xs
xsm
sm
md
lg

“เสี่ยจ้อน-อลงกรณ์”ทำเพื่อใคร? ดันนิรโทษฯลากปชป.เข้าทาง “ทักษิณ”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

อลงกรณ์ พลบุตร
ต้องจับตาใกล้ชิดกับการประชุมพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) นัดสำคัญ 30 ก.ค.56 นี้ เพราะหากไม่ผิดคิวหรือมีอะไรเปลี่ยนแปลง ที่ประชุมจะถกกันให้ชัดถึงท่าทีของปชป.ต่อเรื่องการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีชุมนุมทางการเมือง

หลังเสี่ยจ้อน-อลงกรณ์ พลบุตรรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ภาคกลาง ประกาศจะเสนอให้พรรคมีมติเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับของพรรคปชป.เข้าสู่สภาฯ เพื่อประกบเข้าไปเป็นร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯรอพิจารณาอีกหนึ่งฉบับในสภาฯ หลังวิปรัฐบาลประกาศชัด ประชุมสภาฯสัปดาห์ที่ 2 ช่วง 7-8 ส.ค.นี้จะพิจารณาเรื่องพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับวรชัย เหมะกับพวก

ข้อเสนอดังกล่าวของอลงกรณ์ ที่แจงกับสื่อ เน้นย้ำว่า การเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เป็นสิ่งที่พรรคปชป.ควรจะต้องทำไม่ใช่มามัวแต่วิจารณ์ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมหรือร่างพ.ร.บ.ปรองดองฉบับต่างๆ ของส.ส.พรรคอื่น ว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร แต่กลับไม่ยอมเสนอร่างพ.ร.บ.ของพรรคเองเข้าไปในสภาฯ

สรุปให้ชัด วิเคราะห์ตามสภาพการขับเคลื่อนของอลงกรณ์แปลความหมายได้ไม่ยาก และถอดความได้ไม่ผิด

ก็คืออลงกรณ์พยายามบอกว่า พรรคประชาธิปัตย์และแกนนำพรรคในวันนี้ ต้องเลิกดีแต่พูด-เก่งแต่ค้านแต่ไม่เคยเสนอทางเลือก-ทางออกให้กับสังคม ในสิ่งที่คัดค้านเพื่อแสดงจุดยืนของพรรคต่อเรื่องนั้นๆ

เพราะประชาชนมองว่าการเมืองมิติใหม่วันนี้ ต้องมีข้อเสนอหรือทางเลือกให้กับสังคมด้วยว่าเมื่อคัดค้านในเรื่องไหน นอกจากแสดงเหตุผลในการคัดค้านแล้ว ยังต้องบอกกับสังคมด้วยว่าแล้วมีทางเลือกหรือข้อเสนอที่ดีกว่าสิ่งที่คัดค้านอย่างไร

เช่นเดียวกับกรณีร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่ปชป.ประกาศจุดยืนมาตั้งแต่ต้นว่า ไม่เอาด้วยไม่ว่าจะเป็นร่างไหนต่อร่างไหน แต่ก็ไม่เคยเอาสิ่งที่ไม่เห็นด้วยที่มีอยู่ในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯทำออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมเพื่อนำเสนอต่อประชาชน

ให้วิเคราะห์ดูก็เชื่อได้ว่า การเคลื่อนไหวของอลงกรณ์ในครั้งนี้ เจ้าตัวคิดและเชื่อมั่นว่า สิ่งที่เขานำเสนอคืออีกหนึ่งสเต็ปของการ Rebranding พรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยบอกไว้ก่อนหน้านี้ว่าหนึ่งในพิมพ์เขียวการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์คือพรรคต้องเลิกเล่นและมองทุกอย่างเป็นการเมืองไปหมด

