xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” ยันเปิดเวทีค้านนิรโทษกรรม ลั่นลูกพรรคคุยพันธมิตรฯ ไม่ถึงขั้นปลุกม็อบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ภาพจากแฟ้ม)
หน.ปชป.ย้ำจุดยืนใช้เวทีปราศรัยค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เผย ส.ส.คุยแกนนำพันธมิตรฯ ยังไม่ถึงขั้นปลุกม็อบ ไม่ทราบ “นิพิฏฐ์” ลาออก อีกด้านจี้รัฐทำงานเชิงรุก อย่าด่วนรับข้อเสนอบีอาร์เอ็น

วันนี้ (18 ส.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ว่า พรรคยังย้ำในจุดยืนเดิมที่จะเผยแพร่ข้อเท็จจริงผ่านเวทีผ่าความจริงเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับของนายวรชัย เหมมะ ส.ส.สมุทราการ พรรคเพื่อไทย ที่พิจารณาอยู่ในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งผู้กระทำผิดร้ายแรงไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม โดยเฉพาะผู้ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือคดีทางอาญา ที่อ้างเหตุจูงใจทางการเมือง แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลับสร้างมูลเหตุความขัดแย้งมากขึ้น ทั้งจากการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่แสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก การข่มขู่ทำร้ายสื่อมวลชนในกรณีบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ โดยเชื่อว่าอาจเชื่อมโยงกับฝ่ายการเมือง หรือแม้แต่การนำมวลชนกดดันฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

เมื่อถามว่า การที่สัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีตำแหน่งใดในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะเป็นอุปสรรคหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ได้เป็นปัญหาในการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน และยืนยันจะทำหน้าที่ในชั้นกรรมาธิการเต็มที่ ทั้งนี้ มีความกังวลที่รัฐบาลได้บรรจุวาระ 2 ร่างแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับในสัปดาหน้าแล้ว อาจทำให้กระทบต่อเวลาในการพิจารณาร่างนิรโทษกรรมบ้าง

เมื่อถามถึงกรณีที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส.บางส่วนของพรรคเข้าไปพูดคุยกับแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าการพูดคุยที่มีแนวทางและทิศทางเดียวกันสามารถทำได้ เพราะยังมีมวลชนอีกจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมล้างความผิด ส่วนการจะผนึกกำลังออกมาต่อสู้หรือไม่นั้นยังไม่อยากให้มองถึงขั้นนั้น ทั้งนี้ ส่วนตัวไม่ทราบว่านายนิพิฐฏ์จะลาออกจากการเป็น ส.ส.เพื่อร่วมกับมวลชนหรือไม่อย่างไร

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาข้อเสนอของกลุ่มบีอาร์เอ็นว่า อยากให้รัฐบาลทำงานเชิงรุกมากกว่าที่เป็นอยู่พิจารณาให้รอบคอบก่อน เพราะปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน แม้จะมีการพูดคุยลดเหตุความรุนแรง แต่สถานการณ์ยังรุนแรงต่อเนื่อง ดังนั้นจึงควรสร้างความชัดเจนถึงเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นก่อน ว่าเป็นฝีมือของกลุ่มใด เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเมื่อมีการพูดคุยแล้วความสงบจะเกิดขึ้นในพื้นที่ ทั้งนี้เห็นว่าการพูดคุยจำเป็นต้องมี แต่รูปแบบการทำงานควรทบทวนให้รัดกุมมากขึ้น และรัฐบาลต้องเปิดใจคุยกัน เพื่อแสดงความจริงใจทั้งสองฝ่าย


กำลังโหลดความคิดเห็น