xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ชำแหละแก้ที่มา ส.ว.เปิดทางเผด็จการรัฐสภาเบ็ดเสร็จ เชื่อเกิดวิกฤตใหญ่แน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คำนูณ” ชำแหละแก้ รธน.เรื่องที่มา ส.ว. ตัดคุณสมบัติห้ามเป็นญาตินักการเมืองออก ซ้ำไม่กำหนดเวลาพ้นสภาพจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ชี้หากกฎหมายนี้ผ่านจะเป็นการกระชับอำนาจเบ็ดเสร็จของเผด็จการรัฐสภา เชื่อเกิดวิกฤตใหญ่หลวงแน่ในอนาคต ด้าน “พิชาย” ฝากถึง ส.ว.เลือกตั้งชุดปัจจุบัน อย่าหวังแต่เพียงได้ลงสมัครใหม่ จนลืมคิดถึงบ้านเมือง เตือนต้องรับผิดชอบหากความรุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้น


เมื่อวันที่ 19 ส.ค. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา และ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้สนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

โดยนายคำนูณกล่าวถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องที่มาของ ส.ว.ว่า ดูเหมือนเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มาของวุฒิสภาให้มาจากการเลือกตั้งอย่างเดียว 200 คน โดยบอกว่าเพื่อเป็นประชาธิปไตย แต่มันต่างจากของเดิมตอนรัฐธรรมนูญ 40 คือให้ ส.ว.เลือกตั้งปัจจุบันลงสมัครรับเลือกตั้งต่อไปได้ และไม่มีข้อจำกัดว่าอยู่ได้กี่วาระ เท่ากับว่าตราบใดที่ยังสมัครไหวก็สมัครไปเรื่อยๆ อันนี้แม้แต่รัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้มี ส.ว. เลือกตั้งครั้งแรกก็ไม่ได้บัญญัติไว้เช่นนี้ บอกแต่เพียงว่าห้ามเป็นติดต่อกันเกิน 1 สมัย

ส.ว.เลือกตั้งปัจจุบัน 76 คน มีส่วนได้เสียสำคัญ ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ได้แก้เขาก็ไม่มีสิทธิลงสมัครต่อ ซึ่งจะหมดวาระในวันที่ 2 มีนาคม 2557 ทีนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่แก้เสร็จจะใช้ได้เลย ต้องไปแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งอีก ตามร่างนี้บอกไว้ว่าเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านสภาฯมีผลใช้บังคับ ให้ กกต.เสนอร่างกฎหมายเลือกตั้งฉบับแก้ไขภายใน 30 วัน และให้สองสภาพิจารณาให้เสร็จใน 120 วัน รวมแล้วกระบวนการจะเสร็จ ก.พ. ถือว่าหวุดหวิดพอสมควร หากร่างนี้ไม่เร่งเอาเข้าสภา ส.ว.เลือกตั้งชุดปัจจุบันจะเสียประโยชน์อย่างใหญ่หลวง

นายคำนูณกล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องจับตา การแก้ครั้งนี้ไม่ได้แก้ไขที่มาของวุฒิสภาอย่างเดียว เพราะนอกจากไปปลดล็อกให้ ส.ว.เลือกตั้งชุดปัจจุบันลงต่อเนื่องได้ พอไปฉบับการพิจารณาของกรรมาธิการมีเพิ่มเติมมาอีก คือ ไปฟื้นสภาผัวเมีย ตัดคุณสมบัติของบุคคลที่จะลงสมัคร ส.ว. ที่ว่าไม่เป็นบุคคลที่เป็นบุพการี คู่สมรส บุตรของ ส.ส. หรือของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น, อดีต ส.ส., อดีตสมาชิกพรรคการเมือง, อดีตนักการเมืองท้องถิ่น ที่พ้นจากตำแหน่งไม่ถึง 5 ปี และแก้อีกจุดคือเลิกกฎ 5 ปีออก แต่เดิมคนลงสมัคร ส.ว.ต้องไม่เป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเคยเป็นมาแล้วแต่ยังไม่พ้น 5 ปี

ที่ต้องบัญญัติไว้เช่นนั้นก็เพราะ ส.ว.ทำหน้าที่กลั่นกรองตรวจสอบ จึงออกแบบให้ห่างจากการเมือง และที่สำคัญวุฒิสภาเป็นที่มาขององค์กรอิสระ หากแก้ไขไปตามนี้การกลั่นกรองก็จะไม่สำเร็จ การตรวจสอบไม่จริงจัง ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระก็จะเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองมากขึ้น การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถือเป็นการแก้ไขโครงสร้างทางการเมืองครั้งสำคัญ

นายคำนูณกล่าวต่อว่า ที่ออกมาพูดไม่ใช่เพราะกระทบผลประโยชน์ตนอย่างเดียว กระทบแน่ยอมรับ แต่มันกระทบสิ่งที่ใหญ่หลวงมากกว่านั้น องค์กรอิสระปัจจุบันวาระเหลือน้อยลงทุกที ถ้าวุฒิสภาใหม่มีโอกาสใกล้ชิดฝ่ายการเมือง ก็จะทำให้ต่อไปมีองค์กรอิสระอยู่แต่ก็ไม่เป็นความจริง เหมือนตอนรัฐธรรมนูญ 40 ที่การสรรหาองค์กรอิสระได้คนตามเสียงข้างมาก ฉะนั้นมันไม่ใช่แค่การแก้ไขแต่เพียงที่มาของ ส.ว. แต่มันกระทบโครงสร้างทั้งหมด