เพราะในเมื่อก่อนหน้านี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคและชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคออกมาประกาศท่าทีชัดเจนว่าเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯฉบับญาติเสื้อแดงที่นำโดยนางพะเยาว์ อัคฮาด เพียงแต่มีข้อคิดเห็นไม่ตรงกันในบางเรื่องเช่นไม่เห็นด้วยที่จะเขียนเปิดช่องให้นิรโทษกรรมคนทำผิดคดี 112 และคนเผาหรือทำลายสถานที่ราชการเช่นพวกโดนคดีเผาศาลากลางจังหวัดหรือยิงเอ็ม 79 ใส่กระทรวงกลาโหม

“อลงกรณ์”จึงใช้โอกาสนี้ ออกมาขับเคลื่อนให้ปชป.ควรต้องเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯในนามพรรคไปเลย ผลก็คือทำให้เกิดปฏิกิริยาต่างๆขึ้นมากมายทั้งในพรรคปชป.และนอกพรรค แต่พบว่าเสียงไม่เห็นด้วยกับอลงกรณ์ดังระงมกล่าวเสียงเห็นด้วยมากมายหลายเท่า

แน่นอนว่าเจ้าตัว ย่อมรู้แล้วว่า มีสิทธิ์ตกเป็นเป้าในพรรคอย่างมากกับการออกมาเปิดประเด็นดังกล่าวในสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายต่างก็เห็นว่าเรื่องการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯเป็นเรื่องแหลมคมและอ่อนไหวทางการเมือง

อีกทั้งก็ย่อมรู้ดีว่า ที่ผ่านมาพรรคแสดงท่าทีในเรื่องนี้ชัดเจนมาตลอดคือ ไม่เอาด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมฯ ล้างผิดแบบเหมาเข่งตามร่างของวรชัยและพวก และมีจุดยืนว่าแม้จะเห็นด้วยกับหลักการตามร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับญาติเสื้อแดงแต่ก็มีเงื่อนไขว่าการจะให้พรรคตอบรับกับเรื่องนิรโทษกรรม จะต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่คือต้องให้พรรคร่วมรัฐบาล สั่งให้ส.ส.ที่ลงชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมและพ.ร.บ.ปรองดองที่มีอยู่ด้วยกันหลายร่างออกจากสภาฯมาให้หมดก่อนแล้วมาตั้งโต๊ะถกกันให้ชัดเจนเพื่อหาข้อสรุปในเรื่องการนิรโทษกรรมว่าจะทำภายใต้กรอบแบบไหนที่สังคมรับได้ ซึ่งก็เป็นแนวทางที่คนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยพอสมควร

แล้วทำไม “อลงกรณ์”จึงไม่ตอบรับกับหลักการนี้ จนบอกว่าหากที่ประชุมพรรค 30 ก.ค.ไม่เอาด้วยกับข้อเสนอของตนเองก็จะใช้สิทธิความเป็นส.ส.ไปเคลื่อนไหวเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯดังกล่าวของตัวเองที่บอกว่ามีด้วยกัน 8 มาตรา เนื้อหาหลักการคล้ายคลึงกับฉบับญาติเสื้อแดงแตกต่างที่รายละเอียดที่ปิดจุดด้อยฉบับญาติเสื้อแดงเอาไว้เช่นประเภทความผิดที่จะได้รับนิรโทษกรรม จะไม่เหมาเข่งพ่วงพวกทำผิดมาตรา 112 และพวกโดนคดีทุจริตคอร์รัปชั่นไว้ด้วย ขณะที่ผู้สั่งการ แกนนำ หรือผู้จงใจกระทำความผิดกฎหมายอาญา ในลักษณะมุ่งต่อทรัพย์สิน -มุ่งทำลายทรัพย์สินของเอกชนและราชการ และมุ่งต่อชีวิตของคนอื่น จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม

จนถึงขณะนี้หลังอลงกรณ์ออกมาเปิดประเด็นเรื่องนี้ เห็นได้ชัดว่ายังไร้แนวร่วมในพรรคที่จะเอาด้วย แม้แต่กับลูกทีมที่เป็นส.ส.ภาคกลาง ก็ยังเงียบกริบ จนทำให้ดูเหมือน อลงกรณ์จะเป็นพวกโดดเดี่ยว-แกะดำในปชป.ไปแล้วหลังก่อนหน้านี้เคยออกมาขับเคลื่อนเรื่องปฏิรูปพรรคปชป.แต่เสียงตอบรับจากคนในพรรคกลับแผ่วเบา

