xs
xsm
sm
md
lg

“ถวิล” จวกรัฐตั้งรับถกโจรใต้เกิน ซัด “ภราดร” ทำตัวเป็นโฆษก BRN ไขสือตกลงอะไรกันมา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
ที่ปรึกษานายกฯ ชี้ข้อตกลงยุติยิงไม่ได้รวมปัจจัยอื่นได้ทั้งหมด บอกต้องเอาแต่ละเหตุมาคุยบนโต๊ะ อย่าโบ้ยมั่ว ซัดฝ่ายไทยตั้งรับเกิน ระบุบีอาร์เอ็นรวมสะเดาพื้นที่ป่วนเรื่องใหญ่ มาเลย์ต้องแจง สงสัย “ภราดร” ตกลงอะไรกันมาหรือไม่ หลังหลุดโพล่งเขตปกครองพิเศษ แถมเพื่อนบ้านปรับบทเป็นคนไกล่เกลี่ยเกินหน้าที่ เตือนเลขาฯ สมช.อย่าเป็น หน.ทีมถก จวกทำตัวเป็นโฆษกโจร หนุนให้คนอื่นพูดแทน

วันนี้ (24 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ เปิดเผยถึงสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ช่วงเดือนรอมฎอนว่า ข้อตกลงยุติหรือลดการก่อเหตุรุนแรงของบีอาร์เอ็นกับทางตัวแทนฝ่ายไทย ค่อนข้างมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก เพราะเราควบคุมปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้ โดย นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ในฐานะตัวแทนในการพูดคุยสันติภาพกับตัวแทนรัฐบาลไทยโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) อาจจะควบคุมคนของตัวเองได้ แต่ก็มีอีกบางส่วนที่คุมไม่ได้ รวมไปถึงกลุ่มอื่นๆ ที่พร้อมสร้างสถานการณ์ด้วย อีกทั้งยังมีกลุ่มอื่นที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับอุดมการณ์การเมืองเลย เป็นกลุ่มประโยชน์เรื่องของผิดกฎหมายทั้งหลายก็พร้อมที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นมา ก่อกวนไม่ให้สถานการณ์เรียบร้อย เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง หรือแม้แต่เรื่องส่วนตัว และการเมืองท้องถิ่นต่างๆ ข้อตกลงยุติความรุนแรงไม่ได้ควบคุมปัจจัยได้ทั้งหมด โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาด หรือปัจจัยแทรกแซงขึ้นมาก็มี อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองว่าสังคมมีความเข้าใจว่าการทำข้อตกลงเช่นนี้มีความสุ่มเสี่ยงต่อปัจจัยใดบ้าง

“เมื่อมีข้อตกลงแล้วทางที่ดีที่สุดต้องมีการพิสูจน์ทราบจากทั้งสองฝ่ายว่า หลังจากผ่านช่วงรอมฎอนนี้แล้ว เหตุแต่ละเหตุมีคำอธิบายอย่างไร แล้วนำมาคุยกันบนโต๊ะ แต่ไม่ใช่พอเกิดเหตุมาโทษกันไปมาแบบนี้ ต้องมีความอดทนทั้งสองฝ่าย และต้องไม่ใช่จะมาระวังตัวมากเกินไป อย่างเลขาฯ สมช. (พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร) ที่พอมีเหตุก็บอกทันทีเลยว่าเรื่องส่วนตัว แบบนี้อย่างเพิ่งพูดดีกว่า” นายถวิล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมองเฉพาะช่วงรอมฎอนที่ผ่านมา ถือว่าเหตุการณ์ความรุนแรงลดลงจากปีก่อนๆ นายถวิล กล่าวว่า หากดูตามสถิติต้องถือว่าเบาลง แต่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าก่อนหน้านี้มีการก่อเหตุมามากแล้ว ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็แสดงว่าบีอาร์เอ็นอาจจะมีส่วนพอสมควร แต่สิ่งที่ระมัดระวังคือเรื่องเหตุแทรกแซงและขอบเขตการปฏิบัติ ซึ่งเชื่อว่ามีข้อตกลงกันอยู่ เพราะไม่ใช่ว่าช่วงนี้เจ้าหน้าที่รัฐจะอยู่เฉพาะในที่ตั้งอย่างเดียว การปิดล้อมตรวจค้นหรือการเผชิญเหตุยังต้องมีอยู่

