xs
xsm
sm
md
lg

“อภิชาติพงศ์” ร้องปล่อยนักโทษหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ครวญอยู่เมืองไทยเหมือนตกนรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง
ผู้กำกับดังกล่าวเวทีหนุนร่างนิรโทษกรรม-ปล่อยนักโทษหมิ่นสถาบัน เหน็บคนไทยตอแหลเป็นสันดาน ทำสามัญสำนึกเสื่อม ซัดรัฐเลี่ยงแตะมาตรา 112 หวังลมๆ แล้งๆ ว่าศาลให้ความเมตตา เหิมอยากเห็นศาลเลิกอ้างความมั่นคงของชาติ เชิดชูการเห็นต่าง เชื่อชาติคงไม่สลาย โอดอยู่ในเมืองไทยเหมือนตกนรก ฝันสร้างรัฐเคารพความเป็นคน



วันนี้ (28 ก.ค.) มีรายงานว่าได้มีการเผยแพร่วิดีโอคลิปงานเสวนา “108 เหตุผล ทำไมต้องนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง” ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมาทางเว็บไซต์ยูทิวบ์ โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ โดยเฉพาะการเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่อ้างว่าเป็นการปิดกั้นสิทธิในการแสดงความเห็นทางการเมือง และเพื่อสร้างความเข้มแข็งต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย โดยมี นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ในช่วงหนึ่ง นายอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ได้กล่าวอภิปราย ระบุว่า ตนอยากจะพูดในตัวแทนคนสร้างภาพ อาศัยอยู่ในประเทศที่มีกิจกรรมหลัก คือการสร้างภาพ ซึ่งเราถนัดกันจนเรียกว่าเราเสียอะไรบางอย่างที่สำคัญต่อชีวิตไป ตอนที่ตนไปธุระที่กระทรวงวัฒนธรรม อยู่ในลิฟต์เจอข้าราชการนามว่าลัดดา ซึ่งเป็นคนที่ตนไม่เคารพ ไม่ชอบการกระทำและความคิดอย่างยิ่ง สิ่งที่ตนทำในลิฟต์ก็คือตนยกมือไหว้ และยิ้มจางๆ ให้กันและกัน จากนั้นตนก็กลับไปคิดดูว่า ทำไมตนถึงตอแหลขนาดนั้น เป็นเหตุการณ์ที่ดูไร้สาระแต่เราทุกคนก็ตอแหลกันจนเป็นสันดาน และสร้างความลำบากให้ประชาชนมากมาย เหมือนน้ำที่หยดลงหิน

สิ่งที่เราไม่อยากทำแต่เราต้องทำ จนทำให้สามัญสำนึกของเราสึกกร่อน สิ่งที่ผมอยากจะบอกว่า สิ่งสำคัญที่หายไปจากชีวิตเราก็คือสามัญสำนึก คอมมอน เซนส์ หลายๆ อย่างที่สุดโต่ง ที่เราพูดกันอยู่ในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา มันทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า เมื่อไหร่เราถึงจะเลิกตอแหล เมื่อไหร่ที่เราถึงจะเลิกยอมรับการฆ่าคนอย่างเลือดเย็นกันเสียที วันนี้เรากำลังเรียกร้องความชอบธรรมให้นักโทษการเมือง ผู้ชุมนุม แต่สื่อและรัฐเลี่ยงที่จะพูดถึงผู้ที่แสดงความคิดเห็น และผู้ที่ถูกใส่ความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แล้วเมื่อเรามาดูร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับต่างๆ ที่เราคุยกัน ผมคิดว่าทุกฉบับยังมีความไม่ชัดเจน หรือไม่ก็ปัดความเกี่ยวข้องกับนักโทษคดี 112 ไปเลย โดยระบุว่าให้ขึ้นอยู่กับศาลจะตีความว่าเกี่ยวกับการขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่

“ผมคิดว่าเราแสดงความขลาดและความเอาตัวรอด โดยหวังลมๆ แล้งๆ ว่าศาลจะให้ความเป็นธรรมกับคนกลุ่มนี้ พวกคุณคิดเหรอว่าจะให้ความเป็นธรรม แน่นอนสำหรับผม คดีนี้เป็นการเมืองยิ่งกว่าการเมืองอีก รัฐได้กระทำอาชญากรรมทางความคิดแก่ประชาชน ในระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา รัฐได้โหมประโคมเยินยอภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์จนล้นปรี่ จนทำให้ตรรกะต่างๆ มันวิบัติ แล้วคุณไม่คิดเหรอว่าในเวลา 50 ปี จะมีสักกลุ่มคนหนึ่งที่พยายามดึงตรรกะให้มันเข้ารูปเข้ารอย หรือแม้แต่จะถามคำถาม แต่สิ่งที่รัฐทำกับคนพวกนี้ก็คือการอ้างว่าละเมิด ปิดปาก จับเข้าคุก นี่คือความเสื่อมในสำนึกของรัฐอย่างหนึ่ง” นายอภิชาติพงศ์ กล่าว

ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง กล่าวต่อว่า เราต้องย้อนมาคุยว่าในสถาบันที่ผลิตผู้พิพากษาออกมา แฟนตนเรียนที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 2 ปี ตอนที่เขาเข้ามหาวิทยาลัยมีการสอบสัมภาษณ์ ซึ่งคนที่สัมภาษณ์เป็นผู้พิพากษา ตอนนั้นคดีบุตรชาย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ยิงกันในสถานบันเทิงกำลังดัง ก็ถามว่าคุณคิดว่าถ้าคุณเป็นผู้พิพากษาคุณจะตัดสินคดีนี้อย่างไร แฟนตนก็บอกว่าก็ต้องดูสำนวน หลักฐาน เอกสาร ผู้พิพากษาคนนั้นส่ายหน้า แล้วบอกว่า คุณก็เห็นอยู่แล้วว่ามันเลวแค่ไหน คุณจะต้องมีพิธีรีตองอะไร นี่คือเรื่องจริง คือเขาคิดเห็นอยู่ว่า มันจะมีขาวมีดำ มีดีมีเลวในสังคมนี้ แต่อีกเคสหนึ่งช่วงที่โทรศัพท์แบล็กเบอร์รี่ กำลังเป็นที่นิยม ช่วงนั้นก็มีกลุ่มเสื้อแดง เสื้อเหลืองออกมา รุ่นพี่คณะนิติศาสตร์ก็จะสนทนากันในกลุ่มบีบี บอกว่า ไอ้พวกเสื้อแดงเนี่ยน่าจับเอามายิงทิ้งให้หมด มันน่าใจหายไหมที่ทัศนคติของผู้ใช้และผู้คิดตีตรากฎหมายของคนเราเป็นอย่างงี้

“สถาบันศาลที่ผมอยากเห็นก็คือ สถาบันที่เลิกอ้างถึงผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ราวกับว่าเราอยู่ในยุคคอมมิวนิสต์ ผมอยากจะเห็นศาลที่เชิดชูการเห็นต่าง เราไม่จำเป็นต้องปรองดอง ตัวผมไม่อยากปรองดองกับใคร คือเราอยู่ด้วยกันได้ คุณมีสิทธิ์พูด เขียน ทำหนัง จะเชิดชู ฝักใฝ่พรรคการเมืองไหน คุณต้องแสดงออกมา คุณต้องโชว์ออกมา เราเห็นชอบร่วมกัน ก็ไม่ทำให้ชาติสลาย ที่ผ่านมานักโทษการเมืองของเรามีการหมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากนักโทษการเมืองที่เป็นเจ้า สมัยกบฏบวรเดช จนถึงนักศึกษา นักเขียน นักคิด จนถึงขณะนี้นักโทษการเมืองส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้าน ผู้ซึ่งสำนึกแล้วว่าตนเองเป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริง แต่ไม่ว่าคนในคุกจะเป็นใคร ผมคิดว่าเราต้องช่วยกันล้มล้างไอ้วงจรที่ก่อให้เกิดโรค อาการสามัญสำนึกเสื่อม เราต้องปลุกให้เพื่อนร่วมชะตากรรม ผมคิดว่าอยู่ในเมืองไทยเหมือนตกนรกในระดับหนึ่ง” ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง กล่าว

นายอภิชาติพงศ์ กล่าวในตอนท้ายว่า เราทุกคนร่วมชะตากรรม และคนทั้งประเทศก็อยู่กับเรา ให้ได้คิดว่าอะไรคือความเป็นไทย อะไรคือความเมตตาอย่างแท้จริง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นหนึ่งในการแก้ปมที่บรรพบุรุษและเราได้สร้างขึ้นมาเพื่อที่จะบีบรัดกันและกัน เราต้องสร้างรัฐที่เคารพความเป็นคน ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเชื่อสิ่งใดหรือไม่ก็ตาม แล้วเมื่อนั้นเราจะได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง

สำหรับ นายอภิชาติพงศ์ เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ นักเขียนบทภาพยนตร์ จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และปริญญาโท ศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาภาพยนตร์ จากสถาบันศิลปะชิคาโก มีผลงานภาพยนตร์เรื่อง ดอกฟ้าในมือมาร สุดเสน่หา สัตว์ประหลาด หัวใจทรนง แสงศตวรรษ และลุงบุญมีระลึกชาติ‎ ที่ได้รับรางวัลปาล์มทองคำ ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส


กำลังโหลดความคิดเห็น