หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเป็นห่วงวุฒิสภาขอเงินจาก กสทช.จัดสัมมนาวางฐานเสียงรับการเลือกตั้ง ส.ว.หลังแก้ไขรัฐธรรมนูญ กังขาผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ เผยหากไม่ยอมแยกแยะอำนาจหน้าที่จะกลายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน วอนต้องทบทวนเรื่องนี้
วันนี้ (13 ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเป็นห่วงกรณีวุฒิสภาขอเงินจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือกสทช.30 ล้านบาท เพื่อจัดสัมมนาในพื้นที่จังหวัดต่างๆ โดยถูกวิจารณ์ว่าเป็นการวางฐานเสียงเพื่อรองรับการเลือกตั้ง ส.ว.หลังแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว.เสร็จแล้ว เพราะว่าเท่ากับว่า ผู้ตรวจสอบสำคัญคือวุฒิสภา ไปของบประมาณจาก กสทช.โดยอ้างว่า เพื่อทำโครงการการให้ความรู้แก่ประชาชน อยู่ในวัตถุประสงค์ของเงินที่ กสทช.พึงจะให้ได้ แต่โครงการที่มาทำ คือ โครงการนักการเมืองพาชาวบ้านไป ส่วนใหญ่เป็นการทัศนศึกษา ที่สำคัญคือ เหมือนกับเป็นหาเสียงกันล่วงหน้า จึงกลายเป็นข้อกล่าวหาที่ตามมาว่า เป็นการเอาเงินของ กสทช.ซึ่งตัวเองมีหน้าที่ในการตรวจสอบนั้น มาใช้ในการหาเสียงล่วงหน้าหรือไม่ แล้วก็เป็นจังหวะสอดรับพอดีกับการที่หลายคนประกาศตัว ตั้งใจจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว.ซึ่งระหว่างที่ลงสมัคร ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน ตัวเองก็ยังมีอำนาจ ส.ว.อยู่ด้วย จะเกิดคำถามว่า จะผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่
เมื่อถามว่า ถือเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปแสวงหาผลประโยชน์จากงบประมาณของรัฐโดยมิชอบหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องดูวัตถุประสงค์และปฏิบัติจริงของโครงการนี้กับแหล่งเงินที่ได้มาว่าเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร เป็นการใช้ทรัพยากรของส่วนรวมเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือไม่ เมื่อถามย้ำว่า ขณะที่มีหน่วยงานหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจกำลังจะยื่นถอดถอน กสทช.ต่อวุฒิสภา และการที่ กสทช.นำเงินไปให้วุฒิสภา 30 ล้านบาทนี้ จะเหมือนเป็นการติดสินบนหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มันพันกันยุ่งไปหมด เพราะถ้าเรายังไม่ยอมแยกแยะอำนาจหน้าที่ของตนเอง จะกลายเป็นเรื่องของผลประโยชน์ขัดกัน หรือผลประโยชน์ทับซ้อน ก็จะเกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้น เพราะโครงการนี้เหมือนกับพาประชาชนในเขตเลือกตั้งของตนเองไปต่างจังหวัด ในสื่อระบุว่ารุ่นของประธานนิคม ใน จ.ฉะเชิงเทราพาไป จ.เชียงใหม่ หากเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องมีการชี้แจงต่อสังคม ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นว่า กสทช.และวุฒิสภา ต้องทบทวนเรื่องนี้ เช่น ความเหมาะสมในการไปขอเงินมาทำเช่นนี้ ทางออกที่ดีที่สุดคือให้นักการเมืองไปขอทุนจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองของ กกต.จะดีที่สุด