xs
xsm
sm
md
lg

ขวางชำเรารัฐธรรมนูญ “ที่มาส.ว.” ยื่น “ศาลรธน.”ไม่หวั่น-แต่กลัวช้า

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณา “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา”ในส่วนเกี่ยวกับเรื่อง “ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา” ให้มีส.ว.มาจากการเลือกตั้ง 200 คน ผิดไปจากแผนเดิมที่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภาสายเลือกตั้งวางไว้มาแล้วหนึ่งสัปดาห์ และยังไม่รู้ว่าผลสุดท้ายจะออกมาแบบไหน

จนทำให้ส.ว.เลือกตั้งหลายคนซึ่งจะพ้นจากส.ว.หลังวันที่ 2 มีนาคม2557 และส่วนใหญ่กระสันอยากจะลงสมัครส.ว.อีกสมัย ตามประตูที่ร่างแก้ไขรธน.ฉบับที่รัฐสภากำลังพิจารณากันอยู่ในเวลานี้เปิดเอาไว้ให้

ส.ว.เหล่านั้นชัก”ร้อนใจ-อยู่ไม่เป็นสุข”กันแล้ว

เพราะหวั่นเกรงกันว่าหากกระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าว ยังคงดำเนินไปแบบเรื่อยๆ ไม่สามารถรู้จุดหมายปลายทางที่แน่นอน จากที่คิดว่าประชุมกันจะเปิดให้อภิปรายกันเต็มที่ ประมาณยังไงเสียก็ไม่น่าจะเกินสัปดาห์ก่อนหน้านี้คือน่าจะลงมติกันทุกมาตราในร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าววาระ 2 ไม่เกิน 22 สิงหาคม

แต่ล่าสุดประชุมกันไปถึงเมื่อประมาณ 22.30 น.ของคืนวันพุธที่28 สิงหาคม ปรากฏว่าที่ประชุมเพิ่งจะลงมติผ่านไปได้แค่มาตรา 3จากที่มีอยู่ทั้งสิ้น 13มาตรา

ถือว่าเดินไปช้ากว่าที่วิปรัฐบาล-วิปวุฒิสภา คาดการไว้มากมายนัก เลยมีข่าวส.ว.เลือกตั้งหลายคนชักร้อนใจ ต้องประสานไปยังวิปรัฐบาลให้นัดประชุมร่วมรัฐสภากันให้เต็มที่ ยังไงก็อยากให้เสร็จวาระ2 โดยเร็วที่สุดไม่ควรเกินต้นเดือนกันยายนนี้

สำหรับภาพเหตุการณ์การประชุมร่วมรัฐสภา 3 วัน 3 คืนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตั้งแต่ 26-28 สิงหาคมที่ผ่านมา แม้ภาพรวมจะเรียบร้อยดี ไม่มีเหตุวุ่นวายอะไรแบบสัปดาห์ก่อนหน้านี้ แต่ก็มีการเชือดเฉือนคารมการอภิปรายอย่างเผ็ดร้อนของสองฝั่งในที่ประชุมร่วมรัฐสภาที่แบ่งค่ายกันชัดเจน

ฝั่งแรกคือส.ว.สรรหาโดยเฉพาะกลุ่ม 40 ส.ว. ซึ่งมีส.ว.เลือกตั้งบางส่วนมาร่วมแจมด้วย จับมือกันกับส.ส.ประชาธิปัตย์คัดค้านร่างแก้ไขรธน.ที่มาส.ว.กันอย่างเต็มที่ โดยมุ่งเน้นอภิปรายชี้ให้เห็นว่า

ข้อเสียของร่างแก้ไขรธน.ฉบับนี้ที่ให้มีแต่สว.เลือกตั้ง ยกเลิกส.ว.สรรหา จะทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจการเมืองในฝ่ายนิติบัญญัติมากขึ้น จะมีการรุกคืบสภาสูงของพรรคการเมืองใหญ่บางพรรคที่เริ่มมีข่าวว่าเตรียมส่งคนลงเลือกตั้งส.ว.กันแล้ว เพื่อให้คนของตัวเองได้เข้ามาเป็นส.ว.ให้มากที่สุดจะได้ยึดกุมทั้งสภาล่างและสภาสูง

