ประธานวิปรัฐบาลหวังถกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านจบใน 2 วัน เชื่อรัฐบาลตอบได้ทุกคำถาม ฝากความหวังประธานสภาฯ คุมเกม ส.ส.ไม่ให้อภิปรายซ้ำซ้อน “อุดมเดช” เรียกร้องฝ่ายค้านอย่าเตะถ่วง ลั่น ส.ส.รัฐบาลมีสิทธิเสนอปิดอภิปรายหากยืดเยื้อ เมิน ปชป.ยื่นศาลฯ ตีความชำเรา รธน. อ้างแก้ไขรายมาตราตามคำแนะนำแล้ว อ้างไม่เคยทำตามคำสั่งศาล รธน.ที่ไม่ลงมติแค่ ส.ส.-ส.ว.กังวล
นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของประเทศ วงเงินจำนวน 2 ล้านล้านบาท หรือ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทว่า จะมีการพิจารณาในวันที่ 19-20 ก.ย.นี้ โดยมีผู้ขอสงวนคำแปรญัตติ 144 คน ซึ่งในข้อบังคับของการประชุม อำนาจจะอยู่ที่ประธานในที่ประชุม หากประธานวินิจฉัยถือว่าเป็นข้อยุติ ฉะนั้น บรรดาสมาชิกที่แปรญัตติซ้ำซ้อนกันจะต้องฟังสิ่งที่ประธานทักท้วงบ้าง เพราะการอภิปรายซ้ำซ้อนกันทำให้เสียเวลา โดยเฉพาะการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวคิดว่าใช้เวลา 2 วันน่าจะจบ เพราะมีแค่ 17 มาตราเท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อมั่นว่าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทครั้งนี้ ผู้ที่อภิปรายต้องรักษาภาพลักษณ์ตัวเอง หากทำเกินกฎข้อบังคับประชาชนจะตัดสินในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
“ผมมั่นใจว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุกับ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทอย่างแน่นนอน เพราะสามารถชี้แจงและตอบคำถามของฝ่ายค้านได้ ส่วนที่อ้างว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 นั้น ขอยืนยันว่าตามข้อกฎหมายสามารถดำเนินการได้ตามกรอบของวงเงิน และไม่ขัดรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด”
นายอุดมเดช รัตนเสถียร ที่ปรึกษาวิปรัฐบาล กล่าวภายหลังการประชุมวิปรัฐบาลว่า สัปดาห์นี้สภาผู้แทนราษฎรมีวาระการพิจารณา พ.ร.ก. ภาษีสรรพสามิต ในวันที่ 18 ก.ย. จากนั้นวันที่ 19-20 ก.ย.จะมีการพิจารณาวาระ 2 ของร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งในวันนี้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มาชี้แจงกับวิปรัฐบาล โดยที่ประชุมได้สอบถามเรื่องที่คาดว่าฝ่ายค้านจะหยิบยกมาซักถาม ซึ่งนายกิตติรัตน์ชี้แจงว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีวิธีการเหมือนโครงการกู้เงินไทยเข้มแข็งของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ แต่จะมีความชัดเจนกว่าว่าจะนำมาทำอะไร ขณะที่โครงการไทยเข้มแข็งอ้างเพียงว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยที่ไม่รู้เลยว่านำไปทำอะไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากฝ่ายค้านอภิปรายยืดเยื้อจะเสนอปิดอภิปรายหรือไม่ นายอุดมเดช กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราให้โอกาสพอสมควร แต่วิปฝ่ายค้านไม่เข้ามาหารือร่วมกัน ทำให้ไม่มีเวลาแน่นอน คนที่ทำหน้าที่องค์ประชุม ทั้ง ส.ว.และ ส.ส.ก็ไม่รู้จะจบตอนไหน ทำให้องค์ประชุมก็มีสิทธิที่เสนอให้ปิดอภิปรายมาตรานั้นๆ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลเสียของการไม่มาคุยกัน ฉะนั้นก่อนการพิจารณาร่างกฎหมาย 2 ล้านล้านบาทนี้จึงอยากให้มาคุยกันว่าจริงๆ แล้วผู้ที่ขอสงวนความเห็น และขอแปรญัตติต้องการเวลาเท่าใด คนที่เป็นองค์ประชุมจะได้รู้อนาคตตัวเองว่ามาร่วมประชุมด้วย ในส่วนของ ส.ส.พรรคเพี่อไทยนั้นได้มีการกำชับให้เข้าร่วมประชุมอย่างเคร่งครัด แต่คงไม่ถึงขนาดห้าม ส.ส.ออกต่างจังหวัด ซึ่ง ส.ส.ควรมารับผิดชอบต่อหน้าที่
ผู้สื่อข่าวถามว่า กำหนดการการแถลงผลงานรัฐบาล 1 ปีต่อสภาผู้แทนราษฎร นายอุดมเดชกล่าวว่า เดิมตั้งใจไว้เป็นช่วงสัปดาห์หน้า แต่หากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทยืดเยื้อ ก็ต้องรอดูบรรยากาศก่อน
ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์เตรียมยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว.ว่าขัดมาตรา 68 นั้น นายอุดมเดชกล่าวว่า ถือเป็นสิทธิที่จะยื่น แต่ฝากศาลรัฐธรรมนูญดูรายละเอียดว่าเป็นกระบวนการในการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ ผู้ที่พยายามจะอ้างว่าตนเองเป็นฝ่ายตุลาการแบบศาลรัฐธรรมนูญให้ดูว่าการทำหน้าที่ของตนเองเข้ามาก้าวล่วงฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ หากเราเอาฝ่ายตุลาการเข้ามาตัดสินว่าแก้กฎหมายนั้นได้หรือไม่ได้ ส่วนตัวมองว่าเป็นการล่วงล้ำก้ำเกินเข้ามามากเหมือนกัน ตอนที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ให้ความเห็นว่าไม่สมควรที่จะแก้ทั้งฉบับ แล้วเมื่อทำตามคำแนะนำแก้รายมาตรา ก็เห็นแล้วว่าฤทธิ์เดชเป็นอย่างไร โอกาสที่จะเสร็จก็ยาก กว่าจะได้ทั้งฉบับ
นายอุดมเดชกล่าวอีกว่า ดังนั้นเมื่อได้ทำตามคำแนะนำแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะยังใช้ดุลยพินิจของตัวเองมาขัดขวางอีกหรือไม่ ตรงนี้ก็ฝากให้สังคมติดตามการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนการลงมติโหวตวาระ 3 นั้นจะมีการนัดให้มาลงมติกันภายใน 15 วัน ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่พอรู้ข่าวแล้วจะหยุดไปด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมาเหมือนพรรคเพื่อไทยยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ นายอุดมเดชกล่าวว่า ตอนนั้นไม่ได้รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ แต่การลงมติมีทั้ง ส.ส.และ ส.ว.และมีความกังวลต่อการใช้ดุลพินิจของศาล ซึ่งวันนี้หากจะมีการลงมติวาระ 3 ที่มาของ ส.ว.ก็เชื่อว่า ส.ว.คงไม่มีความกังวลเพราะจะหมดวาระในเดือน มี.ค.นี้