xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองก้าวล่วงภายในททท. พนง.รวมตัวฟ้องศาลปกครอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อดีต สว.สรรหา “วรินทร์ เทียมจรัส” รับดำเนินคดีฟ้องบอร์ด ททท. ยกชุด 15 ราย กรณีมีมติแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานระดับบริหาร10 และ 9 จำนวน 24 ราย ระบุชัดลงมติโดยใช้ดุลพินิจไม่ชอบ ไม่สุจริต เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นเป็นธรรม ทั้งยังขัดต่อข้อบังคับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2523) และขัดต่อหลักธรรมาภิบาล ร้องขอศาลเพิกถอนมติ พร้อมขอคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินไม่ให้มีผลบังคับใช้ก่อยวันที่ 1 และ 2 ต.ค.ศกนี้

รายงานข่าวจาก ศาลปกครอง แจ้งว่า วันนี้ (26 ส.ค.56) เวลาประมาณ 09.00 น. พนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จำนวนกว่า 100 คนได้รวมตัวกันมายื่นฟ้อง น.ส.เพ็ญสุดา ไพรอร่าม ประธาน คณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และนายสุรพล เศวตเศรณี ผู้ว่าการ ททท. ในฐานะ เลขานุการคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมถึงคณะกรรมการฯ อีก 13 ราย เป็นจำนวนทั้งสิ้น 15 ราย กรณีมีมติแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานระดับบริหาร (นักบริหารระดับ 10 และนักบริหารระดับ 9) ครั้งที่ 7/2556 จำนวน 24 ราย เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.56 และ วันที่ 2 ต.ค.56

แหล่งข่าวระดับสูงภายใน ททท. เปิดเผยว่า ก่อนหน้านั้น สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สรทท.) เคยทำหนังสือต่อ น.ส.เพ็ญสุดา ไพรอร่าม และนายสุรพล เศวตเศรณี ตลอดจน นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อให้มีการทบทวนมติดังกล่าวมาแล้ว เนื่องจากเห็นว่ามติการแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าวขาดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ทำให้มีความไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรมต่อพนักงานระดับ 10 และ 9 เป็นจำนวนมาก ทั้งยังส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศทั้งระบบ จึงได้มอบหมายให้ นายวรินทร์ เทียมจรัส อดีตสมาชิกวุฒิสภาสรรหา เป็นผู้รับผิดชอบคดี โดยมีพนักงาน ททท. ระดับ 9 และ 8 ผู้เสียผลประโยชน์ต่อมติดังกล่าว จำนวน 13 ราย เป็นโจทก์ผู้ยื่นฟ้อง

การคัดค้านมติดังกล่าวไม่ได้เป็นการคัดค้านบุคคลผู้ได้รับการแต่งตั้งโยกย้าย เพียงแต่คัดค้านเรื่องความเหมาะสมในบางตำแหน่ง รวมถึงเรื่องอาวุโสและประสบการณ์ในการทำงาน เนื่องจากพนักงาน ททท. ส่วนใหญ่เห็นว่าผู้ได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายในบางตำแหน่งไม่ได้มีประสบการณ์ตรงในตำแหน่งนั้นๆ แต่เป็นการโยกย้ายข้ามสายงานโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมซึ่งย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริหารงานด้านการท่องเที่ยวอันเป็นรายได้หลักของประเทศ