ส่วนอีกฝั่งคือ ส.ว.เลือกตั้ง ที่มีตัวหลักอย่าง กฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร -ประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธุ์ ส.ว.ขอนแก่น จับมือกับส.ส.เพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล ชนกับกลุ่มส.ว.สรรหาและประชาธิปัตย์ ด้วยการอภิปรายหนุนร่างแก้ไขรธน.ที่มาสว.อย่างเต็มที่ว่าคือการคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกส.ว.

ชี้ว่า ดีกว่าจะมอบอำนาจให้คน 7 คนที่เป็นกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภามาเลือกส.ว.สรรหากันถึง 74 คน โดยพบว่าหลายช่วงตอนของการอภิปราย พวกฝั่งนี้ จะอภิปรายกระทบกระเทียบฝั่งประชาธิปัตย์และส.ว.สรรหาต่อเนื่อง จนหลายช่วงตอนมีการอภิปรายเสียดสีกันอย่างเผ็ดร้อน

เพราะส.ว.เลือกตั้งเองก็มองว่าประชาธิปัตย์และส.ว.สรรหาจับมือกันเพื่อหวังจะลากยาวร่างแก้ไขรธน.ฉบับนี้ออกไปให้นานที่สุด เลยทำให้ส.ว.เลือกตั้งไม่พอใจเพราะเกรงหากชักช้าจะไม่ทันการกับการจะลงส.ว.อีกสมัยในเดือนมีนาคม

เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลและส.ว.เลือกตั้ง แม้จะมั่นใจว่าต่อให้ร่างแก้ไขรธน.ฉบับนี้ ลากยาวอย่างไร แต่ก็ไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน จากนั้นพอลงมติวาระ 2เสร็จทุกมาตรา ก็ต้องเว้นออกไปอีก 15 วัน เพื่อนัดประชุมร่วมรัฐสภาในวาระ 3 อันเป็นการโหวตเห็นชอบ-ไม่เห็นชอบกับร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวทั้งฉบับ

ที่เสียงข้างมากไม่มีปัญหาอยู่แล้ว ผ่านฉลุยแน่นอนในวาระ 3

หากเป็นไปตามนี้ ร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวก็จะไปเสร็จในช่วงไม่เกินปลายเดือนกันยายน จากนั้นก็รอเข้าสู่ขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป แล้วต่อจากนั้นก็ต้องไปจัดการแก้ไขพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว.พ.ศ. 2551 อีก

โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นเจ้าภาพไปยกร่างให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันหลังรธน.มีการประกาศใช้ แล้วก็ส่งมาให้สภาผู้แทนราษฏรและวุฒิสภาพิจารณาเห็นชอบภายในเวลาไม่เกิน 150 วัน ก็จะใช้เวลาอีกประมาณ 4-5 เดือน มันก็เฉียดๆ ประมาณกุมภาพันธ์ 2557 เข้าไปแล้ว แต่ก็ยังทันส.ว.เลือกตั้งที่จะหมดวาระ 2 มี.ค. 57 ได้ลงต่อแน่นอน

ทว่า มาถึงตอนนี้ ปรากฏ “เงื่อนไขใหม่”เข้ามาที่จะทำให้ร่างแก้ไขรธน.ฉบับนี้ออกมาไม่ทัน นั่นก็คือขั้นตอนในชั้น

”ศาลรัฐธรรมนูญ”

หลังจากที่ส.ส.ประชาธิปัตย์และส.ว.สรรหาหลายต่อหลายคนประกาศชัดจะมีการยื่นคำร้องให้ศาลรธน.วินิจฉัยร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าว ขัดรธน.หรือไม่ หลังรัฐสภาโหวตเห็นชอบร่างดังกล่าวในวาระ 3 ช่วงเดือนกันยายน

