ผ่าประเด็นร้อน
ถ้าบอกว่าการชุมนุมชาวสวนยางพารา และชาวสวนปาล์มน้ำมัน ที่แยกควนหนองหงษ์ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้งการชุมนุมของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มในจังหวัดอื่นๆในภาคใต้เป็น “ม็อบการเมือง” ก็ต้องบอกว่า ม็อบที่ออกมาประท้วงให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องความเดือดร้อนจากราคาผลผลิตตกต่ำ หรือความเดือดร้อนอื่นๆ เช่น ม็อบชาวนา ที่กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลขยายเวลารับจำนำข้าวรอบ 2 ในฤดูกาลผลิตปี 55/56 ออกไปอีกอย่างน้อย 15 วัน จากเดิมที่หมดเวลาไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา รับรองว่านี่ก็ม็อบการเมือง
นี่ยังไม่ต้องพูดถึงม็อบเสื้อแดงของ “โกตี๋” อะไรนั่น ที่แบกประชาธิปไตยไปตามรังควานฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล นี่ก็ใช่การเมืองแดงแจ๋ ยังดีที่ผ่านมาคนในรัฐบาลยังไม่เผลอหลุดปากออกมาว่าม็อบยางที่ออกมาประท้วงดังกล่าวเป็น “ม็อบคนใต้” เพราะนั่นเท่ากับการแบ่งแยกประชาชน แบ่งแยกภาคกันอย่างชัดเจน
แน่นอนว่าถ้าเป็นความเข้าใจพื้นๆ อันดับแรกก็คือ สาเหตุที่เกษตรกรทั้งหลายต้องออกมาชุมนุมก็ย่อมมาจากนโยบายและความผิดพลาดของรัฐบาล จากปัญหาในการบริหารของรัฐบาล ซึ่งนั่นก็คือการเมือง เหมือนกับตอนนี้ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกำลังล้มเหลวในเรื่องการแก้ปัญหา “ของแพง” ไม่ได้ หรือในทางตรงกันข้ามเป็นรัฐบาลที่ทำให้ข้าวของแพง เป็นความจริงที่ประจักษ์กับชาวบ้านทั่วไป มีแต่คนในรัฐบาลเท่านั้นที่พยายามเบี่ยงเบนไปว่า “คิดไปเอง” เพื่อที่จะปกปิดวามล้มเหลวของตัวเอง นี่ก็การเมืองเหมือนกัน
ดังนั้น ถ้าให้สรุปรวมๆ ทุกม็อบถือว่าเป็นเรื่องการเมืองทั้งหมด แต่ความหมายคำว่า “การเมือง” ที่รัฐบาลกำลังตอกย้ำใส่หน้าม็อบชาวสวนยางและปาล์มที่แยกควนหนองหงษ์ รวมไปถึงในพืื้นที่อื่นๆ ทางภาคใต้ก่อนหน้านี้ มีเจตนาสื่อให้เห็นว่า “เป็นม็อบการเมืองคนละพวก” เป็นการ “แบ่งแยกประชาชน” เป็นพวกเขา พวกเรา รวมไปถึงใช้วิธีการใต้ดินเข้าไปบั่นทอนยุแยงให้เกิดความแตกแยกกันเอง ระแวงกันเอง เพื่อหวังว่าจะทำลายความชอบธรรม และให้อ่อนกำลัง ง่ายต่อการเข้า “จัดการ” ที่ผ่านมาก็ใช่้วิธีการแบบนี้มาตลอด เพียงแต่ว่าสำหรับที่แยกควนหนองหงส์ยังสลายไม่สำเร็จ แม้ว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐจะพยายามมาแล้วหลายครั้ง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงมาจนถึง รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองเลขาธิการนายกฯ พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง ย้ำอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นม็อบการเมือง มีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง ซึ่งความหมายแม้จะไม่ระบุชื่อหรือพรรคตรงๆ ก็ต้องรู้ว่ามีเจตนาหมายถึง ส.ส.ของพรรคประชาธอปัตย์ และพรรคประชาธิปัตย์อยู่เบื้องหลังนั่นแหละ และนาทีนี้อาจจะใช่หรือไม่ใช่ไม่รู้ เพียงแต่รู้ว่าในภาคใต้เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปตย์ และยังเชื่อว่าคนที่ควนหนองหงส์จำนวนมากก็เลือกพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคเพื่อไทยด้วย
