ผ่าประเด็นร้อน
ถ้าพิจารณากันตามตารางเวลาการชุมนุมของหลากหลายกลุ่มที่เป็นภาคประชาชนต่อต้าน "ระบอบทักษิณ" ก็ต้องบอกว่าเริ่มมาตั้งแต่เมื่อวันพุธที่ 31กรกฎาคมเป็นต้นมาแล้ว ส่วนจะต่อเนื่องหรือไปสิ้นสุดกันวันไหนนั้นนาทีนี้ยังไม่อาจประเมินได้ แต่เอาเป็นว่าเมื่อคาดคะเนเอาจากความเคลื่อนไหวที่ผ่านมารวมไปถึงความรู้สึกของชาวบ้านที่ไม่พอใจทั้งรัฐบาล "หุ่นเชิด"นำโดย นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ผลงานห่วยแตก ล้มเหลวในทุกเรื่อง กับ"เจ้าของ"รัฐบาล คือ ทักษิณ ชินวัตร ที่นับวันยิ่งน่ารังเกียจมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เชื่อมั่นว่าวันดีเดย์ที่เริ่มกันตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม หรือวันที่ 4 สิงหาคมเป็นต้นไปน่าจะมีมวลชนหลายกลุ่มเข้าร่วมในปริมาณมากพอดู
เพราะเมื่อวัดจากปฏิกิริยาตื่นตัวของฝ่ายรัฐบาล ที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงในบางพื้นที่ครอบคลุมสถานที่สำคัญของรัฐบาลและรัฐสภา ก็ต้องเข้าใจว่า "คราวนี้ไม่ธรรมดา"
ไม่ธรรมดาทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาลที่คราวนี้ก็ต้องบอกว่า "มีเดิมพันสูง" ทั้งที่เป็นอำนาจรัฐที่ต้องยึดกุมเอาไว้ในมือของ"ครอบครัวชินวัตร"เอาไว้ให้ได้ อย่างน้อยก็เป็นหลักประกันในเรื่องการขยายอำนาจต่อยอดทางธุรกิจเพื่อสร้างความร่ำรวยกันต่อไป รวมไปถึงบรรดากลไกข้าราชการที่อาสาเข้ามารักษาอำนาจให้กับครอบครัวของ ทักษิณ เพื่อแลกกับตำแหน่งหน้าที่ของตัวเองที่คงอยู่คู่กันไปอีกนานเท่านาน
ขณะที่อีกฝ่ายคือภาคประชาชน ที่คราวนี้อาจจะ"พิเศษ"ตรงที่ว่ากันว่ามีพรรคฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์ สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งหากพูดกันแบบรู้กันก็ต้องหมายถึง สุเทพ เทือกสุบรรณ และทีมงานที่เป็นระดับ "ขาใหญ่"คนหนึ่งคอย "เป่านกหวีด" ให้ออกมานอกสภาอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรก แม้ว่าความหมายของคำว่าเปิดเผยที่ว่าเป็นการเดินออกมาในฐานะ สส. แต่อาจจะมาในแบบข้ออ้างที่ว่าเป็นชาวบ้านคนหนึ่งที่มีความเข้าใจเห็นใจกัน แม้จะไม่ใช่เป็นการ "ถอดสูท"พับแขนเสื้อเดินนำหน้า แต่ก็ต้องบอกว่าคราวนี้ "เลี่ยงไม่ออก"เป็นเหมือนไฟท์บังคับต้องเดินหน้าชนลูกเดียว เพราะถึงเวลาแล้วที่พรรคประชาธิปัตย์จะ"ต้องเลิกเหนียม"ลุยให้ขาดกันเสียที
