นายกฯ เดินทางออกจากบ้านมาทำเนียบฯ ปกติ รปภ.บ้านพักเข้ม “สุรพงษ์” เชื่อไม่มีรัฐประหาร วอน ปชป.อย่าปลุกระดม ร้อง “ชวน” ร่วมปาหี่ปฏิรูป ศอ.รส.แถลงปูดเติมมวลชนดาวกระจาย อ้างจะยั่วยุเจ้าหน้าที่ กำชับจับการ์ดตามหมายจับได้ทันที
วันนี้ (5 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ว่าเมื่อเวลา 08.10 น. นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางออกจากบ้านพักในซอยโยธินพัฒนา 3 ถนนประดิษฐ์มนูญธรรม โดยใช้รถจักรยานยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจนำขบวน 1 คัน ตามด้วยรถโฟล์คกันกระสุนป้ายแดง ทะเบียน ต 2321 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นรถของนายกรัฐมนตรี รถติดตามซึ่งเป็นรถฟอร์จูนเนอร์อีก 2 คัน และรถเก๋งคัมรีโตโยต้าของ 191 อีก 1 คัน ซึ่งเป็นการรักษาความปลอดภัยตามปกติ ขณะที่บริเวณหน้าบ้านพักของนายกรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ตำรวจของ บก.น.4 ยังคงรักษาความปลอดภัยบริเวณหน้าบ้านพักอย่างเข้มข้น
จากนั้นขบวนรถของนายกรัฐมนตรีใช้เส้นทางถนนประดิษฐ์มนูญธรรม ขึ้นทางด่วนฉลองรัช ต่อด้วยทางด่วนศรีรัช ลงที่ทางลงยมราช ถนนพิษณุโลก จากนั้นแยกซ้ายเข้าถนนหลานหลวง ถนนนครสวรรค์ และเข้าทำเนียบรัฐบาลด้านประตูสะพานอรทัย โดยนายกรัฐมนตรีมีกำหนดการปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาล ตลอดทั้งวัน เริ่มตั้งแต่เวลา 09.15 น. ให้การต้อนรับ H.E. Mrs. Jocelyn S. Batoon-Garcia เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทย ที่เดินทางเข้าเยี่ยมคารวะ
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองเมื่อวานนี้ ทาง สมช. ได้ติดตามใกล้ชิด โดยที่สวนลุมพินี มีผู้ชุมนุมประมาณ 3,000 คน และในวันนี้ ทางกลุ่มผู้ชุมนุมมีแผนกระจายไปสถานทูตต่างๆ ซึ่งต้องรอดูว่าจะมีมวลชนเข้าร่วมมากหรือไม่ รวมถึงการขึ้นเวทีของนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวานนี้ มีมวลชนประมาณ 1,000-2,000 คน ได้มีการประเมินว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน รวมแล้วมีผู้ชุมนุมประมาณ 5,000 คน
“มวลชนที่เข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มกองทัพประชาชนในขณะนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง ซึ่งต้องรอดูท่าทีความเคลื่อนไหวว่า สามารถจูงใจให้คนออกมาร่วมชุมนุมได้อีกหรือไม่ แต่ยอมรับว่า หากสามารถปลุกระดมคนจากต่างจังหวัดเข้าร่วมได้ อาจทำให้เกิดปัญหา” พล.ท.ภราดร กล่าว
ขณะเดียวกัน พล.ท.ภราดร กล่าวถึงกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมจะประกาศชุมนุมหน้ารัฐสภา วันที่ 7 ส.ค. นี้ เพื่อคัดค้านการพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดกำลังเพียงพอ พร้อมเฝ้าระวังมือที่ 3 ที่อาจสร้างสถานการณ์ แต่ยังไม่ได้รับรายงานจากสำนักข่าวกรองแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่จะไม่ประมาท และยังไม่ต้องมีการเพิ่มมาตรการพิเศษนอกเหนือจากการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวการทำรัฐประหารเกิดขึ้นในขณะนี้ว่า ส่วนตัวมองเรื่องนี้คงไม่ต้องมีการชี้แจงให้ต่างประเทศได้รับทราบ เนื่องจากมีความเชื่อมั่นว่า ทางทหารคงไม่คิดที่จะกระทำเช่นนั้น เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาที่มีการทำรัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อปี 2549 นั้น ประเทศไทย ถูกประณามจากสังคมโลกเป็นอย่างมาก และรัฐบาลที่ไม่ได้จากการเลือกตั้งในขณะนั้น นานาประเทศก็ไม่ให้การยอมรับ ซึ่งเชื่อว่าทหารมีความเข้าใจ แตกต่างจากรัฐบาลปัจจุบันที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนโดยแท้จริง ทำให้ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างไทยและต่างประเทศนั้น เป็นไปอย่างราบรื่น
ทั้งนี้ยังได้กล่าวติไปยังพรรคฝ่ายค้านว่า ควรยอมรับในระบบกระบวนการของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่เล่นการเมืองกันนอกรัฐสภาอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ที่มีการการปลุกระดมนำมวลชนออกมากดดัน เพื่อที่จะไม่ยอมรับกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภา
รองนายกฯ ยังกล่าวถึงกระบวนการสร้างความปรองดองในขณะนี้ว่า ส่วนตัวในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่ง ยังคงเชื่อมั่นที่จะให้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต่อไป และเชื่อว่าในที่ประชุมพรรคเพื่อไทย ที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 ส.ค. นี้ จะไม่มีการถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ออกจากวาระการพิจารณาอย่างแน่นอน ตามที่หลายฝ่ายเรียกร้อง ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าวนั้น ไม่ได้มีขึ้นเพื่อช่วยอดีตนายกรัฐมนตรี ตามที่หลายฝ่ายกล่าวอ้าง แต่จะเป็นการช่วยเหลือประชาชนทุกฝ่ายที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาทางการเมืองเท่านั้น
โดยกล่าวอีกว่า ส่วนตัวในฐานะที่เคยร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์ มาก่อน อยากเรียกร้องให้ นายชวน หลีกภัย ในฐานะที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่คนสำคัญของบ้านเมือง เข้าร่วมพูดคุยเพื่อหาทางออกแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วย แทนที่รัฐบาลจะต้องไปพูดคุยกับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีฯ ตามที่เป็นกระแสข่าว เนื่องจากมองว่าพลเอกเปรมนั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องทางการเมือง
อีกด้านหนึ่งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะโฆษกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. แถลงถึงสถานการณ์การการชุมนุมประจำวันว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา มีการชุมนุม 2 จุด คือลานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี มียอดผู้ชุมนุมสูงสุดประมาณ 2,000 คน เมื่อเวลา 19.00 น. ส่วนอีกจุดคือที่บริเวณประชานิเวศน์ มีการจัดการเวทีผ่าความจริงของทางด้านพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ชุมนุมสูงสุด 1,200 คน เมื่อเวลา 19.00 น. เช่นเดียวกัน
ซี่งในขณะนี้ การข่าวระบุว่า กลุ่มผู้ชุมนุมจะใช้วิธีเติมมวลชน เพื่อจะดาวกระจายไปตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ สถานทูตจีน สถานทูตสหรัฐอเมริกา องค์การสหประชาชาติ และรัฐสภา และมีรายงานว่าผู้ชุมนุมมีความพยายามจะยั่วยุเจ้าหน้าที่ จึงได้มีการกำชับว่า ให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอดทนอดกลั้น รวมทั้ง หากพบแนวร่วม หรือการ์ดที่เป็นบุคคลตามหมายจับ ให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที