ส.แลกเปลี่ยนเงินตราฯ พร้อมปฏิบัติตาม กม.ฟอกเงิน ระบุแม้ภาวะ ศก. กำลังชะลอตัวจากผลกระทบการส่งออก แต่ก็มี 3 ปัจจัยหนุนธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้ขยายตัว
น.ส.ชนาพร พูนทรัพย์หิรัญ นายกสมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (TAFEX) กล่าวถึงผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ว่า สมาคมฯ มีจำนวนสมาชิกผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นเป็น 63 ราย พร้อมทั้งร่วมมือกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง), ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาชิก ปฏิบัติตามหลักตรวจสอบลูกค้า (KYC,CDD) ตามกฎหมายป้องกันการฟอกเงิน ปัจจุบัน ผ่านระยะผ่อนผัน และทดลองก่อนใช้บังคับไปแล้ว ซึ่ง ปปง.จะเริ่มเอาจริงกับเรื่องนี้ โดยหากผู้ประกอบการใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์จะมีโทษปรับทันทีเป็นเงิน 1 ล้านบาทโดยไม่ต้องรอส่งฟ้องศาล
ด้านส่งเสริมธุรกิจให้มีความมั่นคงและเป็นธรรม ลดการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างผู้ประกอบการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ทางสมาคมฯ ได้หารือกับผู้ประกอบการกำหนดอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจาก 3 สต. เป็น 5 สต. ท่ามกลางภาวะผันผวนทางการเงิน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับแนวทางดำเนินธุรกิจ
นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อเตรียมพร้อมเป็นศูนย์กลางการเงินของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยได้จัดกิจกรรม และอบรมหลักสูตร 4 หัวข้อ 1.ปูพื้นฐานความรู้และความเข้าใจในการประกอบธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 2.ความเข้าใจในเรื่องของกฎระเบียบและหลักเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง 3.วิธีการดูธนบัตรต่างประเทศปลอมและธนบัตรต่างประเทศที่ถูกยกเลิก 4.ระบบตรวจสอบรายชื่อผู้ถูกกำหนด
สำหรับแผนงานในปีที่ 2 ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนสมาชิกทั่วประเทศเป็น 120 ราย ขยายความร่วมมือภาคเอกชน สำรวจและศึกษาข้อมูลพื้นที่ตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนำมาพัฒนาธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของไทย ลงทุนพัฒนาระบบไอทีป้องกันข้อมูลลูกค้ารั่วไหล เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลลูกค้ามารวมในจุดศูนย์กลาง ดังนั้น จึงต้องมีระบบที่ดีมีมาตรฐาน
ส่วนแนวคิดการผ่อนคลายกฎระเบียบการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น การเพิ่มถือครองนำเงินบาทเข้า-ออก ในการค้าชายแดนจากเดิมกำหนดไว้ 5 แสน เป็น 2 ล้านบาทต่อราย และแนวคิดการปรับเปลี่ยนกฎข้อบังคับเดิมโดยผู้ประกอบการไม่ต้องขาย 80% ให้แก่ธนาคาร ทางสมาคมฯ เห็นว่าจะมีผลดีต่อการส่งเสริมการค้าพาณิชย์ และช่วยเพิ่มความสะดวกในการค้าแถบชายแดนรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไทย และบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมากยิ่งขึ้น
น.ส.ชนาพร กล่าวถึงประเด็นระบบการเงินดิจิตอล บิทคอยส์ (BitCoins) ที่เริ่มแพร่เข้ามาในประเทศไทยว่า เป็นระบบการเงินดิจิตอล ซึ่งไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง และไม่มีรัฐบาลของประเทศใดรับรอง ตลอดจนไม่มีหน่วยงานกลางที่คอยควบคุมดูแล ขณะที่ที่มา และตัวตนของบิทคอยส์ (BitCoins) ก็ยังมีความคลุมเครือ สร้างจากระบบเน็ตเวิร์กคอมพิวเตอร์ ผู้โอนเงินสามารถทำธุรกรรมได้โดยไม่ต้องผ่านระบบธนาคาร ถือว่าเป็นการเงินนอกระบบ มีความเสี่ยงสูง และไม่สามารถแลกกลับมาเป็นเงินจริงได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงยังไม่รับรองระบบการเงินนี้
ด้านแนวโน้มตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของไทย แม้จะเผชิญกับภาวะถดถอยของการส่งออก ความผันผวนของค่าเงินบาท และสภาวะการเมืองที่ไม่มั่นคง แต่ยังมีปัจจัยบวกในระยะยาว 3 ปัจจัย คือ 1.ความเติบโตของประเทศในภูมิภาคอาเซียน เช่น พม่า ที่กำลังสร้างประเทศ มีความต้องการใช้วัตถุดิบ วัสดุก่อสร้าง และมีการลงทุนมาก ดังนั้น ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของไทยจะเติบโตตามด้วย เนื่องจากไทยอยู่ในที่ตั้งศูนย์กลางการค้า และคมนาคมขนส่งของอาเซียน
2.ตลาดการท่องเที่ยวของประเทศ แม้ปัจจัยค่าเงินบาทกำลังอ่อนค่าลงในช่วงนี้ส่งผลต่อตลาดท่องเที่ยวเอาต์บาวนด์ลดลงก็ตาม แต่ความต้องการของนักท่องเที่ยวอินบาวนด์ต่างชาติสู่ประเทศไทยยังคงขยายตัวสูงขึ้น โดยมีนักท่องเที่ยวจากจีนมาเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ ญี่ปุ่น รัสเซีย คาดว่าตลาดการท่องเที่ยวของประเทศ ปี 2556 จะเติบโตอีกราว 14% จากปีก่อนหน้านี้ และคาดว่าจะมีมูลค่าตลาดรวมเกิน 1 ล้านล้านบาท
3.การเติบโตของตลาดการค้าชายแดน 4 ประเทศ คือ ลาว พม่า เวียดนาม เขมร และมาเลเซีย โดยเฉพาะมาเลเซีย มีมูลค่าการค้าชายแดนเป็น 30% ของมูลค่าการค้าชายแดนทั้งหมดที่มีมูลค่ารวม 1 ล้านล้านบาท ในภาคเหนือ กระทรวงคมนาคมมีการสร้างท่าเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ จ.เชียงราย ส่วนในชายแดนตะวันตก เช่น ด่านแม่สอด จ.ตาก มีการค้าเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับชายแดนตะวันออกเฉียงเหนือที่มุกดาหาร หนองคาย