กมธ.ที่ดินฯ ถกแผ่นแม่บทฟื้นฟูป่าระบบนิเวศ เชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องแจง พร้อมถามถึงการรับฟังโครงการจัดการน้ำ เรื่องปลูกป่า ปชป.แนะใช้วิธีเดียวกับม้ง ฝ่ายรับผิดชอบย้ำเลือกพื้นที่ไร้ปัญหา เสนอ กบอ.อนุมัติปลูกต้นกล้าเพิ่ม ผู้ตรวจ ก.ทรัพย์แจงใช้เงินกู้ปลูกไม่ทันก็ไม่ทัน อนุ กก.กบอ.รับตามเป้ายาก รองอธิบดีกรมอุทยานฯ เผยแผนปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาราชินี ระยะที่ 2 กมธ.บี้ รบ.ฟังศาล ปค. ห่วงใช้ที่ทับของ ปชช.
วันนี้ (3 ก.ค.) คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาแผนแม่บทการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศ 25 ลุ่มน้ำ ของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง ประกอบด้วย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมป่าไม้
ทั้งนี้ กมธ.ได้สอบถามถึงความก้าวหน้าของโครงการ และกรณีที่ศาลปกครองมีคำสั่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง ว่าด้วยการจัดทำรับฟังความเห็นของประชาชนต่อแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ก่อนดำเนินการจ้างและออกแบบแต่ละแผนงาน โดยโครงการปลูกป่าที่ 3 หน่วยงานรับผิดชอบนั้นถือเป็น 1 ในแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ จึงจำเป็นหรือไม่ที่ต้องรับฟังความเห็นก่อน
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า โครงการปลูกป่าดังกล่าวอยากให้มีการเจรจา เช่นที่ได้เคยเจรจากับชาวม้ง คือ ให้มีการปลูกป่าส่วนหนึ่งและทำพืชเพื่อเลี้ยงชีพอีกส่วนหนึ่ง ที่ผ่านมาวิธีการดังกล่าวใช้ได้ผลจนประสบความสำเร็จ อีกทั้งทำให้ชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวมาดูแลป่าที่ทางหน่วยงานได้ปลูก
ด้าน น.ส.สุทธิลักษณ์ ระริวรรณ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ชี้แจงว่า ขั้นตอนการเลือกพื้นที่จะเน้นใช้สภาพป่าเสื่อมโทรมและต้องไม่มีปัญหากับ ประชาชนในพื้นที่ อีกทั้ง ได้ใช้ระบบดาวเทียมเข้ามาจับพิกัดพื้นที่คร่าวๆ ก่อนที่จะลงไปตรวจสอบพื้นที่จริง อย่างไรก็ดี หากลงพื้นที่ไปแล้วพบว่าพื้นที่ใดมีปัญหาจะไม่นำพื้นที่ดังกล่าวมาทำโครงการปลูกป่า แต่หากพื้นที่ใดไม่พบปัญหา จะให้ผู้ใหญ่บ้านลงนามรับรองว่าพื้นที่นั้นไม่มีปัญหากับชาวบ้าน ก่อนที่จะส่งเรื่องให้อธิบดีกรมทรัพยากรฯ พิจารณาและส่งให้ กบอ.อนุมัติต่อไป สำหรับเป้าหมายที่ กบอ.ให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินการปลูกป่า มีทั้งหมด 2.6 หมื่นไร่ ภายใน 5 ปี โดยในปี 2556 ตั้งเป้าให้ดำเนินการ 8,600 ไร่ แต่การสำรวจพื้นที่จริงพบว่ามีพื้นที่ทำโครงการได้เพียง 4,400 ไร่ แต่ขณะนี้ประสบปัญหาเรื่องต้นกล้าที่จะนำมาเพาะปลูกในพื้นที่ที่กรมฯ ดำเนินการมีไม่เพียงพอ เพราะเป็นพื้นที่ป่าชายเลน ดังนั้น ทางกรมฯ เตรียมเสนอให้ กบอ.พิจารณาอนุมัติโครงการภายใต้เนื้อที่ 1,700 ไร่ ใน 6 จังหวัด
ขณะที่นายชลธิศ สุรัสวดี ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงว่า ในการปลูกป่าปี 2557 จะใช้กล้าที่เพาะในปี 2556 หรือเป็นกล้าข้ามปี เพื่อให้ไม่มีปัญหาต่อการต่อสู้กับโรค, แมลงหรือไฟป่า นอกจากนั้นแล้วในการอนุมัติให้เพาะกล้าต้นไม้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องเป็นพื้นที่ที่มีแปลงปลูก ซึ่งการดำเนินการ เราต้องการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 12 ส.ค.นี้ แต่หากไม่ทันก็ไม่ทัน เพราะการปลูกต้นไม้ที่ใช้เงินกู้นั้นหากระยะเวลาล่าช้าและไม่ทันก็ถือว่าไม่ทัน
ด้านนายสังเวียน คงดี อนุกรรมการ กบอ.ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการติดตามตรวจสอบผลการปลูกป่าและบำรุง โครงการประชาอาสาปลูกป่า กล่าวว่า โครงการปลูกป่าดังกล่าว มองว่าเป็นสิ่งที่ยากจะทำให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะหากจะปลูกป่าแล้วได้ผลดี ต้องปลูกในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ แต่หากเลยระยะเวลานี้ออกอาจจะทำให้มีปัญหาได้
นายนิพนธ์ โชติบาล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า โครงการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าต้นน้ำและโครงการประชาอาสาปลูกป่า 800 ล้านกล้า 80 พรรษามหาราชินี เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชมนพรรษา 12 สิงหาคม 2555 ระยะที่ 2 ปี 2556-2560 โดยในปี 2556 ส่วนของกรมอุทยานฯ มีเป้าหมายปลูกป่าจำนวน 2 แสนไร่ พื้นที่ 25 ลุ่มน้ำ ใน 36 จังหวัด อย่างไรก็ดี ในวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา กบอ.ได้อนุมัติพื้นที่ไปแล้ว ได้แก่ พื้นที่ภาคเหนือ 14 จังหวัด ยกเว้น พะเยา, สุโขทัย รวมเนื้อที่ 1.32 แสนไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 10 จังหวัด ยกเว้น อุดรธานี, ชัยภูมิ รวมเนื้อที่ 1 หมื่นไร่
ประธาน กมธ.กล่าวสรุปต่อที่ประชุม ว่า 1. อยากให้ทุกหน่วยงานได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครอง และปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกฯ ที่ว่าด้วยการรับฟังความเห็นของประชาชน พ.ศ. 2540 2. กมธ.จะทำหนังสือไปถึงรัฐบาลเพื่อให้เร่งรัดการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 (2) และ 3. อยากให้ใช้หน่วยงานปกติเข้ามาดำเนินงานโครงการ และจากนั้น กมธ.จะนำรายงานการประชุมวันนี้ (3 ก.ค.) ส่งถึงนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคนใหม่ เพื่อให้ทราบถึงการทำงานของกมธ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กมธ.ส่วนใหญ่ได้มีการตั้งข้อสังเกตต่อการเลือกใช้พื้นที่ที่มีปัญหาทับซ้อนเรื่องที่ดินทำกินของประชาชน โดยฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลจัดการเรื่องดังกล่าวเพื่อป้องกันการเกิดปัญหา