xs
xsm
sm
md
lg

“ประพันธ์-พิชาย” คาใจศาลปล่อย “ประชา” ออกนอกประเทศ จี้ ป.ป.ช.ทำงานให้ไว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ประพันธ์” คาใจศาลให้ “ประชา” หนีออกนอกประเทศก่อนถูกตัดสินจำคุก พร้อมตั้งข้อสังสัยทำไมถึงรู้คำพิพากษาล่วงหน้า จี้ ป.ป.ช.ทำงานให้เร็วขึ้นและจัดลำดับคดีสำคัญให้ทำก่อน ด้าน “พิชาย” ชี้แค่กรณี “รักเกียรติ” ก็น่าเป็นบทเรียนได้แล้ว แต่นี่กลับปล่อยให้นักโทษคดีทุจริตหนีได้ถึง 4 คน แนะตั้งองค์กรพิเศษที่มีอำนาจพิเศษคอยฟันนักการเมืองขี้โกง


วันที่ 10 ก.ย. เมื่อเวลา 20.30 น. นายประพันธ์ คูณมี อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ ผศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ทางเอเอสทีวี

โดยนายประพันธ์กล่าวถึงกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุกนายประชา มาลีนนท์ ว่าจุดอ่อนของศาล คือ ทำไมปล่อยให้คนชั่วลอยนวลหนีไปได้ ไม่สามารถเอาคนผิดมาจำคุกได้จริง ตั้งข้อสังเกตทีพันธมิตรฯ ถูกกล่าวหาคดีก่อการร้าย ศาลยังห้ามเดินทางออกนอกประเทศ แต่ทีโกงเป็นพันล้านทำไมไม่ห้าม ทำไมไม่มีข้อบังคับตามจับตัวมาฟังคำพิพากษา อันนี้ต้องถือเป็นบทเรียนไม่เช่นนั้นต่อไปก็จะเป็นเพียงคำพิพากษาที่ไม่มีสภาพบังคับ แต่จริงๆ แล้วก็โทษศาลไม่ได้ เพราะกรณีนักโทษหนีไปต่างประเทศเป็นหน้าที่ของรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงการต่างประเทศ ที่ต้องจับตัวมาลงโทษ แต่เผอิญผู้ดำรงตำแหน่งทางนักการเมืองมันมีอิทธิพลในรัฐบาล ฉะนั้นต้องคิดถึงมาตรการว่าจะดำเนินการกับคนพวกนี้อย่างไร ขบวนการจัดการกับพวกทุจริตต้องทบทวนมากพอสมควร ว่าตัดสินแล้วทำอย่างไรที่จะเอาตัวมาลงโทษ ไม่เช่นนั้นไม่เข็ดหลาบเดินลอยหน้าลอยตาอยู่ต่างประเทศ แล้วยังรู้ตัวก่อนด้วยว่าศาลจะตัดสินอย่างไร ส่วนพวกที่มาฟังคำพิพากษาก็เหมือนจะรู้ตัวว่าไม่โดน

นอกจากนี้ กระบวนการยุติธรรมในคดีทุจริตต้องปรับปรุงให้เร็วขึ้น เพราะต่างจากคดีธรรมดา แค่ส่อว่าทุจริตก็ลงโทษทางการเมืองได้แล้ว มันไม่เหมือนกับคดีอาญา ไม่น่าต้องรอสอบสวนกันเป็นปี ส่วนเรื่องลงโทษทางศาลค่อยว่ากัน ขบวนการทั้งหมดต้องสังคายนาครั้งใหญ่ ไม่เช่นนั้นศาลตัดสินคดีไม่ได้เลยถ้าเรื่องยังมาไม่ถึงศาล

