xs
xsm
sm
md
lg

อดีตผู้พิพากษา พ้ออายแทน “ธงทอง” ดีกรีครูสอน กม.อุทธรณ์ประจบผู้มีอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ท่านชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา (แฟ้มภาพ)
“ชูชาติ ศรีแสง” ดักคอ “แดงเถือก-เพื่อแม้ว” ป่วนศาล ยก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง ประกอบ รธน.สำทับศาลพิพากษาโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านตามหลัก กม.อย่างชัดเจนที่สุด เหน็บ “ธงทอง” นักกฎหมายที่รักษาผลประโยชน์ชาติกับนักกฎหมายที่คิดเพียงประจบผู้มีอำนาจ ย่อมมีความเห็นต่างกันเสมอ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 27 มิ.ย.เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. ท่านชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Chuchart Srisaeng ถึงกรณี ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อนที่จะดำเนินการตามแผนการบริหารจัดการน้ำ ว่า

ตามที่ศาลปกครองกลาง ได้อ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ 940/2556 ที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับพวก รวม 45 คน ฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กบอช.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ขอให้เพิกถอนแผนบริหารจัดการน้ำที่ใช้งบประมาณจากพระราชกำหนดกู้เงิน 350,000 ล้านบาท เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง ที่ให้ทำรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างทั่วถึงก่อน รวมถึงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ

คำพิพากษากล่าวโดยสรุปว่า ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรีกับพวกดังกล่าว นำแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ กลับไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างทั่วถึง พร้อมจัดรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรคสอง และ มาตรา 67 วรรคสอง ก่อนที่จะลงนามในสัญญาว่าจ้างกับบริษัทเอกชน เนื่องจากมีโครงการบริหารจัดการน้ำที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง อาทิ โครงการแก้มลิง เพราะการที่ให้บริษัทเอกชนผู้รับจ้างไปรับฟังความคิดเห็นอาจได้ผลที่เบี่ยงเบนและไม่ตรงกับความเป็นจริง

นั่นคือคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่ทำให้การจะแสวงหาประโยชน์จากโครงการนี้ของพวกขี้โกงทั้งหลายที่วางแผนโกงอยู่ในต่างประเทศและพวกขี้โกงที่อยู่ในประเทศคงต้องชะงักไปชั่วคราว คอยดูกันต่อไปว่า พวกเสื้อแดงจะยกกำลังไปประท้วงศาลปกครองกลางหรือไม่ จะมีคนของพรรคเพื่อไทยออกมาประกาศไม่ยอมรับคำพิพากษาศาลปกครองกลางหรือไม่

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

ไปดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง

มาตรา 57 วรรคสอง บัญญัติว่า การวางแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การวางผังเมือง การกําหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสําคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ

มาตรา 67 วรรคสอง บัญญัติว่า การดําเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทํามิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มี กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดําเนินการดังกล่าว

ถ้าดูรัฐธรรมนูญมาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง ที่กำหนดให้การดำเนินการโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผล ฯลฯ แต่เมื่อไม่ได้ทำตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรานี้ ก็เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น

คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาตามมาตรา 9(1) ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น และเมื่อดูรัฐธรรมนูญมาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง ก็เห็นว่า ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ทุกประการอย่างชัดเจนที่สุด

มีเสียงจากนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบในการประมูลโครงการนี้ว่า จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุดอีก ก็น่าเสียดายที่ นายธงทอง จันทรางศุ ซึ่งเป็นอดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น่าจะอ่านรัฐธรรมนูญเข้าใจ ทั้งข้อความที่เป็นตัวอักษรและโดยเจตนารมณ์

นักกฎหมายที่รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนกับนักกฎหมายที่คิดเพียงประจบผู้มีอำนาจ ย่อมมีความเห็นต่างกันเสมอ ครับ !!!


กำลังโหลดความคิดเห็น