xs
xsm
sm
md
lg

“วสันต์” ยัน รบ.ผิด รธน.ไม่แถลงผลงาน นิ่งจัดการน้ำ ล้างผิดเว้นแกนนำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สพท.จัดเสวนา “ระบบนิติรัฐกับทางออกของประเทศไทย” อดีต ปธ.ศาล รธน.ฟันธงรัฐผิด รธน.ไม่แถลงผลงาน-จำนำข้าว แต่ศาล รธน.ไร้อำนาจวินิจฉัย จับตาโปรเจกต์ยักษ์ กู้ 2 ล้านล้าน ส่อขัด รธน.ม.169 กู้จัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ต้องให้เสร็จภายใน 30 มิ.ย. 56 แต่มีสัญญาแค่กับ 4 ธนาคาร เชื่อยอมปล่อยกู้ขัด กม.แพ่ง มีสิทธิถูกรัฐชักดาบ ชี้ น้ำท่วมใหญ่โทษรัฐต้องรับผิดชอบ เหตุทำเฉยหลังศาล รธน.วินิจฉัยแล้ว 1 ปีเศษ ระบุล้างผิดเว้นแกนนำขัด รธน.



 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง เสวนา “ระบบนิติรัฐกับทางออกของประเทศไทย”  

วันนี้ (8 ก.ย.) สถาบันพัฒนาภาวะผู้นำการปกครองส่วนท้องถิ่น (สพท.) ได้มีการจัดเสวนาเรื่อง “ระบบนิติรัฐกับทางออกของประเทศไทย” โดยมี นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ มาเป็นองค์ปาฐก โดยได้กล่าว ว่า นิติรัฐหมายถึงรัฐที่มีการปกครองโดยยึดหลักกฎหมาย การชนะการเลือกตั้งไม่ได้แปลว่าให้มาบริหารประเทศอย่างเดียว เพราะแม้แต่การบริหารท้องถิ่น อบต.ล้วนแต่ต้องบริหารตามกฎหมายทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เปรียบเทียบองค์กรเอกชนก็เช่นเดียวกันที่ต้องบริหารตามข้องบังคับของบริษัท หากมีปัญหาเรื่องข้อบังคับก็ต้องแก้ไข แต่บริษัทแก้ไม่ยาก แค่ประชุมผู้ถือหุ้น ทนายความ แต่ถ้าเป็นการบริหารองค์กรของรัฐ เทศบาล อบต.รวมถึงรัฐบาลจะต้องบริหารตามกฎหมาย

โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจำเป็นต้องมีมือกฎหมายที่เก่ง มีความรู้ และแก้ปัญหาได้ดีไว้ใกล้ตัว นักกฎหมายที่เก่งควรรู้กฎหมายและผูกโยงกฎหมายหลายฉบับที่เชื่อมโยงกัน เพื่อให้บริหารถูกต้อง และเพื่อใช้กฎหมายให้เป็นประโยชน์ต่อการบริหารประเทศ ไม่ใช่เอาช่องโหว่กฎหมายมาหาประโยชน์ใส่ตัวและพวกพ้อง และต้องบริหารตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่บริหารตามอำเภอใจ แต่รัฐบาลนี้ก็มีมือกฎหมาย แต่ส่วนใหญ่ที่ออกมามักจะมาคุยโม้ โอ้อวด หนักไปทางคุยมากกว่า พูดเก่ง โม้เก่ง แต่พอเอาจริงเอาจังแล้วไม่ค่อยได้เรื่อง ไม่ว่าจบจากต่างประเทศ หรือเป็น ดร.ซึ่งยิ่งออกมาพูดมากย่อมแสดงความไม่รู้ของตัวเอง

นายวสันต์ กล่าวอีกว่า ตนฟันธงตอนนี้รัฐบาลทำขัดรัฐธรรมนูญแล้ว 2 เรื่อง แต่ไม่มีกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญก้าวล่วงไปวินิจฉัย คือ 1.กรณีไม่แถลงผลงานปีละ 1 ครั้งต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 75 วรรคสองที่กำหนดไว้ ตรงนี้ไม่เหมือนศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมันที่มีอำนาจจะเข้าไปตรวจสอบ เรียกไต่สวน หรือออกคำสั่งห้ามได้ โดยที่ไม่ต้องมีคนร้องหากเห็นว่า รัฐบาลหรือรัฐสภากำลังทำผิด นอกจากนี้ ที่น่าหงุดหงิดคือ โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตั้งแต่เดือน ก.พ.55 เมื่อครั้งขอออกเป็น พ.ร.ก.ถือว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ วันนี้ พ.ร.ก.ดังกล่าวออกเป็น พ.ร.บ.แล้ว โดยมาตรา 3 เขียนให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และในวรรคหนึ่งกำหนดให้การกู้ต้องทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิ.ย.56 แต่จนถึงขณะนี้มีคำยืนยันจากรองปลัดกระทรวงการคลังว่าไปเซ็นสัญญากับ 4 ธนาคารแล้ว มีคำถามว่าการกู้เงินตาม พ.ร.บ.กำหนดให้ต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. 56 การเซ็นสัญญากับธนาคารแล้วว่าถือว่าเป็นกู้หรือยัง