นายประพันธ์กล่าวด้วยว่า บทเรียนที่ตนอยากพูดเพิ่มเติม คือ นายประชา มาลีนนท์ เป็นมหาเศรษฐีไม่น่าต้องมาเป็นนักการเมือง แล้วเผอิญการตั้งพรรคของทักษิณ เป็นการรวมเจ้าของธุรกิจมาร่วมกัน แล้วท้ายที่สุดก็หาประโยชน์ให้ตัวเองและทำงานตามใบสั่งทั้งนั้น พรรคของทักษิณเป็นพรรคที่ไม่เคารพกฎหมายเลย คิดว่าทำผิดแล้วค่อยไปวิ่งเต้น ตัดสินว่าผิดก็หนีไปต่างประเทศ จากนั้นก็ให้สภาออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ภายหลัง อันนี้คืออันตรายของระบบการเมืองไทยที่ต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วน นี่แค่เรื่องรถ-เรือดับเพลิง ยังมีหนักกว่านี้อีก ทั้งจำนำข้าว โครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน

นอกจากนี้ อยากให้ ป.ป.ช.ไปแก้วิธีดำเนินการให้รวบรัด รวดเร็ว อย่าชักช้า และจัดลำดับด้วยว่าคดีไหนเร่งด่วนให้ทำก่อน ซึ่งตนคิดว่าเรื่องของรัฐบาลนี้เร่งด่วนที่สุด อย่างจำนำข้าวรอบที่ 1 ยังไม่ชี้มูล แล้วเขาจะเอาไปอีกรอบแล้ว ในเมื่อรู้กันอยู่โทงๆ ว่ามันโกง ตนเชื่อว่า ป.ป.ช. มีวิธีสามารถทำให้เร็วได้

ด้านนายพิชายกล่าวว่า 4 คดีที่ผ่านมา (นายรักเกียรติ สุขธนะ, นายวัฒนา อัศวเหม , พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ นายประชา มาลีนนท์) มีนายรักเกียรติคนเดียวที่โดนจำคุก ความจริงช่วงแรกก็หนีเหมือนกัน หมายความว่าถ้ามีคดีทุจริตเมื่อไหร่ และมีแนวโน้มว่าศาลจะลงโทษ ก็หนีทั้งนั้น เป็นที่น่าสงสัยว่าทำไมถึงรู้ว่าตัวเองจะถูกตัดสินอย่างไร คำถามถัดไปคือทั้ง 4 คนที่กล่าวถึง มีข่าวอื้อฉาวเรื่องทุจริตมาโดยตลอด ทำไมศาลไม่กำหนดเงื่อนไขไม่ให้คนเหล่านี้ไปต่างประเทศเมื่อโดนคดี แค่กรณี นายรักเกียรติ ก็น่าจะเป็นบทเรียนเพียงพอแล้ว ทำไมถึงไม่ห้ามประกันตัว หรือประกันตัวได้แต่ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ 4 คดีแล้วไม่ได้สรุปบทเรียนเลย ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร ความยุติธรรมไม่ถูกดำเนินการ ไม่มีใครรับโทษ แล้วมันจะมีความหมายอะไร

ประการที่ 2 กระบวนการยุติธรรมก่อนมาถึงศาลไร้ประสิทธิภาพมาก ตอนนี้ป.ป.ช.มีคดีเป็นหมื่นที่ค้างอยู่ ปัญหาคือทำอย่างไรที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้ป.ป.ช. นี่มีข่าวว่ารัฐบาลจะตัดงบ ป.ป.ช. ยิ่งหนักเข้าไปอีก ฉะนั้นการดำเนินคดีทุจริตนักการเมืองอาจต้องมีองค์กรพิเศษที่มีอำนาจพิเศษ ป.ป.ช.คงต้องตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าประสิทธิภาพเป็นอย่างไร ในปัจจุบันเรียกได้ว่าแทบไร้ประสิทธิภาพเลย จำนำข้าวแค่ชี้มูลก็ยังไปไม่ถึงไหน ส่วนอำนาจในการฟ้องนั้น ไม่ควรให้อัยการมาดำเนินการฟ้องเรื่องทุจริต เพราะอัยการไทยมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับนักการเมือง


กำลังโหลดความคิดเห็น