เพราะถ้ามัวแต่เก้ๆกังๆจะบุกก็ไม่บุก จะถอยก็ไม่ยอมถอย นาทีนี้ระดับแกนนำระดับหัวแถว ทั้ง สุเทพ เทือกสุบรรณ และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องเปิดหน้าชกลุยเอง มันถึงจะได้ใจมวลชน และถ้าเป็นไปได้ก็ให้ "ทิ้งไพ่"นำทีมลาออกจาก สส.เดินนำหน้าให้รู้ดำรู้แดงกันไปเลย ถ้าทำแบบนี้รับรองว่าศึกนี้มีความหมาย ขณะเดียวกันหากเป็นไปได้ก็ให้ประกาศไปเลยว่าพวกเขาสนับสนุนการปฏิรูปการเมืองกันอย่างขนานใหญ่ โดยภาคประชาชนเป็นตัวขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย นั่นคือ"ทุกอำนาจ"จะต้อง"ถูกตรวจสอบ" อย่างเข้มข้นรวมทั้วมีการถ่วงดุลกันอย่างแท้จริง ซึ่งในอนาคตหากมีกระบวนการปฏิรูปเกิดขึ้นก็ต้องมีการระดมความคิดเห็นจากภาคประชาชนเป็นหลัก
อย่างไรก็ตามเรื่องการปฏิรูปนาทีนี้ยังคงเป็นเพียงแค่ความฝัน แต่ถ้าเป็นเรื่องเฉพาะหน้าสำหรับประชาชนที่ออกมาแม้ว่าจะมีหลากหลาย แต่ก็มีเป้าหมายเดียวกันคือต้องการขับไล่ระบอบทักษิณให้สิ้นไป ส่วนกลไกของพรรคประชาธิปัตย์ที่มี อภิสิทธิ์-สุเทพ เป็นหลักก็คงมีความหวังลึกๆว่าอาจจะมีการ "เปลี่ยนขั้ว" อย่างไรก็ดีเชื่อว่าในฐานะส่วนตัวหลายคนคงให้กำลังใจให้ทำให้สำเร็จ อย่างน้อยมันก็อาจทำให้การเมืองได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปได้บ้าง ที่สำคัญการออกมาคราวนี้น่าจะเป็นการ "วัดพลัง"ของฝ่ายต่อต้าน ระบอบทักษิณ ที่"ไม่ใช่ไทยเฉย"นั้นมีจำนวนเท่าใดกันแน่ แต่เมื่อประเมินจากอาการของฝ่ายรัฐบาลที่เตรียมรับมือกันเต็มพิกัด ชนิดที่เดากันว่าน่า "จัดหนัก"กว่าเมื่อครั้ง"ม็อบเสธ.อ้าย"พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ในนามองค์การพิทักษ์สยาม แม้ว่าคราวนี้ดูภายนอกอาจะไม่โฉ่งฉ่างแบบเดิม แต่รับรองว่ามีการเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ไว้เต็มพิกัด มิหนำซ้ำยังมีการซ้อม "ทุบ-ยิง"แก๊สน้ำตากันอย่างเงียบเชียบ ขณะเดียวกันตัวบุคคลฝ่ายปฏิบัติการก็ยังเป็นคนเดิมคือพล.ต.อ.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ที่สามารถยื้อเก้าอี้ในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลได้อีกเฮือกใหญ่ แลกกับภารกิจรับมือม็อบนั่นเอง ถ้าทำเร็จเชื่อว่าคงจะมีบำเหน็จตอบแทนให้อย่างงาม
ดังนั้นถ้าสรุปให้เห็นภาพการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนครั้งนี้ถือว่ามีความเป็นพิเศษมากกว่าครั้งก่อนๆนั่นคือมีมวลชนเข้าร่วมแบบหลากหลาย เป็นลักษณะ "รวมหมู่" แต่อย่างไรก็ดีก็ต้องจับตาดูว่าท่าทีล่าสุดของประชาธิปัตย์คือตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคมต่อเนื่องกันไปว่าจะเป็นอย่างไร "มีความชัดเจนในรูปแบบไหน" เพราะสำหรับนาทีนี้สำหรับเนื้อหากลลวงในร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เชื่อว่าแทบทุกคนคงเข้าใจกันดีแล้วว่าเป็นการ "อำพราง"เพื่อช่วยเหลือ ทักษิณ ชินวัตร ให้พ้นผิดในบั้นปลาย ไม่ต้องมาอธิบายกันแล้ว และการชุมนุมคราวนี้ถือว่าเป็น "ตัวแปร"สำคัญก็คือว่าจะยอมเปิดหน้าชกกันจะจะ จะกล้าเล่น "สองขา"เหมือนกับที่พรรคเพื่อไทยและระบอบทักษิณ ใช้อยู่ทั้งในและนอกสภาในเวลานี้หรือไม่ !!