กทพ.เอ็มโอยู 7 รัฐวิสาหกิจ ร่วมมือ ผุดทางขึ้นลงทางด่วนเชื่อมต่อการเดินทางย่านอุตสาหกรรม-ที่อยู่อาศัย เตรียมศึกษาทางเชือมทางด่วน กับนิคมอุตสาหกรรม 7 จุดในปี 57
นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า กทพ.ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับ 7 หน่วยงาน ว่าด้วยความร่วมมือในการพิจารณาการเชื่อมต่อทางพิเศษ กับโครงการของหน่วยงานภาคอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย และการคมนาคมขนส่งประกอบด้วย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) การเคหะแห่งชาติ และบริษัท ขนส่ง จำกัด หรือบขส. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อพัฒนาระบบคมนาคมปัจจุบันมีโครงข่ายทางพิเศษครอบคลุมพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สามารถเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร และทางหลวงสายหลักที่สำคัญ และมีการเชื่อมต่อทางขึ้น-ลงทางพิเศษบริเวณที่มีการเดินทางของประชาชนสูง
เช่น ทางพิเศษอุดรรัถยา มีทางขึ้น-ลงเมืองทองธานี รวมถึงมีทางขึ้นลงที่เชียงราก อำนวยความสะดวกการเดินทางไป มธ.ศูนย์รังสิต แต่ที่ผ่านมามักถูกถามว่าทำไมไม่ทางทางขึ้นลงให้เพียงพอ จึงมีแนวคิดเชื่อมต่อทางขึ้นลงทางพิเศษทั้งที่เปิดให้บริการแล้ว และเชื่อมต่อโครงการทางพิเศษในอนาคต ลงตามนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ มีโครงการนำร่องคือต่อขยายทางพิเศษบูรพาวิถีไปพัทยา และจะขยายไปในโครงการที่อยู่อาศัยที่การเคหะฯจะทำร่วมกับ รฟม.ในแนวสายทางรถไฟฟ้า
โดยในการร่วมมือครั้งนี้ มีแผนศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของทางพิเศษกับพื้นที่ภาคอุตสาหกรรม 7 จุด ได้แก่ 1.ทางพิเศษบุรพาวิถีกับนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จ.ฉะเชิงเทรา 2.ทางพิเศษอุดรรัถยากับเขตประกอบอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี 3.ทางพิเศษวงแหวนรอบนอกตะวันตกกับนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร 4.ทางพิเศษบูรพาวิถี-พัทยา กับนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี 5.ทางพิเศษบูรพาวิถี-พัทยา กับนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี 6.ทางพิเศษอุดรรัถยา-อยุธยา กับนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา และ 7.ทางพิเศษฉลองรัช-สระบุรี กับนิคมอุตสาหกรรมหนองแค จ.สระบุรี ความจะเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในปี 2557