xs
xsm
sm
md
lg

ครม.สรุปฟ้าผ่าต้นตอไฟดับใต้ หาแนวทางล้อมคอก-ของบกลาง 1.9 พันล้านช่วยเกษตรกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
ครม.สรุป ไฟดับ 14 จว.ใต้เหตุฟ้าผ่า สั่ง กฟผ.วางแนวทางล้อมคอก เห็นชอบร่างจัดการการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินภายในบริเวณโรงงาน ขอเงินงบกลาง 1.9 พันล้าน ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรปี 2555 ต่อสัญญาเช่าที่ดินย่านรัชดาภิเษกให้อัยการสูงสุดสร้างสำนักงาน-สถานีแก๊สไป 16 ปี

วันนี้ (28 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธีรัตน์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.สรุปเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้เมื่อวันที่ 21 พ.ค. เวลา 18.52 น. โดยกระทรวงพลังงานสรุปปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นต่อ ครม. ว่า 1.ระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 โวลต์ จอมบึง-บางสะพาน 2 วงจรที่ 1 เกิดลัดวงจรและขัดข้องเนื่องจากถูกฟ้าผ่า 2. การเพิ่มกำลังไฟฟ้าสำรองจากมาเลเซียเกิดปัญหาจาการทำงานที่ผิดพลาดของระบบป้องกันสายส่งเชื่อมโยงกระแสตรง (HVDC) ในประเทศมาเลเซีย 3.การทำงานที่ไม่เหมาะสม และครบถ้วนของระบบป้องกันอัตโนมัติความถี่ต่ำ (Under Frequency)

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้เสนอแนวทางแก้ไข โดยสั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ดำเนินการแก้ไขเหตุการณ์ในกรณีของอนาคต โดยมีแนวทางเบื้องต้นคือ 1.พัศนาการบริหารจัดการระบบสายส่งไฟฟ้า และสายจำหน่ายให้เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ รวมทั้งขยายระบบสายส่งไฟฟ้าสำหรับอนาคต ครอบคลุมประเด็นด้านการกำหนดแนวทางการขนานระบบที่อยู่ในสภาพมุมต่างกันมาก การปรับปรุงระบบป้องกันความถี่ต่ำ ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ให้ทำงานถูกต้องครบถ้วนตามแผน และจัดหาเครื่องมือพิเศษเพื่อช่วยในการควบคุมระบบให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 2.พิจารณากระจายอำนาจในการสั่งดับไฟเฉพาะจุดในบางบริเวณเพื่อป้องกันไฟดับในพื้นที่ส่วนใหญ่ เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีความเห็นเบื้องต้นว่า การกำกับการสั่งจ่ายไฟฟ้าของศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า ของ กฟผ.นั้น ในทางปฏิบัติตามปกติ กฟผ.มีหลักปฏิบัติของศูนย์ควบคุมฯ ทั้งในภาวะปกติและฉุกเฉิน โดย กกพ.จะเชิญผู้แทน กฟผ. และหน่วยงานเกี่ยวข้องมาร่วมกำหนดแนวทางปฏิบัติกรณีเกิดเหตุสุดวิสัยดังกล่าวเป็นการเร่งด่วน โดยคาดว่าจะมีแนวทางปฏิบัติเป็นรูปธรรมภายใน 2 สัปดาห์

ด้านนายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนากรัฐมนตรี กล่าวว่าคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการจัดการการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินภายในบริเวณโรงงาน พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงสาธารณสุขไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 1. กำหนดนิยามคำว่า “การปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดิน” “การตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำใต้ดิน” “ความเสี่ยง” และ “สารปนเปื้อน” 2. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจ และ 3. กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการต้องจัดให้มีการตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำใต้ดินภายในบริเวณโรงงาน ทั้งก่อนเริ่มประกอบกิจการโรงงาน และภายในระยะเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมประกาศกำหนด รวมทั้งดำเนินการตามขั้นตอนตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด

ต่อมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในกรอบวงเงิน จำนวน 1,969,139,492 บาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ภัยศัตรูพืชระบาด ภัยแล้ง วาตภัย ภัยฝนทิ้งช่วง และภัยอากาศแปรปรวน (ออกซิเจนในน้ำต่ำ) ช่วงประสบภัยระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนธันวาคม 2555 ให้แก่เกษตรกรจำนวน 143,079 ราย เป็นกรณีเฉพาะ ตามมติคณะกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 3 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2556

โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ดังนี้ 1. เกษตรกรผู้ประสบภัยด้านพืช (กรมส่งเสริมการเกษตร) จำนวน 5 ภัย ได้แก่ อุทกภัย ภัยศัตรูพืชระบาด ภัยแล้ง วาตภัยและภัยฝนทิ้งช่วง จำนวน 24 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา เชียงราย ชัยภูมิ ชุมพร ตาก นครสวรรค์ นครศรีธรรมราช บึงกาฬ ปราจีนบุรี พะเยา พังงา พิษณุโลก สระแก้ว สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี อุตรดิตถ์ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ราชบุรี เลย น่าน มหาสารคาม ลพบุรี และจังหวัดสุรินทร์ เกษตรกร จำนวน 134,116 ราย วงเงินช่วยเหลือ 1,865,865,155 บาท 2. เกษตรกรผู้ประสบภัยด้านประมง (กรมประมง) จำนวน 2 ภัย ได้แก่ อุทกภัยและอากาศแปรปรวน (ออกซิเจนในน้ำต่ำ) จำนวน 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ ตาก น่าน นครปฐม ปราจีนบุรี พังงา พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สระบุรี สุราษฎร์ธานี และจังหวัดอุบลราชธานี เกษตรกร จำนวน 8,000 ราย วงเงินช่วยเหลือ 100,361,332 บาท

