xs
xsm
sm
md
lg

วิปค้านยันมีสิทธิอภิปราย เล็งฟัน ปธ.-กมธ.ขัด รธน. ฉะ รบ.อย่าสร้างเงื่อนไขปฏิวัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน(แฟ้มภาพ)
“จุรินทร์” เผยวิปรัฐฯ ยังไม่ประสานเพิ่มวัน ยัน ส.ส.ใช้สิทธิตาม รธน.อภิปราย ปธ.ที่ประชุมต้องเป็นกลาง ชี้มีปัญหา ปธ.-กมธ. ส่อขัด รธน. เล็งยื่นศาล รธน.หากผ่านวาระ 3 เสียสิทธิแปรญัตติก็ร้องได้ แจงเข้าร่วมตามหน้าที่ ไม่ได้แปลว่าหนุนไม่หนุน ตอกแก้ รธน.หวังรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ แบบเดียวกับปี 49 ขออย่าสร้างเงื่อนไขสู่การรัฐประหาร

วันนี้ (20 ส.ค.) ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า วิปรัฐบาลยังไม่ได้ประสานมาเรื่องการขยายเพิ่มวัน โดยยังคงยืนยันว่า ส.ส.จะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการอภิปราย และก็เป็นไปตามข้อบังคับ ซึ่งการใช้ข้อบังคับควบคุมการอภิปรายของประธานนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องและควรที่จะตรงไปตรงมาและเป็นกลาง พวกตนไม่ติดใจทั้งยังสนับสนุนให้ทำแบบนั้นแต่มีปัญหา คือ การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมาธิการในการพิจารณาวาระที่ 2 รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภาในวาระที่ 1 ด้วย ขณะที่วาระที่ 1 ยังไม่เสร็จสิ้น ประธานกลับไปดำเนินการวินิจฉัยว่าการแปรญัตติต้องทำใน 15 วัน ขณะที่สภายังไม่ได้ลงมติเพราะไม่ครบองค์ประชุม ประการที่ 2 สิ่งที่ประธานทำคิดว่าเป็นการขัดรธน.คือไปสั่งการให้เริ่มต้นวาระที่ 2 โดยให้คณะ กมธ.เริ่มประชุมขณะที่วาระที่ 1 ยังไม่จบ เพราะไม่ได้กำหนดวันแปรญัตติ ตนเห็นว่าประเด็นนี้ประธานหมิ่นเหม่ที่จะปฎิบัติหน้าที่ขัดข้อบังคับตามรัฐธรรมนูญ อีกประการหนึ่งคือ เมื่อไปถึงขั้นคณะ กมธ. กมธ.เองก็วินิจฉัยหลายมาตรฐานสำหรับผู้ที่ยื่นคำแปรญัตติเช่นใน กมธ.ชุดเดียวกันโดยเฉพาะการแก้ที่มา ส.ว.ที่มีผู้ยื่นคำแปรญัตติเหมือนกัน 2 ท่าน โดยท่านหนึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าไม่ขัดหลักการแต่อีกท่านหนึ่งกลับวินิจฉัยว่าขัดหลักการ ซึ่งเป็นเด็นเดียวกันแต่การวินิจฉัยออกมาไม่เหมือนกัน ซึ่งขัดต่อหลักการและส่อขัดรัฐธรรมนูญในการปฎิบัติหน้าที่ทั้งประธานและกรรมาธิการ การประชุมจะเดินหน้าไปได้ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของประธานแต่พวกตนจะนำเสนอให้เห็นว่ามีประเด็นปัญหาอย่างไร

เมื่อถามว่า การเข้าร่วมพิจารณาจะถือว่าเป็นการยอมรับว่าสิ่งที่ผ่านมาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า การร่วมพิจารณาไม่ได้แปลว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งสมาชิกรัฐสภาต้องเข้าปฏิบัติหน้าที่ แต่จะปฏิบัติหน้าที่โดยชอบหรือไม่ชอบนั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดยฝ่ายค้านก็จะทำหน้าที่โดยการให้ข้อมูลให้ประธานและสมาชิกไว้ประกอบดุลพินิจ และหากขัดรัฐธรรมนูญก็เป็นขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบกันต่อไป

เมื่อถามต่อว่า สำหรับผู้เสียสิทธิในการแปรญัตติจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า ตนคิดว่าสามารถยื่นได้ ตามรัฐธรรมนูญกำหนด อย่างน้อยคนเสียสิทธิ์ก็มี 3 คน คือ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ และตนเองที่ถูกตัดสิทธิในการแปรญัตติใน 3 ฉบับ ซึ่งก็ถูกตัดสิทธิ์แตกต่างกันไปในแต่ละฉบับ

เมื่อถามว่าจะรอให้ผ่านวาระ 3 จึงจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า เบื้องต้นได้เปิดโอกาสให้หลังจากที่รัฐธรรมนูญผ่านที่ประชุมวาระ 3 ของรัฐสภาแล้วก็ยังมีช่องเวลาที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ตอบล่วงหน้าไม่ได้ว่าจะมีน้ำหนักพอที่จะทำให้ทั้ง 3 ร่างนั้นตกไปหรือไม่ แต่คิดได้ว่าส่อขัดรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะตัวเนื้อหาที่ขัดกันเองในประเด็นที่มาของ ส.ว.200 คน แต่หากมีการแก้ไขก็จะมี ส.ว.ทั้งใหม่และเก่ากว่า 270 คน ซึ่งเกินจากกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ นี่เป็นเพียงประเด็นเดียวก็เห็นได้ชัดเจนแล้วว่าขัดต่อหลักการ

นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับการที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) จะเสนอแปรญัตติให้ ส.ว.ที่ได้มาจากการสรรหาหยุดการทำหน้าที่นั้น ก็สะท้อนให้เห็นว่าเนื้อหาขัดกันเอง นอกจากนี้การแก้รัฐธรรมนูญทั้งมาตรา 68 และที่มา ส.ว.จะเป็นใบเบิกทางในการรวบกินประเทศแบบเบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะการเข้าครอบอำนาจขององค์กรอิสระต่างๆซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เหมือนช่วงก่อนการทำรัฐประหารปี 2549 ตนไม่อยากให้รัฐบาลสร้างเงื่อนไขจนต้องนำไปสู่การรัฐประหาร ซึ่งตนไม่อยากให้เกิดขึ้นเพราะไม่อยากให้ประเทศย้อนหลังกลับไปแบบในอดีต แต่หากยังคงทำแบบนี้ประเทศจะไปไม่รอด


กำลังโหลดความคิดเห็น