ไม่มีแนวร่วมไม่พอ กลับพบว่า อลงกรณ์ เริ่มโดนคนในพรรคทิ่มเข้าใส่หลายดอกแล้ว ไล่ตั้งแต่อภิสิทธิ์ ที่เสียงแข็งยืนกรานเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

“จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีแนวคิดที่จะไปเสนอกฎหมายที่เข้าไปแล้วจะกลายเป็นเหยื่อของฝ่ายรัฐบาล”

ตอกกลับนิ่มๆ แต่แรงเข้าลำตัวของอลงกรณ์ กันเลย กับการย้ำของอภิสิทธิ์ หลังโดนอลงกรณ์ทิ่มเข้าใส่ก่อนว่า เรื่องการเสนอพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฯ พรรคต้องไม่คิดเล็กคิดน้อยมองทุกอย่างเป็นการเมืองหมด

ขยายความคำว่าเหยื่อของอภิสิทธิ์ที่ทิ่มเข้าใส่อลงกรณ์ ก็คือการพยายามจะบอกว่า แม้ข้อเสนอของอลงกรณ์จะเป็นแนวคิดที่ดีในการให้พรรคเข้าไปมีส่วนร่วมเรื่องนี้ทางกระบวนการนิติบัญญัติ แต่เป็นข้อเสนอที่จะไปเข้าตีนพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง

เพราะเมื่อมีคนของปชป. เอาด้วยกับเรื่องนิรโทษกรรมแล้วเสนอเป็นพ.ร.บ.เข้าสภาฯ ก็จะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับเพื่อไทยได้ทันทีว่าทุกพรรคแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังเอาด้วยกับการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯเพียงแต่แตกต่างในเรื่องรายละเอียดเนื้อหา

จากนั้นแม้ตอนพิจารณาโหวตเห็นชอบในวาระแรก ฝ่ายวิปรัฐบาลอาจเสนอให้นำร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของอลงกรณ์หรือส.ส.ปชป.เข้าไปร่วมพิจารณาด้วยในชั้นกมธ. ด้วยเหตุผลว่ามีเนื้อหาใกล้เคียงกัน แล้วตั้งคนของปชป.เข้าไปร่วมเป็นกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ด้วย แต่ก็ยังเป็นกมธ.เสียงข้างน้อยอยู่ดี

พอเข้าไปในชั้นกมธ. ต่อให้กมธ.ปชป.พยายามแย้งไม่เอาด้วยกับหลักการและตัวบทบัญญัติตามร่างของวรชัยและพรรคเพื่อไทยโดยพยายามนำเสนอให้ใช้แนวทางที่พรรคปชป.ต้องการแต่ก็ต้องไปแพ้โหวตในชั้นกมธ.อยู่ดีแม้จะมีหลักการและเหตุผลดีกว่ามาก จนคลอดออกมาเป็นร่างกมธ.ที่เสนอเข้าสภาฯวาระ 2 และ 3 ที่ปชป.ก็ต้องแพ้โหวตในสภาฯอีก จนส่งร่างไปวุฒิสภา แล้วคลอดออกมาเป็นพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ

ถึงตอนนั้น หากปชป.จะออกมาส่งเสียงไม่เห็นด้วยกับการร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ แต่เสียงค้านของปชป.ก็จะหมดความชอบธรรมไปแล้ว หากออกมาคัดค้าน เพื่อไทยก็จะดิสเครดิตกลับมาว่า ปชป.ตีรวน ไม่เคารพกติกาและเสียงข้างมากเมื่อแพ้โหวตก็ต้องยอมรับสภาพ