3. เกษตรกรผู้ประสบภัยด้านปศุสัตว์ (กรมปศุสัตว์) จำนวน 1 ภัย ได้แก่ อุทกภัย จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครปฐม ปราจีนบุรี เพชรบูรณ์ สระแก้ว และจังหวัดสุโขทัย เกษตรกร จำนวน 963 ราย วงเงินช่วยเหลือ 2,913,005 บาท โดยให้กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์ ตรวจสอบเอกสารหลักฐานและรวบรวมส่งสำนักงบประมาณ พร้อมทั้งจัดทำคำขออนุมัติจัดสรรงบประมาณในคราวเดียวกัน และให้ถือว่าคำขอดังกล่าวเป็นคำขออนุมัติจัดสรรงบประมาณของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมสำเนาเส่ง ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่

อีกด้านหนึ่ง คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการบริหารสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศเพื่อดำรงตำแหน่งแทนผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ รวม 5 คน ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ดังนี้ 1. พลอากาศเอก พงศธร บัวทรัพย์ ประธานกรรมการ 2. พลโท เอกชัย วัชรประทีป กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ หรือวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม 3. นายบุญญรักษ์ ดวงรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหารจัดการและทรัพยากรบุคคล 4. นางสาวกริชผกา บุญเฟื่อง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย 5. นางพันธ์ทิพย์ สุรทิณฑ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน การบัญชีและการงบประมาณ การตรวจสอบ ประเมินผลและการบริหารความเสี่ยง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. 2556 เป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลิขสิทธิ์ จำนวน 12 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชุดเดิมได้ดำรงตำแหน่งมาครบกำหนดสองปีตามวาระแล้ว ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้ 1. นายสมพร มณีรัตนะกูล ผู้แทนสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย 2. นายเทียนชัย ปิ่นวิเศษ ผู้แทนสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ 3. นายบูรพา อารัมภีร ผู้แทนสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย 4. นางสาวอ่อนอุษา ลำเลียงพล ผู้แทนสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย 5. นายวรพันธ์ โลกิตสถาพร ผู้แทนสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย 6. นายบารมี เรืองกาญจนเศรษฐ์ ผู้แทนสมาคมโรงแรมไทย 7. นายวิรัช อยู่ถาวร ผู้ทรงคุณวุฒิ 8. นางสาวอรพรรณ พนัสพัฒนา ผู้ทรงคุณวุฒิ 9. นายสุชาติ ธรรมาพิทักษ์กุล ผู้ทรงคุณวุฒิ 10. นายเศรษฐา ศิระฉายา ผู้ทรงคุณวุฒิ 11. นายพิเศษ จียาศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ 12. นางมรกต กุลธรรมโยธิน ผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. 2556 เป็นต้นไป

ต่อมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ตามนัยมาตรา 13 (1) และ (3) แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2555 รวม 7 คน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ดังรายชื่อต่อไปนี้ นายธวัช สุนทราจารย์ ประธานกรรมการ โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประกอบด้วย นายมานิต ธีระตันติกานนท์ นายศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ นายประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ นายประเสริฐ เอื้อวรากุล นางสาวยุพิน ลาวัณย์ประเสริฐ นางสาวกุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. 2556 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กรรมการอื่นในคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (2 พฤศจิกายน 2555) แต่งตั้งไว้ พ้นจากตำแหน่ง จำนวน 7 คน และแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติใหม่แทน จำนวน 7 คน ตามที่กระทรวงทรัพยากรแห่งชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ดังนี้ กรรมการอื่นที่ให้พ้นจากตำแหน่ง 1. นายเสรี เวชชบุษกร 2. นายนิวัติ เรืองพานิช 3. นายนิพนธ์ ตั้งธรรม 4. นายธวัชชัย จึงเจริญ 5. นายชัยรัตน์ ชยามฤต 6. นายวิลาศ ผิวเหมาะ 7. นายฉกาจ ลาภานุพัฒน์ กรรมการอื่นที่เสนอแต่งตั้งใหม่ 1. นายบุญเรือง สายศร 2. นายไพรัตน์ ธารไชย 3. นายวิชิต พัฒนโกศัย 4. นายชลธิศ สุรัสวดี 5. นายชำนาญ พงษ์ศรี 6. นายมาโนช การพนักงาน 7. นายสำราญ รักชาติ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. 2556 เป็นต้นไป

อีกด้านหนึ่ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการ ให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ดำเนินการบันทึกต่อท้ายสัญญาเช่าที่ดิน บริเวณริมถนนรัชดาภิเษก เพื่อสร้างอาคารที่ทำการ และสถานีบริการแก๊สรถยนต์ ในลักษณะการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต่อไปอีกมีกำหนด 16 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2556 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2572 ค่าเช่าเป็นเงินปีละ 11,418,437 บาท โดยปรับเพิ่มค่าเช่าในอัตราร้อยละ 5 ของค่าเช่าคั้งสุดท้ายทุก 1 ปี โดยเพิ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2557 เป็นต้นไป จนกว่าจะครบำหนดสัญญาเช่า ทั้งนี้ ให้สำนักงบประมาณ จัดสรรเงินงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่าย


กำลังโหลดความคิดเห็น