นายถวิล ในฐานะอดีตเลขาฯ สมช.กล่าวด้วยว่า บางเรื่องฝ่ายไทยก็เล่นบทตั้งรับเกินไป อย่างกรณีที่กลุ่มบีอาร์เอ็น ประกาศให้ อ.สะเดา จ.สงขลา เป็นพื้นที่ไม่ก่อเหตุรุนแรงในช่วงรอมฎอน ทั้งที่ อ.สะเดา ไม่ใช่พื้นที่ที่มีการก่อความรุนแรง ถือเป็นเรื่องใหญ่ และไม่ใช่หน้าที่ของคนเป็นเลขาฯ สมช.ที่จะมาอธิบายแทนบีอาร์เอ็น เป็นเรื่องที่ทางมาเลเซีย หรือบีอาร์เอ็น ต้องอธิบายมากกว่า สมช.มีหน้าที่ต้องเอาพื้นที่ออกมาเท่านั้น

“สะท้อนให้เห็นว่า สมช.พยายามจะเดินแนวทางการพูดคุยให้ได้ อะไรเกิดขึ้นก็ปัดออกๆ เพื่อขอเดินเส้นทางเดิมให้ได้ สะท้อนให้เห็นว่าเป็นตัวของตัวเองมากพอหรือเปล่า อย่างที่เราสงสัยกันว่า มีการตีเส้นให้เดินหรือไม่ ตกลงอะไรกันมาไหม เพราะก่อนหน้านี้ เลขาฯ สมช.อยู่ๆ ก็หลุดเรื่องเขตปกครองพิเศษออกมา ทั้งที่ผู้สื่อข่าวยังไม่ทันถามเลย” นายถวิล กล่าว

นายถวิล กล่าวอีกว่า อีกเรื่องที่น่าสังเกตคือ การที่ฝ่ายมาเลเซียก็ปรับบทบาทจากผู้อำนวยความสะดวก (Facilitators) มาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย (Mediator) ซึ่งบทบาทขยับสูงขึ้น แล้วยังมี นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่ออกมาเสนอเรื่องเขตปกครองพิเศษ มองผิวเผินเหมือนดูดีที่ไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน แต่ตามหลักความเป็นจริงเรื่องดินแดนถือว่าไม่ใช่หน้าที่ของทางมาเลเซีย ยกตัวอย่างหากฝ่ายไทยไปบอกว่าเมืองปีนัง น่าจะแยกเป็นเขตปกครองพิเศษบ้าง ฝ่ายมาเลเซียก็คงไม่พอใจเช่นกัน จุดนี้ชี้ให้เห็นว่าฝ่ายไทยไม่เคยเล่นบทบาทเชิงรุก

นายถวิล อธิบายด้วยว่า บทบาทของเลขาฯ สมช.เป็นเรื่องของนโยบาย ซึ่งนโยบายด้านความมั่นคงของชาติมีหลายด้าน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องภาคใต้ แต่พอนำตัวเองเข้าไปอยู่ในคณะพูดคุยสันติภาพ งานด้านอื่นก็ชะงัก สมช.ไม่ควรเสียเวลาเช่นนั้น ซึ่งก่อนหน้านี้ตนได้แสดงความไม่เห็นด้วยแล้วว่า เลขาฯสมช.ไม่ควรเป็นหัวหน้าทีมพูดคุย เพราะถือว่าใช้ตำแหน่งสูงเกินไป ทำให้พลิกตัวยาก ขยับเรื่องอื่นไม่ได้ มามุ่งแต่เรื่องภาคใต้ และเป็นภาคใต้เพียงส่วนเดียว เพราะมีอีกหลายมิติที่ต้องเดินหน้าควบคู่กันไปด้วย ดังนั้นต้องมีการปรับและทบทวนบทบาทของ สมช.

“การที่เป็นเลขาฯ สมช.แล้วไปเป็นหัวหน้าชุดพูดคุย แล้วยังทำเกินหน้าที่ ออกมาชี้แจงทุกเรื่อง ชี้แจงทีไรก็เข้าตัวทุกที บางครั้งยังเป็นโฆษกบีอาร์เอ็นอีกด้วย ดังนั้นควรจะมีการตั้งโฆษกเฉพาะในการพูดเรื่องเหตุการณ์ภาคใต้ของฝ่ายไทย ไม่จำเป็นต้องให้เลขาฯ สมช.ออกมาพูดตลอด” อดีตเลขาฯ สมช.ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น