xs
xsm
sm
md
lg

กอ.รมน.โวช่วงละศีลอดเหตุป่วนใต้น้อยลง สมช.โบ้ยมีพวกนอกรีตทำเชื่อมั่นเต็มร้อยไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แถลงข่าวแก้ไฟใต้ ศอ.บต.เผยช่วงละศีลอดสถานการณ์ดี เอื้อต่อการเกิดสันติสุข กอ.รมน.เผย 9 วันแรกมีเหตุแค่ 3 ครั้ง จากปีก่อน 12-18 ครั้ง สมช.อ้างมาเลย์เอาพื้นที่สะเดาโยงเหตุไฟใต้แค่ข้อเสนอ อาจมองภาพกว้างทางเศรษฐกิจ เผยอาจเชื่อมั่นบีอาร์เอ็นเต็มร้อยไม่ได้ โบ้ยอาจมีพวกนอกรีต หนุนดูแลคุ้มครองพยาน เตรียมชงในที่ประชุม ศปก.กปต.

วันนี้ (19 ก.ค.) ที่กระทรวงกลาโหม พล.ต.สุรชาติ จิตต์แจ้ง หัวหน้าส่วนงานโฆษกกระทรวงกลาโหม สารสนเทศ และกิจการพลเรือน สำนักรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม พร้อมผู้แทนจากส่วนราชการ ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนายสัมพันธ์ มูซอดี ผู้ช่วยเลขาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า กลุ่มงานสนับสนุนการสร้างสภาวะที่เกื้อกูลต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี ได้มีส่วนส่งเสริม และเห็นความสำคัญยิ่งในช่วงเดือนรอมฏอน ที่ถือว่าเป็นเดือนที่ประเสริฐของพี่น้องชาวมุสลิมทั่วโลก บรรยากาศในเดือนนี้ได้เอื้อต่อการที่จะเกิดความสันติสุขอย่างแท้จริง สิ่งที่บ่งบอกได้ถึงสถานการณ์ที่ส่งสัญญานดีขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือช่วงละศีลอด ในช่วงเย็น มีประชาชนออกมาจับจ่ายซื้อของมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะตัวเมืองทั้ง 5 จังหวัดชายแดนใต้ รถจะติดเป็นระยะทางยาว นอกจากนี้ ทาง ศอ.บต.ได้ส่งเสริมในเรื่องภาษามลายูที่ใช้กันในทื้นที่ โดยได้ผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติศาสนกิจเป็นภาษามลายู วิทยุกระจายกรมประชาสัมพันธ์ ภาษามลายู ตลอด 24 ชั่วโมง

พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ชี้แจงว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ดำเนินการฝึกบุคลากรครูเพื่อป้องกันตนในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำนวน 7 รุ่น รวม 360 คน โดยร้อยละ 87 มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถป้องกันตนเองได้ ส่วนของแผนพิทักษ์ 7 เมืองใหญ่ คือ อ.เมืองยะลา อ.เมืองปัตตานี อ.เมืองนราธิวาส อ.เบตง อ.สไหงโก-ลก อ.ตากใบ และ อ.หาดใหญ่ พบว่า การก่อเหตุรุนแรงในเขตเมืองลดลงเมื่อเทียบกับปี 2554 และ 2555 ขณะที่เดือนรอมฎอนปีนี้ การก่อเหตุรุนแรงลดลงจากปีที่ผ่านมา มีประชาชนออกมาละหมาดที่มัสยิดในตอนกลางคืนมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดย 9 วันแรกของเดือนรอมฎอน มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่รัฐเพียง 3 ครั้ง และหากเทียบกับในช่วงเดียวกันของปี 2548 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นประมาณ 12- 18 ครั้ง

