น