นี่คือ ประเด็นสำคัญ ที่ปชป.พยายามจะบอกว่าทำไมพรรคถึงไม่ยอมเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯเข้าสภาฯ เพราะรู้ดีว่า ทำแล้วเสียมากกว่าได้ จึงพยายามดึงเพื่อไทย เข้ามาอยู่ในเกมของปชป.ที่ต้องการให้ถอนร่างทั้งหมดก่อนแล้วมาตั้งโต๊ะคุยกันก่อน แต่เพื่อไทยก็รู้ว่าเกมของปชป.จะทำให้เสียคะแนนนิยมจากคนเสื้อแดง ก็ไม่เข้ามาในเกมของปชป.อยู่ดี

แน่นอนว่า การเมืองเป็นเรื่องที่เห็นต่างกัน มองต่างมุมได้ อลงกรณ์ก็มีเหตุผลของอลงกรณ์ แม้จะมีข้อให้แย้งได้หลายประเด็นว่าการเคลื่อนของอลงกรณ์เป็นหลักการที่ดีแต่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์เวลานี้

ขณะที่อภิสิทธิ์และปชป.ก็มีเหตุผลที่ต้องรักษาจุดยืนของพรรคเอาไว้จะมาเปลี่ยนแบบทันทีทันใดไม่ได้ หากจะเปลี่ยนก็ต้องนำไปคุยในพรรค แล้วโหวตกันในที่ประชุมถ้าพรรคมีมติแล้ว อลงกรณ์จะฝืนมติพรรคไม่ได้ ตรงนี้ก็เป็นข้ออ้างของอภิสิทธิ์ที่ก็รับฟังได้เช่นกัน

เมื่อต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลก็ต้องไปคุยกันในวันที่ 30 ก.ค.นี้ ส่วนที่ว่าจะบานปลายถึงขั้นทำให้ เสี่ยจ้อน ต้องทางใครทางมันกับปชป.จนไปอยู่กับพรรคเพื่อไทยและทักษิณ ชินวัตรตามรอยอดีตปชป.หลายคนก่อนหน้านี้ที่พอออกจากปชป.แล้วได้ดีกันหมด

อย่าง ยงยุทธ ติยะไพรัช-นพดล ปัทมะ-สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล-ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร หรือไม่?

หลังก่อนหน้านี้ ก็เคยมีข่าวว่าช่วงทักษิณตั้งพรรคไทยรักไทย ก็เคยมีการตามจีบอลงกรณ์ให้ไปอยู่ด้วย แต่อลงกรณ์ไม่เอาด้วย หลายคนก็ยังมองว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่อลงกรณ์จะย้ายพรรคถึงขั้นไปอยู่กับทักษิณ

แม้อลงกรณ์จะมีพรรคพวกมากมายในเพื่อไทย รวมถึงคนใกล้ชิดเพื่อนสนิทของอลงกรณ์ก็มีหลายคนที่สนิทกับทักษิณที่อาจเป็นคนกลางเชื่อมให้ อาทิสัญญา สถิรบุตร อดีตนักการเมืองรุ่นใหญ่ที่ทักษิณ ชินวัตรรู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดี แต่ก็มีการวิเคราะห์ว่าหากอลงกรณ์ย้ายพรรคจริงถ้าขัดแย้งกับคนในพรรคหนักๆ คงเป็นพรรคอื่นที่จะไปอยู่ด้วยมากกว่าเพื่อไทย

ส่วนที่วิจารณ์กันว่า อลงกรณ์ “มีวาระซ่อนเร้น”หรือเปล่า ก็พูดกันไปได้ แต่เมื่ออลงกรณ์เคยออกมายืนยันตอนช่วงมีปัญหากับคนในพรรคเรื่องเสนอให้ปฏิรูปพรรคแล้วโดนผู้ใหญ่ในพรรคอย่าง ชวน หลีกภัย ตำหนิ เสี่ยจ้อนยืนกรานช่วงนั้นว่าไม่เคยคิดย้ายออกจากพรรคปชป.

ก็ต้องเชื่อ สัจจะลูกผู้ชายไว้ก่อน แม้การเมืองเป็นเรื่องที่ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ก็ตาม!
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ทักษิณ ชินวัตร
กำลังโหลดความคิดเห็น