ด้าน พ.อ.จรูญ อำภา ที่ปรึกษาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงกรณีที่นายดาโต๊ะซัมซามีน ผู้ประสานงานของมาเลเซีย แถลงต่อสื่อฯ โดยใช้คำว่า “บันทึกความเข้าใจร่วมกัน” ในกรณีประกาศเอาพื้นที่ อ.สะเดา จ.สงขลา รวมเข้ามาเป็นพื้นที่เกี่ยวพันกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ว่า การควบรวมหรือเสนอให้รวม อ.สะเดาเป็นพื้นที่ที่มีการก่อเหตุเพิ่มเติมจากพื้นที่ 4 อำเภอ จ.สงขลานั้นเป็นเพียงข้อเสนอของผู้แทนประเทศมาเลเซีย ซึ่งผู้บังคับบัญชาทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงได้ตระหนักและมีความเห็นที่รู้สึกไม่สบายใจที่เขาเสนอมา แต่เราเพียงแค่รับฟัง เพราะเป็นข้อเสนอจากการพูดคุย ซึ่งต้องนำมาศึกษาวิเคราะห์ร่วมกันว่าเหตุใดจึงต้องรวม เราเพียงแต่รับฟังและมองภาพกว้างว่าเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ ซึ่งเราต้องวิเคราะห์ว่าสิ่งที่เขาเสนอมาเป็นข้อเรียกร้องจากประชาชนหรือเป็นเพียงข้อเสนอของประเทศ

ทั้งนี้ เรามองว่าในเรื่องของการกำหนดพื้นที่ความมั่นคง เรากำลังเดินไปในทางที่ถูกต้อง โดยลดพื้นที่ เมื่อไม่มีเหตุรุนแรงเราก็ลดการบังคับใช้กฎหมายลง ซึ่งในพื้นที่ อ.สะเดาไม่มีเหตุรุนแรงที่เราจะต้องนำมาวิเคราะห์ ส่วนของมิติด้านความมั่นคงนั้นยังไม่มีเหตุอันจำเป็นที่จะต้องนำมาผนวกเป็นพื้นที่ที่มีความรุนแรง กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำเรื่องเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยผ่านมาทาง สมช. จากนั้นจะเป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศที่จะต้องตอบต่อไปว่าเราไม่เห็นด้วยที่จะหยิบยกขึ้นมา

เมื่อถามว่า ขณะนี้ยังมีการก่อเหตุในพื้นที่ แม้ตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นประกาศยุติการก่อเหตุในช่วงรอมฎอน พ.อ.จรูญกล่าวว่า เราต้องใช้เวลาพิสูจน์ทราบจากพยานบุคคล พยานหลักฐาน และนิติวิทยาศาสตร์ก่อนว่าเหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากภัยแทรกซ้อนอื่นหรือไม่ หรือเกิดจากความคิดเห็นส่วนตัว หรือความไม่พอใจต่างๆ ที่เกิดกับหน่วยในพื้นที่ ซึ่งเราไปขัดขวางเส้นทางการลำเลียงของเขาหรือไม่ ทั้งเรื่องอาวุธ สิ่งเสพติด และสินค้าเถื่อนจึงยังไม่สามารถสรุปได้ แต่เราได้หารือกันไว้ว่า เราจะเชื่อมั่นร้อยเปอร์เซ็นต์คงเป็นไปไม่ได้ เพราะอาจจะเป็นมีเปอร์เซ็นต์ที่เกิดขึ้น หากมองมิติความรุนแรงนั้นยังมีกลุ่มยังที่ไม่เห็นด้วยอยู่

ทั้งนี้ ตนมองว่าการก่อเหตุที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำนอกรีตและนอกศาสนา เพราะทุกศาสนาต้องการความสงบสุข ส่วนความคืบหน้าในการดูแลคุ้มครองพยานในพื้นที่นั้น ทาง สมช.พร้อมขับเคลื่อนพร้อมเป็นแม่งานในช่องทางที่ถูกต้องและรวดเร็วสามารถดำเนินการได้ทุกช่องทาง เพราะสุดท้ายจะมาจบที่ สมช. ตนได้นำเรียงผู้แทนของกระทรวงยุติธรรมว่านำแผนเรื่องการคุ้มครองพยานและการจัดหาเครื่องมือด้านนิติวิทยาศาสตร์ ที่จะทำให้คดีหลุดน้อยที่สุดเสนอผ่านงานด้านความยุติธรรมนำเข้ามาประชุมร่วมกันในศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์แก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) เพื่ออนุมัติในที่ประชุมในเร็วๆ นี้ เนื่องจากมีงบประมาณเพียงพอในการขับเคลื่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น