ปลัดสำนักนายกฯ เผย กบอ.เตรียมเดินสายทำความเข้าใจชาวบ้าน หลัง ครม.อนุมัติกรอบสร้างโครงการน้ำ 9 โมดูล ด้านรองนายกฯ เมิน ปชป.ถอดถอนรัฐบาลทั้งคณะ อ้างมองไม่ออก ปากกล้ายินดีตรวจสอบทุกขั้นตอน
วันนี้ (19 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมีมติเห็นชอบรายชื่อบริษัทและวงเงินในการบริหารจัดการน้ำทั้ง 9 โมดูลแล้วนั้น หลังจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งเป็นนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นคณะกรรมการ โดยตนอาจจะเป็นประธานในการคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาเช่นเดิม เนื่องจากคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะต้องมีการติดตามการทำงานของโครงการตั้งแต่ต้นเป็นอย่างดี ทั้งนี้ สำหรับรายชื่อคณะกรรมการคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาไม่จำเป็นจะต้องนำเข้าที่ประชุม ครม.อีก เนื่องจากเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว ขณะที่งบประมาณที่จะใช้ในการจ้างบริษัทที่ปรึกษาตั้งเพดานไว้ที่ 8,730 ล้านบาท จึงยังสามารถปรับลดได้อีกในภายหลัง และคาดว่าภายใน 60 วันจะได้บริษัทที่ปรึกษาที่ผ่านการคัดเลือกดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ส่วนที่กลุ่มนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือกลุ่มนักวิชาการจากวิศวกรรมสถานยืนยันว่าจะไม่เข้าร่วมในการให้ความเห็นในขั้นตอนการจ้างบริษัทที่ปรึกษานั้น ตรงนี้จะต้องเคารพความคิดเห็นของแต่ละบุคคล
นายธงทอง กล่าวว่า นอกจากนี้ ครม.ยังได้มอบหมายให้มีการทำความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นกับภาคประชาชน โดยจะต้องให้ความชัดเจนของข้อเสนอทางเทคนิคต่างๆ ที่แต่ละบริษัทเสนอ เบื้องต้นจะมีการทำรูปแบบที่เข้าใจง่าย และให้รายละเอียดอย่างเปิดเผย โดยจะพยายามลงพื้นที่ในการทำความเข้าอย่างทั่วถึง ขณะเดียวกัน ในส่วนของการร่างสัญญาที่นำข้อเสนอทางเทคนิคของแต่ละบริษัทใส่ลงในสัญญา จะให้นักกฎหมายเข้ามาดูสัญญาก่อนที่จะมีการลงนาม คาดว่าจะลงนามได้ประมาณเดือน ก.ย.หรือ ต.ค.นี้ และหลังจากที่มีการลงนามในสัญญาแล้วแต่ละบริษัทก็ต้องทำงานตามขั้นตอน หากงานใดจะต้องผ่านขั้นตอนกฎหมายสิ่งแวดล้อมหรือระเบียบต่างๆ ก็ให้รับผิดชอบไปตามกระบวนการ และจะต้องมีการวางเงินประกันว่าจะไม่มีการทิ้งงานด้วย
นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำ และอุทกภัย (สบอช.) กล่าวว่า โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำที่ทีโออาร์ระบุมี 21 เขื่อน หากมีการเซ็นสัญญาก็จะสามารถสร้างได้ทันทีใน 30 เปอร์เซ็นต์ของโครงการทั้งหมด ส่วนโครงการทางผันน้ำ หรือฟลัดเวย์ หากได้เห็นการออกแบบแล้วจะเห็นว่ามีผลกระทบน้อยมากต่อพื้นที่ชุมชน ส่วนใหญ่จะผ่านทางพื้นที่เกษตรกรรมมากกว่า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัฐสามารถชดเชยให้ได้อยู่แล้ว และการสร้างทางผันน้ำตามแบบนั้นก็ช่วยให้ประชาชนทุกคนได้ประโยชน์ ยืนยันว่ารัฐบาลสามารถที่จะเข้าไปได้ในทุกพื้นที่ รวมทั้ง อ.สะเอียบ จ.แพร่ ด้วย
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านจะยื่นรวบรวมรายชื่อถอดถอน ครม.ทั้งชุด ผ่านทางประธานวุฒิสภาว่า ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว แต่ก็ยินดีให้มีการตรวจสอบทุกขั้นตอน แต่ตนก็ยังมองไม่ออกว่าจะสามารถถอดถอนรัฐบาลได้อย่างไร