อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน
ผ่านไปแล้ว 1 ยก กับความพยายามของรัฐบาลที่จะให้ร่างแก้ไข รธน.ประเด็นที่มาของ ส.ว.ผ่านวาระ 2-3 ในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา ก่อนจะต่อยก 2 ในสัปดาห์หน้า โดยเมินเสียงคัดค้านไม่ว่าจะในหรือนอกสภา ไม่สนแม้กระทั่งว่าการแก้ไขครั้งนี้จะนำไปสู่ “สภาผัวเมีย” เหมือนยุคหลังปี 40 ...ก่อนที่วุฒิสภาจะกลายเป็น “สภาทาส” ของฝ่ายการเมือง เรามาตอกย้ำความอัปยศของนักการเมืองยุคนี้กันอีกครั้ง
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.ในวาระ 2 ได้สร้างความปั่นป่วนไปทั้งสภา เมื่อวันที่ 20 ส.ค.หลังสภาเสียงข้างมากตัดสิทธิ ส.ส.-ส.ว.57 คนไม่ให้อภิปรายสิ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขประเด็นดังกล่าว โดยอ้างว่าจะอภิปรายขัดกับหลักการไม่ได้ แต่สุดท้ายเมื่อการปิดกั้นทำให้การพิจารณาเดินหน้าต่อไม่ได้ ที่ประชุมฯ จึงกลับลำยอมคืนสิทธิอภิปรายให้ทั้ง 57 คนดังกล่าว โดยหลังประชุมไปได้ 3 วัน (20-22 ส.ค.) ปรากฏว่า ลงมติไปได้ 2 มาตรา ส่วนที่เหลืออีก 11 มาตรา จะมีการประชุมพิจารณาต่อในวันที่ 27 ส.ค.
สำหรับการเสนอแก้รัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.ของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลในครั้งนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากหลายฝ่ายในสังคม เพราะจะเป็นการย้อนยุคกลับไปช่วงที่ใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่ฝ่ายบริหาร ซึ่งกุมอำนาจเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร สามารถครอบงำสภาสูง หรือวุฒิสภาได้ เนื่องจาก ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ไม่ได้มี ส.ว.สรรหาด้วยดังที่รัฐธรรมนูญ 2550 ระบุ ส่งผลให้ ส.ว.ที่ได้รับเลือกตั้งส่วนใหญ่ ต้องมีฐานเสียง ทำให้หนีไม่พ้นต้องเป็นคนของพรรคการเมือง สุดท้ายสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จึงถูกสังคมตราหน้าว่าเป็น “สภาผัวเมีย”
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ยืนยันว่า รับไม่ได้กับการแก้รัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.ครั้งนี้ เพราะไม่ใช่แค่การเปลี่ยนที่มา ส.ว.เป็นแบบเลือกตั้งอย่างเดียว แต่มีการแก้เพิ่มอีกหลายประเด็น ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงตามมา
“มันไม่ได้แก้ไขที่มาของ ส.ว.อย่างเดียว คือถ้าแก้ไขเป็นมาจากการเลือกตั้ง 200 คน เหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างเดียว ผมว่ายังพอฟัง ยังพอพูดคุยกันได้ ทีนี้ เริ่มแรกก็ไปเพิ่มเสียแล้วว่า ไปปลดล็อกให้ ส.ว.เลือกตั้งชุดปัจจุบัน ก็คือสามารถเป็นต่อเนื่องได้ ลงสมัครต่อเนื่องได้ แต่ว่าเอาเข้าจริง พอไปฉบับกรรมาธิการฯ ในการพิจารณาของกรรมาธิการฯ มันมีเพิ่มเติมมาอีก 2-3 ประเด็นสำคัญ 1.ไปฟื้นสภาผัวเมีย แต่เดิมคนจะลงสมัคร ส.ว.ได้ ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือเป็นแต่พ้นมาแล้ว 5 ปี ต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง หรือเป็นแต่พ้นมาแล้ว 5 ปี ต้องไม่เป็น ส.ส.หรือเป็นแต่พ้นมาแล้ว 5 ปี ต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น หรือเป็นแต่พ้นมาแล้ว 5 ปี เขาไปตัดออกเลย มันก็เท่ากับว่าจากนี้ไป พ่อ-แม่-ลูก-ผัว-เมีย ของ ส.ส.ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงสมัครได้หมดทันที การแก้ไขที่มาของ ส.ว.เนี่ย มันจึงเป็นการแก้ไขโครงสร้างทางการเมืองครั้งสำคัญ ที่จะทำให้ระบบกำกับตรวจสอบและที่มาขององค์กรอิสระตามที่รัฐธรรมนูญ 2550 เขาบัญญัติไว้ ที่พยายามจะให้ห่างจากการเมืองมากที่สุด ที่พยายามจะให้ที่มาขององค์กรอิสระมีลักษณะที่ไม่เป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองมากที่สุด ไม่ได้แปลว่าจะทำสำเร็จนะ แต่อย่างน้อยก็เป็นความพยายามที่จะสร้างมาตรการป้องกัน มันจึงถูกลบไปสิ้น”
“อันนี้คือสิ่งที่พี่น้องประชาชนต้องเข้าใจว่ามันมีอะไรที่มากกว่าแก้ไขให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มันกระทบสิ่งอื่นที่ผมคิดว่ามีความใหญ่หลวงมากกว่านั้น อย่าลืมนะครับ องค์กรอิสระต่างๆ ชุดปัจจุบัน เวลาเหลือน้อยลงเต็มทีแล้ว ใกล้ๆ จะสิ้นอายุ อย่าง กกต.หมดแล้ว ป.ป.ช.นี่นานหน่อย เพราะเขา 9 ปี องค์กรอื่นๆ ก็ทยอยๆ ใกล้จะหมดลง ถ้าไม่หมดทั้งองค์กร ก็หมดเพราะสถานะส่วนตัว คุณสมบัติส่วนตัว ครบอายุ 70 ก็ต้องหมดไป เราจะเห็นว่าจะเริ่มทยอยหมดไป เพราะฉะนั้นถ้าวุฒิสภาใหม่มีลักษณะที่มีโอกาสที่จะใกล้ชิดกับฝ่ายการเมืองที่จะทำตามความต้องการของฝ่ายการเมืองมากยิ่งขึ้น มันก็จะทำให้ต่อไปถึงแม้จะมีองค์กรอิสระอยู่ มันก็จะเป็นองค์กรอิสระที่ไม่เป็นความจริง มันก็จะเกิดสภาพเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540”
ด้านนายแก้วสรร อติโพธิ อดีต ส.ว.กทม.มองความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ของรัฐบาลในครั้งนี้ว่า เป็นไปเพื่อยึดวุฒิสภาให้ได้ ซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาออกมาบังคับใช้ จะส่งผลให้บ้านเมืองแย่กว่าช่วงหลังปี 2540 มาก เพราะช่วงนั้นระบอบทักษิณยังไม่หยั่งรากลึกมากเท่าตอนนี้
“มันก็ไม่ใช่เพื่อหลักการอะไร เพื่อการครองอำนาจของเขา ก็อ้างไปอย่างนั้น แต่จริงๆ เป็นเรื่องจะยึดวุฒิสภาให้ได้ (ถาม-ซึ่งก็น่าจะทำได้สำเร็จใช่มั้ย?) คือให้เปลื่ยนมาเป็นเลือกตั้งก็ว่าไป แต่นี่มาแก้ให้เป็น ส.ว.2 ครั้งได้ อะไรต่างๆ ได้ ตรงนี้มันมีประโยชน์ทับซ้อนอยู่ ก็คงมีปัญหาเหมือนกันแหละ พวกวุฒิฯ ที่ไปลงคะแนนทางโน้น คงมีปัญหาถึงศาลอ่ะ ไม่รู้จะออกรูปไหน (ถาม-นี่ถ้าผ่านสภา บ้านเมืองก็จะกลับไปเหมือนหลังยุคปี 40 ใช่มั้ย?) คราวนี้จะมากกว่า 40 ก็ยังมาซื้อที่หลัง ตอนเลือก ส.ว.นั่น ระบอบทักษิณมันยังไม่ได้หยั่งรากอะไร แล้วพวก...ซื้อแล้วมาจ่ายเงินเดือนหรือจ่ายตามจ๊อบทีหลัง แต่คราวนี้ ถ้าเขารู้ เขาเตรียมแผน เขาครองพื้นที่ไว้ก่อนแล้ว น่าจะแย่กว่าปี 40 นะ”
ส่วนจะมีใครทัดทานการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.ครั้งนี้ได้หรือไม่ นายแก้วสรร บอกว่า ถ้ารัฐบาลต้องการแก้รัฐธรรมนูญประเด็นนี้โดยอ้างว่ามีเสียงข้างมากแล้วจะทำอะไรก็ได้ ทั้งที่ความคิดกับความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง ก็ถือว่ารัฐบาลนี้เป็นประชาธิปไตยแต่เปลือกเท่านั้น ขณะที่บ้านเมืองก็ต้องเรียนรู้และต้องรับกรรมกันไป เพราะจะหางาช้างจากปากหมาได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้
ขณะที่ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสยาม มองการแก้รัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.ว่า โดยหลักการแล้วไม่มีปัญหา ส.ว.จะมาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งก็ได้ แต่ปัญหาอยู่ที่กระบวนการว่าจะทำอย่างไรให้ ส.ว.ไม่เกี่ยวข้องกับ ส.ส.ทำอย่างไรให้ ส.ว.ทำหน้าที่ตรวจสอบได้โดยไม่ผูกโยงกับผลประโยชน์ของ ส.ส.หาก ส.ว.มีผลประโยชน์ผูกโยงกับ ส.ส. จะมีความน่าเชื่อถือได้อย่างไรในการไปเลือกองค์กรอิสระ ดร.เจษฎ์ ยังชี้ด้วยว่า ในต่างประเทศไม่ค่อยมีปัญหาในเชิงกระบวนการเหมือนบ้านเรา
“อย่างสหรัฐฯ ส.ว.กับ ส.ส.ก็เป็นพี่เป็นน้องกัน เป็นเพื่อนกับประธานาธิบดี เป็นเพื่อนกับบรรดาผู้ว่าการรัฐ รู้จักกัน เป็นเครือญาติกัน และมีความเชื่อมโยงกับธุรกิจ คือมันเห็น เปิดหน้ากันมาเห็นๆ เลย แต่ในเชิงกระบวนการ ส.ส.ก็ทำหน้าที่ของ ส.ส.ไป และเป็นนิติบัญญัติที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริหารเลย ฝ่ายบริหารก็ทำหน้าที่ของฝ่ายบริหารไป ฝั่ง ส.ว.ก็ทำหน้าที่ตรวจสอบ ...กระบวนการของเขาไม่มีปัญหา แต่กระบวนการของเราก็คือ ส.ว.ก็เป็นพวกที่ ส.ส.ส่งลงเลยไง ในความเป็นเครือญาติ มันไม่ใช่แค่ความเป็นเครือญาติ คือถ้าเกิดคุณเป็นเครือญาติ ไม่เป็นไรหรอก พ่อคุณก็ทำหน้าที่ไป ลูกก็ทำหน้าที่ไป ถึงเวลาลูกก็ตรวจสอบพ่อ เนื่องจากเป็นเรื่องส่วนรวม ก็ตรวจสอบไป แต่มันไม่ใช่ไง มันเป็นพ่อลูกกันหรือไม่ เป็นเพื่อนกันหรือไม่ มันก็เชื่อมโยงผลประโยชน์ อย่าว่าแต่ ส.ว.เป็นญาติเป็นพื่อนกับ ส.ส.เลย ไม่เป็นญาติไม่เป็นเพื่อนก็เชื่อมโยงผลประโยชน์กันได้ นี่คือปัญหาในเชิงกระบวนการบ้านเรา”