“ตามประเพณีปฏิบัติ ตามความเหมาะสม และตามหลักธรรมาภิบาล เมื่อตำแหน่งใดว่างลงนั้นจะต้องมีการเลื่อนตำแหน่ง ไม่ใช่โยกย้าย ดังจะเห็นได้จากตำแหน่งรองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาดที่เป็นตำแหน่งว่างคราวเดียวกันนี้ได้มีการแต่งตั้งนายศุกรีย์ สิทธิวนิช โดยวิธีเลื่อนตำแหน่งจากผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ซึ่งอยู่ในสายงานสื่อสารการตลาดขึ้นดำรงตำแหน่งซึ่งถือว่ามีความเหมาะสม แต่ส่วนใหญ่แล้วถือว่าไม่มีความเหมาะสม เช่น การโยกย้ายผู้อำนวยการภูมิภาคใต้ ด้านตลาดในประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและงบประมาณ หรือการโยกย้ายผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรม ด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคลล ด้านบริหาร นอกจากนี้ผู้ได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายบางรายยังมีอาวุโสในการทำงานน้อยกว่าพนักงานท่านอื่นๆ ถึง 100 ลำดับ จึงเห็นว่าควรมีการทบทวนมติดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง”

ด้าน นายวรินทร์ เทียมจรัส อดีตสมาชิกวุฒิสภาสรรหา เป็นผู้รับผิดชอบคดี เปิดเผยว่า วันนี้พนักงาน ททท.จำนวน 13 รายได้ยื่นฟ้องคดีดดำหมายเลข 1666/2556 เนื่องจากเห็นว่ามติเห็นชอบในการแต่งตั้งโยกย้าย ครั้งที่ 7/2556 เป็นการลงมติโดยใช้ดุลพินิจไม่ชอบ ไม่สุจริต มีลักษณะกระทำโดยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นเป็นธรรม เพราะเป็นการแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานที่ขัดต่อข้อบังคับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2523) ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน การปรับอัตราเงินเดือน และการออกจากตำแหน่งของพนักงาน ททท. และขัดต่อหลักธรรมาภิบาลที่ประกอบด้วย หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักความมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 13 รายได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ต้องเสียสิทธิในหน้าที่ที่จะมีความเจิรญก้าวหน้าในหน้าที่การเงินต่อไป

การแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ถือว่ามีความไม่โปร่งใสและไม่คำนึงถึงความเหมาะสม ซึ่งตามข้อบังคับ ททท.ดังกล่าวมีการกำหนดอย่างชัดเจนในข้อ 17 ว่า “การเลื่อนพนักงานขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น ให้ผู้ว่าการเลื่อนและแต่งตั้งจากผู้สอบคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่งนั้น หรือจากผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่งนั้นตามที่เห็นเหมาะสม โดยคำนึงถึงความรู้ ความสามารถ ความประพฤติ และประวัติการทำงาน”

“การท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมประเภทเดียวที่ใช้ทรัพยากรทั้งหมดของประเทศ ทั้งในเรื่องของสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ขนบธรรมเนีบม วัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนบุคลากรผู้เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายและแผนด้านการท่องเที่ยว ซึ่งโดยปรกติแล้วการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งต่างๆ ใน ททท. นั้นหากเป็นพนักงานระดับ 8 ลงมา ย่อมเป็นสิทธิของผู้ว่าการ ส่วนพนักงานระดับ 8 ขึ้นไปต้องผ่านมติความเห็นชอบของบอร์ด โดยมีผู้ว่าการเป็นผู้นำเสนอรายชื่อ แต่การแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ถือได้ว่ามีการก้าวล่วงของนักการเมืองและรัฐบาล จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบโดยกระบวนการยุติธรรม”

นายวรินทร์ กล่าวในตอนท้ายว่า ก่อนหน้าที่จะมีการยื่นฟ้องในวันนี้ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สรทท.) ได้เคยทำหนังสือฉบับที่ สรทท.041/2556 เพื่อให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการแก้ไขแล้ว แต่ไม่ได้มีการตอบรับแต่อย่างใด การยื่นฟ้องครั้งนี้จึงต้องการขอความกรุณาจากศาลให้มีคำสั่งเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องทั้ง 15 ราย รวมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติตามมติดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว หรือมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินเป็นการพิเศษจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดคดี เพื่อป้องกันความเสียหายต่อชาติและต่อประโยชน์สาธารณะ
กำลังโหลดความคิดเห็น