“ราษฎรอาวุโส” บรรยายสร้างสังคมสันติสุข บอกไทย 81 ปี มี รธน.18 ฉบับก็ยังฆ่ากันตาย แถมมีพระเป็นแสนก็ยังฆ่ากันสูงกว่าชาติตะวันตก หนุนจิตสำนึกพลเมือง กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จวก ศธ.สอนจิตสาธารณะแบบท่องจำ หนุนปฏิรูปการเมืองหลายด้านช่วยกันทำ เอาประชาชนเป็นหลักนำ เน้นสามระดับ เสนอแผนสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา เอาแนวคิดแต่ละกลุ่มโยงสู่ที่ประชุมที่นายกฯ เป็นประธานไปปฏิบัติ แต่รับยาก ตั้ง 5-10 ปีถึงสำเร็จ ต้องใช้สติปัญญา
วันนี้ (5 ก.ย.) สถาบันพระปกเกล้าได้จัดงานสัมมนาเนื่องในโอกาสครบรอบวันสถาปนาสถาบันพระปกเกล้า 15 ปี โดย นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นประธานในการเปิดสัมมนา พร้อมทั้งบรรยายพิเศษเรื่องการสร้างสังคมสันติสุข ว่าเราต้องการเห็นบ้านเมืองที่มีการเมืองดี เศรษฐกิจดี และศีลธรรมดี เพราะจากเศรษฐกิจที่เราพัฒนาเกิดช่องว่างมากขึ้น เกิดปัญหาสังคมมาก ขณะที่การเมืองที่เรามีการพัฒนาประชาธิปไตยมา 81 ปี รัฐธรรมนูญ 18 ฉบับก็ยังมีการฆ่ากันตาย เรามีพระกว่า 2 แสนรูป แต่ศีลธรรมก็ยังไม่ดี การฆ่ากันยังสูงกว่าประเทศในยุโรปและอเมริกา สิ่งที่พระสอนมายังพัฒนาศีลธรรมไม่ได้ ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้การเมือง เศรษฐกิจและศีลธรรมดี เพื่ออนาคตประเทศนั้น สังคมจะต้องเข้มแข็ง ที่มีองค์ประกอบ คือ มีจิตสำนึกพลเมือง นึกถึงความรับผิดชอบต่อส่วนรวม มีการรวมตัว ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ก็จะให้ประชาชนประสบความสำเร็จและมีความสุข
นพ.ประเวศกล่าวว่า นอกจากนี้คือการกระจายอำนาจ เพราะหากอำนาจกระจุกตัว สังคมจะอ่อนแอ ขัดแย้งทางวัฒนธรรมท้องถิ่น อย่างเช่นกรณีความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การรวมศูนย์อำนาจทำให้การคอร์รัปชันมากขึ้น การเมืองรุนแรง หากกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การสู้กันจะไม่รุนแรง การรัฐประหารจะทำไม่ได้
“การสนับสนุนสังคมให้เข้มแข็งมีเครื่องมือเยอะ หากเข้าใจ หากรัฐเข้ามาส่งเสริม มีงบฯสนับสนุน ซึ่งการศึกษาที่ผ่านมา 100 ปี ไม่ได้สร้างบุคลิก ในเรื่องความสุจริต จิตสาธารณะ เอาแต่ท่องอย่างเดียว” นพ.ประเวศกล่าว
นพ.ประเวศยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีแนวทางปฏิรูปการเมืองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเวลาที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้ริเริ่ม ทำให้เกิดกระแสที่จะได้นำไปพัฒนา ในการจัดเวทีปฏิรูปการเมืองนั้นย่อมมีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน แต่อย่าระบุเรื่องความจริงใจหรือไม่จริงใจ เมื่อเกิดเป็นประเด็นทางการเมืองก็ต้องช่วยกันแก้ไขให้เป็นกระบวนการสาธารณะ เพื่อที่จะให้คนเข้าร่วมจำนวนมากๆ ช่วยกันคิดช่วยกันทำในหลายๆ ด้าน แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น ไม่ใช่ไปถามในเรื่องจริงใจหรือไม่จริงใจ เพราะเรื่องเหล่านี้เราไม่รู้เพราะเป็นนามธรรม ซึ่งเราควรจะใช้สิ่งนี้เป็นโอกาส
นพ.ประเวศกล่าวว่า ประเทศไทยมีประสบการณ์ในเรื่องการปฏิรูปมาหลายครั้ง ซึ่งการที่ไม่ค่อยสำเร็จเพราะมันปฏิรูปอยู่แต่ที่คนข้างบน แต่คราวนี้ต้องเอาคนข้างล่าง คือประชาชนเข้ามา ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปการเมืองหรือการปฏิรูปประเทศไทยก็แล้วแต่ แต่ประชาชนจะต้องเป็นผู้ปฏิรูป
“การปฏิรูปที่ผ่านมาเรารู้ เพราะชาวบ้านบอกเลยว่าการปฏิรูปที่จะสำเร็จไม่ใช่นายอานันท์ ปันยารชุน หรือหมอประเวศ แต่ประชาชนเป็นผู้ปฏิรูป ซึ่งประชาชนจะปฏิรูปใน 3 ระดับ คือ การปฏิรูปตัวเอง การปฏิรูปในระดับองค์กร และการปฏิรูปในระดับนโยบาย เพราะฉะนั้น ในการปฏิรูปคราวนี้ที่ผมเสนอคือ ให้ทำสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา คือทำในเรื่องยากๆ โดยฝ่ายการเมืองเป็นคณะกรรมการปฏิรูป มีนายกฯ เป็นประธาน และมีเครือข่ายประชาชน กลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ อย่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็พูดถึงเรื่องนี้มานานแล้วว่าต้องการปฏิรูปประเทศไทย ตอนนี้ นปช.ก็พูด พรรคเพื่อไทย คุณภูมิธรรม เวชยชัย ก็พูด ที่กำลังชุมนุมที่สวนลุมฯ ก็พูดถึงปฏิรูปประเทศไทย ประชาธิปัตย์ก็กำลังเดินสายว่าจะปฏิรูประเทศไทย ตกลงมันกำลังเคลื่อนมา แม้ต่างคนต่างทำก็ไม่เป็นไร
นพ.ประเวศกล่าวอีกว่า ซึ่งจุดนี้ก็คือเครือข่ายประชาชน ใครๆ ก็มีส่วนร่วมตรงนั้นได้ จะชอบหรือไม่ชอบรัฐบาลก็ร่วมตรงนี้ได้ แล้วให้เข้ามาเชื่อมโยงกัน เมื่อคิดอะไรดีๆ ก็ให้เชื่อมโยงไปสู่คณะกรรมการปฏิรูปที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการฯ นำไปปฏิบัติ ซึ่งเป็นความต้องการของประชาชนจะทำได้ง่ายกว่านักการเมืองที่จะมีผู้คัดค้าน เราจึงต้องช่วยกันทำให้เป็นกระบวนการสาธารณะ การที่พรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่เข้าร่วมคณะกรรมการปฏิรูป แต่ไปเดินสายของตัวเอง สุดท้ายจะไปเชื่อมโยงกันเอง
นพ.ประเวศยังเห็นว่า การปฏิรูปการเมืองเป็นเรื่องยากที่คงไม่สำเร็จโดยง่าย อาจต้องใช้เวลา 5-10 ปีถึงจะเห็นผล ซึ่งต้องใช้สติปัญญา ใช้ข้อมูล ความรู้ ไม่ใช้ความโกรธ ความเกลียดกัน เพราะสังคมจะไปได้ต้องใช้สติปัญญา