ด้าน ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เผยว่า ส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยกับการมี ส.ว.เลือกตั้งอย่างเดียว เพราะจะทำให้ ส.ว.ไม่เป็นกลาง เนื่องจากถูกครอบงำโดยฝ่ายเลือกตั้ง ซึ่งในที่สุดจะส่งผลกระทบต่อองค์กรอิสระที่ได้รับแต่งตั้งโดยวุฒิสภาด้วย ดังนั้นการที่ทั้ง 2 สภาจะถูกควบคุมโดยฝ่ายเลือกตั้ง จึงถือเป็นรูปแบบที่ชั่วร้าย
“มันจะทำให้ ส.ว.ไม่มีความแตกต่างจาก ส.ส.เลย เป็นการขยายอำนาจของฝ่ายที่ครอบครอง ส.ส.หมายถึงกลุ่มการเมืองที่มีอำนาจอยู่ในสภาผู้แทนฯ แล้ว ก็จะเข้ามามีอำนาจอยู่ในวุฒิสภาด้วย ก็จะกลายเป็นการควบคุมทั้ง 2 สภา และทำให้จุดมุ่งหมายของใครก็ตาม ที่จะผลักดันขับเคลื่อนไปทางไหนก็จะสำเร็จ เพราะอย่าลืมว่า วุฒิสภาของเรามีอำนาจ ซึ่งควรจะมีเป็นอำนาจที่เป็นกลาง การเข้ามามีอำนาจตรวจสอบควบคุมโดยฝ่ายเลือกตั้ง ซึ่งเข้ามาควบคุมสภาสูง มันก็จะไม่เป็นกลาง การแต่งตั้ง รับรอง คัดสรร องค์กรอิสระทั้งหลายก็จะถูกจำกัดโดยผู้มีอำนาจในทั้ง 2 สภานั้น ซึ่งเราก็จะเห็นแล้วว่า เป็นรูปแบบที่มีความชั่วร้าย ผมว่านี่คือหลักการที่เราต้องยืนยันไม่ให้มีสภาที่ถูกควบคุมโดยฝ่ายเลือกตั้ง จึงไม่เห็นด้วยว่า ส.ว.จะมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น”
“(ถาม-อ.มองว่าจะมีใครทัดทานได้อย่างไร เพราะ ปชป.ก็ทำได้แค่ยื้อในสภา เดี๋ยวก็คงจะผ่าน?) ก็คงต้องทำอย่างอื่นด้วย เข้าใจว่าอย่างที่กลุ่ม 40 ส.ว.เขาจะทำคือ ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ นั่นก็เป็นอันหนึ่งซึ่งน่าจะมีเหตุผลที่อธิบายได้ ถึงจะแพ้ชนะก็จะเป็นหลักการหลักฐานไว้ อีกทางหนึ่งในการสู้เพื่อไม่ให้กฎหมายนี้ผ่าน ก็จะต้องปลุกเร้าประชาชนให้เห็นความเลวร้ายของวุฒิสภาภายหลังแก้ไขนี้ผ่าน เพราะมันไม่ใช่แค่การจะให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งอะไรเละเทะอย่างนั้นแล้ว แต่รวมถึงชัยชนะต่อไปในการแก้รัฐธรรมนูญที่ยังเหลืออีก 3 ฉบับ รวมทั้งเรื่องของการแก้ไขมาตรา 68 ที่ตัดสิทธิประชาชนในการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญในการตีความการกระทำอันขัดรัฐธรรมนูญทั้งหลาย นี่ก็คือการล้มรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าเผื่อประชาชนเห็นว่า นี่คือการล้มล้างรัฐธรรมนูญและสร้างระบอบใหม่ เป็นระบอบที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญขึ้นมาเนี่ย ก็จะทำให้ประชาชนน่าจะมาร่วมกันคัดค้านต่อต้าน ก็คงจะต้องเป็นรูปแบบออกมาให้เต็มถนน เต็มบ้านเต็มเมืองและแสดงจุดยืนออกไป”
นอกจากประชาชนควรจะออกมาต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.ให้เต็มท้องถนนแล้ว ผศ.ทวี ยังชี้ด้วยว่า ศาลหรือกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกที่กำลังคิดชั่วร้ายด้วยการแก้รัฐธรรมนูญกลัวมาก ต้องช่วยบ้านเมืองด้วยการแสดงพลังอำนาจในการที่จะตัดวงจรความชั่วร้ายของกลุ่มการเมืองที่จ้องจะยึดครองประเทศด้วย!!