ขณะที่มีบางคนเสนอว่าควรยื่นศาลรธน.ในช่วงหลังรัฐสภาโหวตเห็นชอบวาระ 2 จะดีกว่า โดยนอกจากยื่นให้วินิจฉัยคำร้องแล้วยังจะขอให้ศาลรธน.ออกคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินไม่ให้รัฐสภาโหวตร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวในวาระ 3 ด้วย

กระนั้น ดูแล้วก็เชื่อว่าความเป็นไปได้ในประเด็นหลังคือการขอให้ศาลรธน.มีคำสั่งให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภายุติการโหวตวาระ 3 ออกไปก่อนจนกว่าศาลรธน.จะมีคำวินิจฉัยคดีนี้ออกมา มีความเป็นไปได้น้อยมาก

เพราะศาลรธน.ย่อมไม่อยากใช้อำนาจตัวเองไปออกคำสั่งกับฝ่ายนิติบัญญัติให้ระงับการโหวตวาระ 3 เนื่องจากจะถูกมองว่าศาลรธน.ไปขยายอำนาจตัวเองไปถึงฝ่ายนิติบัญญัติ

หากศาลรธน.รับ “เผือกร้อน”ไปทำแบบนั้น มันก็คือการเปิดศึกใหญ่กับฝ่ายการเมืองแน่นอน เพราะเชื้อเดิมที่มีอยู่จากคดีคำร้องมาตรา 291 ก็ยังค้างคาใจกันอยู่ จนทำให้จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการลงมติวาระ 3 ในร่างแก้ไขมาตรา 291 เช่นเดียวกับก็มีคดีค้างคาใจกันอยู่ระหว่างส.ว.เลือกตั้ง-ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลหลังศาลรธน.รับคำร้องคดีแก้ไขมาตรา 68 ในเวลานี้

หากศาลรธน.มาขยายอำนาจตัวเองถึงฝ่ายนิติบัญญัติอีกรอบ มาบอกไม่ให้สมาชิกรัฐสภาโหวตวาระ 3 คงได้เห็นพวกส.ว.เลือกตั้ง-ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลประกาศแตกหักกับศาลรธน.แน่นอน

จึงเชื่อว่า อย่างมากหากมีการยื่นในช่วงหลังโหวตวาระ 2 ศาลรธน.ก็แค่รับคำร้องไว้ก่อนเท่านั้น ไม่ถึงกับจะมาห้ามไม่ให้รัฐสภาโหวตวาระ 3 เพื่อรอคำวินิจฉัยคดีของศาลรธน.แน่นอน

ส่วนที่ว่าฝ่ายส.ส.ประชาธิปัตย์กับส.ว.สรรหา จะยื่นคำร้องต่อศาลรธน.ในช่วงก่อนหรือหลังโหวตวาระ 3 ต้องรอดูท่าทีกันอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ หากศาลรธน.ใช้กระบวนการพิจารณาคดีตามปกติ ไม่ได้จัดให้เป็นเรื่องเร่งด่วน และยังจะเรียกพยานบุคคลอะไรต่างๆมาไต่สวน โดยไม่มีการระบุให้ชัดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จเมื่อใด หากเป็นเช่นนี้ พวกส.ว.เลือกตั้ง ได้เต้นกันยกใหญ่แน่นอน เพราะพวกส.ว.เลือกตั้ง ก็ต้องลุ้นหนักว่ากระบวนการทั้งหมดในชั้นศาลรธน. จะเสร็จทันหรือไม่ทันกับการให้ส.ว.เลือกตั้งชุดนี้ได้ลงสมัครส.ว.อีกรอบ

หากทันก็สบายไป แต่ถ้าไม่ทัน ส.ว.เลือกตั้งก็ขาดทุนป่นปี้

จึงไม่แปลกที่ทำไม “นิคม-ส.ว.เลือกตั้ง”ระยะหลังจึงเร่งอย่างมากในการดันร่างแก้ไขรธน.ฉบับที่มาส.ว.ให้ขั้นตอนทุกอย่างเสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด

ส่วนประเด็นที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรธน.ให้วินิจฉัย เท่าที่เปิดเผยกันมาจากฟากสว.สรรหาและส.ส.ปชป. พบว่าพวกที่คิดดำเนินการยังไม่ตกผลึกกันให้ชัดเจน

แต่หลักๆ ก็คงไม่พ้นประเด็นว่าการแก้ไขรธน.ให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทำให้ระบบตรวจสอบโดยวุฒิสภาหายไปเพราะถูกการเมืองครอบงำ จึงเป็นการแก้ไขรธน.ที่น่าจะขัดรธน.มาตรา 68 ที่ถือว่าเข้าข่ายมีเจตนาล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย

รวมถึงยื่นในประเด็นว่าการลงมติของส.ว.ที่ร่วมกันเห็นชอบร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวอาจเป็นการกระทำผิดรธน.มาตรา 122 ซึ่งเป็นบทบัญญัติไม่ให้สส.และ ส.ว. กระทำการที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ดังนั้นการที่ส.ว.เลือกตั้งซึ่งจะได้ประโยชน์โดยตรงกับร่างแก้ไขรธน.ฉบับนี้ แต่กลับไปร่วมลงมติเห็นชอบร่างรธน.ดังกล่าวตั้งแต่วาระรับหลักการจนถึงวาระ 2 จึงเป็นการกระทำที่ขัดมาตรา 112 ของรธน.

แต่ถามว่า ฝ่ายรัฐบาลและส.ว.เลือกตั้ง กังวลใจหรือไม่ หากมีการยื่นคำร้องไปที่ศาลรธน.ก็พบว่าคงมีความกังวลกันบ้างแต่ก็ยังมีข้อต่อสู้

เหตุเพราะร่างดังกล่าวเป็นการยื่นแก้ไขรธน.รายมาตรา ตามคำแนะนำของศาลรธน.ที่เคยให้คำแนะนำไว้ก่อนหน้านี้ตอนตัดสินคดีมาตรา 291 เมื่อปี 2555 แถมขั้นตอนทุกอย่าง ส.ว.เลือกตั้งและส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลก็ทำตามรธน.

ที่สำคัญ มันยากต่อการพิสูจน์ว่าส.ว.เลือกตั้งที่ร่วมลงมติร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวจะได้ประโยชน์ได้อย่างไร เนื่องจากหากมีการยื่นคำร้องไป ก็ไม่ใช่ช่วงเลือกตั้งส.ว. ที่จะไปเริ่มมี.ค. 57 แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าส.ว.เลือกตั้งคนไหนจะลงสมัครส.ว. ศาลรธน.จะไปรู้ได้อย่างไร จะมาให้ศาลรธน.ใช้วิธีเรียกส.ว.เลือกตั้งทุกคนมาสอบถามว่าจะลงสมัครอีกรอบหรือไม่ ก็เชื่อว่าศาลรธน.คงไม่ทำเช่นนั้น

อีกทั้งก็อย่าลืมว่าตอนสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีการแก้ไขรธน.มาแล้วที่เป็นการแก้ไขเรื่องเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง จากระบบพวงใหญ่เรียงเบอร์ มาเป็นวันแมนวันโหวต รวมถึงแก้ไขรธน.โดยยกเลิกส.ส.สัดส่วน กลับมาใช้ระบบบัญชีรายชื่อแบบปัจจุบัน ที่ก็เป็นการแก้เพื่อหวังประโยชน์ในการเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานั้น

ว่าไปแล้วมันเป็นตัวอย่างเรื่องแก้รธน.เพื่อประโยชน์ทางการเมืองที่ชัดกว่าการแก้รธน.ครั้งนี้ด้วยซ้ำ

ด้วยเหตุผลเช่นนี้ ส.ว.เลือกตั้งทั้งหลาย จึงหาได้กังวลกับคดีในชั้นศาลรธน.ที่จะเกิดขึ้น แต่ห่วงหากขั้นตอนทุกอย่างล่าช้า-ติดขัดไปหมด สุดท้าย จะลงเลือกตั้งไม่ทันมีนาคม 57 มากกว่าเป็นไหนๆ

กำลังโหลดความคิดเห็น