ซึ่งตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เขียนไว้ว่าสัญญานี้จะบริบูรณ์เมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม แต่ตอนนี้ถ้าเป็นไปตามที่รองปลัดกระทรวงการคลัง บอกว่ายังไม่มีการส่งมอบเงิน จึงเท่ากับว่ายังไม่มีการกู้เงินเกิดขึ้น ปัญหาคือ ถ้าหลังจากเดือน มิ.ย.แล้วธนาคารจะเสี่ยงกล้าให้เงินกับรัฐหรือไม่ เพราะถ้ายึดตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การเสี่ยงให้เงินของธนาคารก็อาจนำมาสู่การไม่ได้รับเงินต้นคืนและดอกเบี้ย ขณะเดียวกัน รัฐจะเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย

“ผมเป็นห่วงบริษัท อิตาเลียนไทย และ เค.วอเตอร์ ไม่ทราบว่าเกาหลีมีแห้วขายไหม ผมแนะนำว่าหากรัฐทวงเงินกู้ตามสัญญาจากธนาคาร วิธีที่ดีที่สุดสำหรับธนาคาร คือไม่ส่งมอบเงินให้กับกระทรวงการคลัง แล้วให้กระทรวงการคลังไปฟ้องแพ่งเอา เพราะถ้าให้ก็ไม่แน่ว่าจะได้เงินคืน” นายวสันต์ กล่าวและว่า นี่คือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ถามว่าปีครึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้มัวไปทำอะไรกันอยู่ มัวแต่ไปเล่นละครพญาเม็งรายหรือไม่ มีคนไปฟ้องศาลปกครอง ศาลปกครองก็มีคำสั่งว่าจะต้องทำรายงานวิจัยศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ก็ไปด่าศาลว่าถ้าน้ำท่วมศาลปกครองต้องรับผิดชอบ

ตนบอกได้เลยว่า ถ้าตอนนี้น้ำท่วมขึ้นมาคนที่รับผิดชอบคือรัฐบาลอย่างเดียว เพราะปีกว่าๆ ไม่ทำอะไรเลย ทั้งที่ความจริงบ้านเรามีกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่กำหนดให้ต้องทำประชาพิจารณ์ในโครงการที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 35 และมีรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 67 กำหนดว่าโครงการที่มีผลกระทบกับชุมชนต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนและผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งกรณีก็โยงไปถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะมีการกู้เงินตาม พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ถามว่าวันนี้จะทำรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ต้องขุดลงใต้ดินผ่านอุทยานฯ ป่าสงวน และชุมชนไหนบ้างรัฐก็ตอบไม่ได้ พูดอย่างเดียวจะเอาเงินกู้

โดยการกู้เงินเอามาทำโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รัฐระบุเป็นโครงการ 7 ปี ถ้าเฉลี่ยรายปีจะต้องใช้งบประมาณปีละ 3 แสนล้านบาท ทำไมไม่กู้ผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี คำตอบคือ ถ้าทำตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี การยื่นคำขอในแต่ละปีต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจน และจะถูกตรวจสอบได้ง่าย จึงเลี่ยงที่จะถูกตรวจสอบ ถือเป็นการขัดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 169 และถ้าเรื่องนี้ผ่านไปได้ ต่อไปรัฐบาลจะไม่เลือกใช้การกู้ผ่านวิธีการงบประมาณแล้ว

ส่วนอีกเรื่องที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าผิด แต่ไม่มีอำนาจวินิจฉัยคือ กรณที่ นายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโครงการรับจำนำข้าว เพราะผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 84(5) ที่บัญญัติเรื่องแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ว่า นโยบายที่รัฐกำหนดขึ้นต้องให้มีการแข่งขันเสรีเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาด ตัดตอน แต่โครงการรับจำนำข้าวที่ทำกันอยู่ถือว่ารัฐตัดตอนเสียเอง เพราะแท้จริงแล้วไม่ใช่การรับจำนำ แต่เป็นการรับซื้อข้าวทุกเมล็ดจากชาวนา กลายเป็นโรงสีของรัฐเท่านั้นที่มีสิทธิได้ซื้อ แต่โรงสีเอกชนบางรายจะไม่ได้สิทธิรับซื้อ ขัดกับหลักของการรับจำนำ เพราะการจำนำคือ การเอาทรัพย์ไปประกันหนี้กับเจ้าหนี้ เมื่อถึงเวลาหนึ่งต้องมีการไถ่ถอนหรือมีการต่อรอง แต่นี่กลับเป็นการตั้งโต๊ะรับซื้อทั้งหมด ถือเป็นการโกหกตั้งแต่ต้น

สำหรับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม มีประเด็นอยู่ 3 มาตรา คือ 1.มาตรา 3 วรรคสอง เรื่องหลักนิติธรรม เช่น คดีที่เกิดพิพากษามาแล้ว อยู่ๆ จะยกเลิกมาพิจารณาใหม่ไม่ได้ 2.การออกกฎหมายต้องใช้บังคับเป็นการทั่วไป จะบังคับใช้กับคนเดียวๆ หรือบางกลุ่มไม่ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญในมาตรา 29 และ 3.ในมาตรา 30 กำหนดไว้ว่า กฎหมายต้องไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะสถานะของบุคคล ฟันธงเลยผู้ใช้จ้างวาน ผู้โฆษณาก่อให้เกิดความผิด ถ้าจะมีการนิรโทษกรรมจะต้องไปทั้งยวง ดังนั้น การนิรโทษกรรมจะยกเว้นให้ใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ หากออกกฎหมายแล้วยกเว้นแกนนำจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 30 เรื่องนี้หากจะวินิจฉัยไม่ยากเลย

จากนั้นได้มีการเสวนาในหัวข้อ “วิพากษ์กฎหมายไทยเป็นที่พึ่งของประชาชนได้หรือไม่” นายแก้วสรร อติโพธิ แกนนำไทยสปริง กล่าวว่า กฎหมายไทยเป็นที่พึ่งของประชาชนได้หรือไม่ เป็นเรื่องของกฎหายมหาชน บ้านเราไม่เคยมีศาลรัฐธรรมนูญ พอตั้งศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ ตรวจสอบว่า สภาออกกฎหมายขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ประเทศไทยนั้นกำลังเกิดการบ้าอำนาจ เสียงข้างมากไม่ยอมอยู่บนความถูกต้อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเสียงข้างมากทำอะไรได้หลายอย่างใช่หรือไม่ ซึ่งตอนนี้มีปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ปัญหากฎหมายการเงิน การจะสร้างเมกะโปรเจกต์และปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่โปร่งใส ในส่วนของโครงการบริหารจัดการน้ำ หลังจากที่อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญออกมาชี้ให้เห็นแล้วในหลายๆ ประเด็นที่รัฐบาลกำลังทำผิดกฎหมาย ดังนั้นเราจะดำเนินตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป อย่างเช่นเรื่องโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน ก็จะนำไปฟ้องศาลปกครอง ส่วนในประเด็นอื่นก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าจะอยู่ในอำนาจศาลใด

ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า กฎหมายไทยเป็นที่พึ่งของประชาชนไม่ได้ โดยตนอยากให้กลไกการตรวจอำนาจรัฐเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพื่อหยุดยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ตนอยากเสนอให้ ป.ป.ช.ทำเป็น 2 แบบ เป็นคดีพิเศษ เพื่อให้การพิจารณาไม่เป็นไปอย่างล่าช้าในปัจจุบัน ส่วนองค์กรศาลเห็นว่ายังพึ่งได้ แต่อยากเพิ่มช่องทางให้ประชาชนยื่นต่อศาลได้มากขึ้น อย่างโครงการบริหารจัดการน้ำ ความจริง ในคณะกรรมาธิการตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล เราก้มีข้อมูลว่า การจัดซื้อจัดจ้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็กำลังพิจารราอยู่ว่าถ้าไปยื่นตรงต่อศาลปกครองจะรับไว้วินิจฉัยหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีการยื่นคดีบริหารจัดการน้ำจากบุคคลทั่วไป ศาลก็ไม่รับ ที่รับ และมีคำวินิจฉัยกรณีที่สมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อน เพราะว่าสมาคมมีการขึ้นทะเบียนในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างไรก็ตามเห็นว่าองค์กรที่ทำหน้าที่ถ่วงดุลรัฐบาลยังมีความล่าช้าในการวินิจฉัยคดีมีแต่การรับเรื่องแต่ไม่มีผลออกมา หรือบางครั้งก็ไม่ทันกับความเสียหายที่เกิดขึ้นไปแล้ว

















กำลังโหลดความคิดเห็น