ถ้าแก้ตามร่างกรรมาธิการทั้งหมด ทุกอย่างเบ็ดเสร็จ เป็นการกระชับอำนาจครั้งใหญ่ของระบอบเผด็จการรัฐสภาของนายทุนเจ้าของพรรค ตนมองว่าเป็นเรื่องหลอกลวงยกกำลังสาม 1. หลอกว่าเป็นประชาธิปไตยจึงต้องเลือกตั้ง การเลือกตั้งเป็นองค์ประกอบของประชาธิปไตยจริง แต่ไม่ใช่แค่องค์ประกอบเดียว 2. หลอกว่ายังมีสภากลั่นกรอง การออกแบบให้มีสองสภาก็เพื่อให้ทำหน้าที่ คานอำนาจถ่วงดุลกัน แต่ถ้าทั้งสองสภามีที่มาจากทางการเมืองเหมือนกัน ก็เท่ากับหลอกว่ามีสภากลั่นกรองแต่ที่จริงไม่มี แล้วจะเปลืองงบประมาณทำไม มีสภาเดียวก็พอ 3. หลอกว่ามีองค์กรอิสระอยู่ ก็ในเมื่อ ส.ว. มาจากทางการเมือง มีองค์กรอิสระก็เหมือนไม่มี ถ้าแก้ตามนี้วิกฤตใหญ่หลวงแน่ในอนาคต

นายคำนูณยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลตั้งใจจะแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 1 แต่เป็นประเด็นร้อนที่คนจับตา เลยเอาเรื่องที่มาของ ส.ว.เข้ามาก่อน ทีนี้ตราบใดที่รัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 1 ยังไม่ได้แก้ สามารถนำเรื่องที่มาของ ส.ว.ไปศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 1 ระบุว่า “บุคคลจะใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้” ขีดเส้นใต้ตรงคำว่า “ในรัฐธรรมนูญนี้” ก็น่าจะมีความหมายว่าต้องไม่แก้ไขหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญ 50 วางโครงสร้างเอาไว้ ซึ่งปรากฏอยู่ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน น่าท้าทายเพราะการแก้ที่มาของ ส.ว.ครั้งนี้ไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ได้ดุลยภาพของรัฐธรรมนูญที่ให้มีการกำกับตรวจสอบให้องค์กรอิสระทำงานได้อย่างอิสระ เข้าข่ายขัดมาตรา 68 วรรค 1 หรือไม่ สุดแล้วแต่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรับแน่เพราะเคยรับมาปีที่แล้ว แต่วินิจฉัยอย่างไรเป็นอีกเรื่อง นี่เป็นอีกหนทางหนึ่งของผู้ที่ไม่มีทางสู้ในสภาที่ต้องพึ่งศาลรัฐธรรมนูญ

ด้านนายพิชายกล่าวว่า การแก้ไขที่มาของ ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เป็นการทำลายโครงสร้างอำนาจ ทำลายระบอบตรวจสอบที่มีอยู่น้อยนิดให้หายไปเลย เป็นการพยายามรื้อฟื้นการเมืองแบบครอบครัวขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ตนไม่ได้ต้านการเลือกตั้ง แต่ที่ผ่านมามันชัดเจนว่านักการเมืองแต่ละตระกูล แต่ละจังหวัด สามารถครอบงำท้องถิ่นได้ ระบอบกาเมืองของไทยทั้งหมดมีความโน้มเอียงไปอยู่ในแวดวงตระกูลทางการเมือง นั่นคือสิ่งที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามสร้างให้เกิดขึ้นมา

นอกจากนี้ ตนอยากจะส่งสารไปยัง ส.ว.เลือกตั้งปัจจุบัน ให้คิดให้ดี หวังว่าจะได้ลงสมัครใหม่ และได้รับเลือกตั้งกลับคืนมา แต่อย่าลืมมีการปลดคุณสมบัติเรื่องไม่เป็นเครือญาติ ส.ส.ออกไป ตัดการพ้นสภาพผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่เกิน 5 ปีออกไป ฉะนั้นอิทธิพลทางการเมืองของคนที่เป็น ส.ส. มีระบบหัวคะแนน ย่อมมีอิทธิพลในการคุมคนเก่งกว่า ส.ว.พวกนี้ และบางคนที่ได้รับเลือกตั้งจากการสนับสนุนของ ส.ส. หากลูกเมียเขาลงเอง เขาก็คงไม่เอาคนนอก ตนคาดว่า ส.ว.ปัจจุบันถ้าเลือกตั้งใหม่ตามการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้จะหลุดมาได้ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

ท้ายที่สุดแล้วรัฐธรรมนูญนี้เปิดโอกาสให้คนหลายฝ่ายเข้ามามีพื้นที่ทางการเมือง ประหลาดใจทำไม ส.ว.เหล่านี้คิดสั้น ตัดช่องน้อยแต่พอตัว แค่ได้ลงสมัครใหม่ก็พอ แต่ไม่คิดว่ามันทำลายระบบการตรวจสอบของบ้านเมือง ซึ่งมีบทเรียนมาแล้วจากรัฐธรรมนูญ 40 ที่กระบวนการตรวจสอบอ่อนแอจนกระทั่งเกิดวิกฤตการเมือง การกระทำของ ส.ว.ชุดนี้เป็นการเปิดฉากการสร้างวิกฤตการเมืองให้รุนแรงขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ถ้าตัดสินใจอย่างนี้จริง ต้องรับผิดชอบความรุนแรงทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น