แม้ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความจริงบิดเบือนไม่ได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่ประเด็นหลักที่นำมาเป็นเหตุผลชี้หน้าว่านี่คือม็อบการเมือง มีฝ่ายตรงข้ามอยู่เบื้องหลัง สำคัญอยู่ตรงที่ว่ารัฐบาลมีความจริงใจสำหรับการเจรจาช่วยเหลือพวกเขามาตั้งแต่ต้นหรือไม่ เพราะเท่าที่ได้ยินมาตลอดก็คือพวกนี้ไม่ใช่ชาวสวนยางตัวจริง เป็นคนนอกพื้นที่ การเมืองสารพัด ไม่พูดถึงความเดือดร้อนและความช่วยเหลืออย่างจริงจัง เพราะถ้าจำได้ตั้งแต่แรก รัฐบาลอิดออดไม่ยอมเจรจาท่าเดียว แต่เมื่อเห็นว่าเริ่มลุกลามบานปลายก็ส่ง “สุภรณ์ อัตถาวงศ์” แกนนำคนเสื้อแดง ซึ่งแม้ว่าเวลานี้ได้ดินได้ดีเป็นถึงรองเลขาธิการนายกฯ แต่ในสายตาชาวบ้านที่นั่นมองว่า “กระจอก” สิ้นดี เพราะไม่มีอำนาจในการตัดสินใจอะไร ทำได้แค่รับเรื่องไปเสนอ “นาย” เท่านั้น จนกระทั่งเกิดเหตุบานปลายมีเกษตรกรเข้าร่วมมากขึ้นและลุกลามไปหลายจังหวัดทั่วภาคใต้นั่นแหละ ฝ่ายรัฐบาลถึงต้องตาลีตาเหลือกยอมลงมาเจรจาด้วย แต่ก็ยีงมีลูกเล่นแบบ “ศรีธนญชัย” พูดจาแบบสามวาสองศอก สิ่งที่ชาวบ้านต้องการจริงๆคือให้ประกันราคายางจากเดิมที่เสนอไป 120 บาทต่อกิโลกรัม ก็ยอมลดลงมาเรื่อยๆจนเหลือแค่ 90-95 บาท ด้วยวิธีการจ่ายราคาส่วนต่างของราคาตลาด แต่รัฐโดย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอกกลับไปหักคอมั่วซั่วกลายเป็นเพิ่มราคาช่วยในเรื่องค่าปุ๋ยจากไร่ละ 1,650 เพิ่มเป็นไร่ละ 2,520 บาท และยังขยายจากเดิมจาก 10 ไร่เป็น 25 ไร่ต่อครอบครัว อ้างว่าเมื่อรวมกันแล้วก็ออกมาเป็นราคากิโลกรัมละ 90 บาท พอดี เป็นความหมายคนละเรื่อง และที่สำคัญกลับไปเอื้อประโยชน์เพิ่มความต้องการให้กับชาวสวนยางในภาคเหนือและภาคอีสานที่เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยเสียอีก และนี่ไม่ใช่การเมืองแล้วจะเรียกว่าอะไร
ขณะที่ชาวสวนยางภาคใต้ไม่ได้ตามต้องการ มิหนำซ้ำยังต้องเสี่ยงต่อความแตกแยกภายในสวนยางอีก เพราะมีลักษณะเฉพาะคือการใช้วิธีการช่วยเหลือเรื่องปุ๋ยดังกล่าวจะได้ประโยชน์แค่เจ้าของสวนยางเท่านั้น ส่วนลูกจ้างกรีดยางที่ใช้วิธีแบ่งสัดส่วน 60/40 หรือ 50/50 นั้นไม่ได้ประโยชน์ เกิดปัญหาซ้อนขึ้นมาอีก ดังนั้นการช่วยเหลือแบบนี้ไม่ต่างจากการวางยา และนี่ก็คือสาเหตุสำคัญที่เกิดม็อบที่แยกควนหนองหงส์ขึ้นมาอีกรอบ
ขณะเดียวกัน ลองมาพิจารณาม็อบอื่นๆ บ้าง ตัวอย่างที่กำลังเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนก็คือ “ท่าที”ที่รัฐบาลมีต่อม็อบชาวนา ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคกลาง และรับรู้กันว่านี่คือฐานเสียงสำคัญ และก็ยังเป็น “ม็อบการเมือง” ของแท้อีกด้วย เพียงแต่ว่าเป็นม็อบของการเมืองฝ่ายรัฐบาล จะขัดใจไม่ได้ เพราะเพียงแค่ลดราคาจำนำลงมาจากตันละ 15,000 บาท เหลือแค่ตันละ 12,000 บาท เพียงชั่วข้ามคืนก็ต้องพลิกกลับมาเหมือนเดิมก็เคยทำมาแล้ว และโครงการนี้ทำให้ขาดทุนป่นปี้ก็ไม่ต้องไปสนใจ ไม่ต้องไปพูดถึงกลไกตลาด ถ้าจะอ้างว่าต้องอุ้มชาวนาเพราะทำนาเพียงปีละครั้งสองครั้ง แต่ชาวสวนกรีดยางได้ทุกวันนั้นมันก็เป็นข้อมูลที่บิดเบือน เพราะในปีหนึ่ง 365 วัน เฉลี่ยแล้วกรีดได้ประมาณ 131 วันเท่านั้น เพราะไหนจะหน้ามรสุมฝนตก ยางผลัดใบ และที่สำคัญในความเป็นจริงจะกรีดทุกวันไม่ได้ ต้องวันเว้นวัน หรือ สองสามวันเว้นวัน
ดังนั้น ถ้าบอกว่าหากมีการเปรียบเทียบกันระหว่างสองม็อบการเมืองระหว่างม็อบยางกับม็อบข้าวมันช่างต่างกันราวฟ้ากับดิน ที่รัฐโอ๋ชาวนาจนสุดลิ่มทิ่มประตู ขณะที่ชาวสวนยางนอกจากไม่เหลียวแลอย่างจริงใจแล้ว ยังพยายามสร้างความแตกแยก หาทางทำลายทุกวิถีทาง เพียงเพราะเห็นว่าคนพวกนี้ไม่ใช่ฐานเสียงของรัฐบาล ของพรรคเพื่อไทย มิหนำซ้ำยังหัวแข็งอีกต่างหาก ต้องหาทางปราบปรามให้หลาบจำใช่หรือเปล่า และที่สำคัญนี่ไม่ใช่สองมาตรฐาน แต่ไร้มาตรฐานต่างหาก!!