เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จัดเสวนาโครงการรับจำนำข้าว นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ชี้รัฐลดราคาจำนำลงเฉือนเนื้อชาวนา แต่ปล่อยกลุ่มอื่นหากินต่อ ระบายข้าวแบบลับๆ ช่วยชาวนาเพื่อนบ้าน เสียคุณภาพข้าวไทย ด้าน ดร.ณรงค์ ชี้แค่ประชานิยมเอาข้าวเป็นเครื่องมือ มีรูรั่วตลอดเวลา แถมผูกขาดซื้อข้าวผิดรัฐธรรมนูญ
วันนี้ (30 มิ.ย.) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (เอสวีเอ็น) จัดเสวนา “ความจริงข้าวประเทศไทย ใครล่มจม ใครร่ำรวย” โดยมี ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
โดย นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การขายข้าวก่อนมีโครงการจำนำนั้นอาศัยกลไกตลาด ไทยครองการส่งออกเป็นอันดับหนึ่งในโลกหลายปีติดต่อกัน แต่ในปี 2555 ประเทศไทยกลับตกอันดับ เพราะขายราคาสูงทำให้ขายได้น้อย ทำให้รายได้การขายข้าวลดลง เพราะรัฐบาลมีโครงการจำนำข้าวโดยไม่ใช้กลไกตลาด และในปี 2556 ก็มีแนวโน้มไม่แตกต่างกัน ทั้งนี้ทุกประเทศรู้ดีว่าการใช้กลไกตลาดนั้น แม้จะมีการแข่งขันกันรุนแรงแต่เป็นแนวทางที่สร้างความเติบโตของตลาด
“การผูกขาดการขายข้าวทำให้ประเทศมีรายได้จากการขายข้าวลด 4-5 หมื่นล้าน และยังต้องมาเสียเงินค่าบริหารโครงการ อาทิ ค่าเช่าโกดังต่างๆ อีก 4-5 หมื่นล้าน ซึ่งทันทีที่ทำโครงการนี้จะขาดทุนทันที 1 แสนล้านบาท ซึ่งหากรัฐบาลอยากสนับสนุนเกษตรกรควรเอาเงิน 1 แสนล้านไปแจกชาวนาที่ยากจน และหลังจากนั้นก็หันกลับมาใช้กลไกตลาดเหมือนเดิมจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด”
ด้าน ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า รัฐบาลทำโครงการจำนำข้าวไปแล้ว 4 ฤดูกาล ซึ่งมีข้าวทั้งหมด 40 ล้านตัน ซื้อข้าวไปแล้ว 6.2 แสนล้านบาท และค่าบริหารจัดการ 5-6 หมื่นล้านบาท แต่การที่รัฐบาลขายข้าวไม่ได้ ก็จะยิ่งทำให้มีการขาดทุนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ตนคำนวณจากตัวเลขกระทรวงพาณิชย์ พบว่ารัฐบาลมีการขายข้าว 5 ล้านตัน โดยขาย 1 กิโลกรัม ในราคา 10.21 บาท แต่มีต้นทุน 33 บาท ซึ่งการที่มีต้นทุนสูง เพราะมีการทุจริตคอร์รัปชัน มีข้าวหายกว่า 3 ล้านตัน แต่ท้ายสุดกลับมีการบอกว่าลืมลงบัญชี 2.5 ล้านตัน ซึ่งการที่รัฐบาลขายข้าวได้ 10 บาท โดยมีต้นทุน 33 บาทก็เจ๊งแบบไม่มีทางเถียง เพราะแค่ข้าว 5 ล้านตัน ขาดทุนไปแล้ว 1.1 แสนล้านบาท ซึ่ง 33% ในเงินดังกล่าวเป็นการนำไปแจกพ่อค้าพรรคพวก ทั้งนี้ปัจจุบันมีภาวะข้าวเปลือกแพง ข้าวสารถูก เป็นนโยบายที่ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก หลังจากที่คณะราษฎรต้องการทำนโยบายดังกล่าวแต่ก็ไม่สำเร็จ แต่รัฐบาลนี้ทำได้ ซึ่งต้องใช้รายจ่ายมหาศาล เพราะรัฐบาลต้องขายข้าวสารในราคาต่ำ เพื่อให้ราคาข้าวขายปลีกถูกลง ซึ่งต้องชมคนทำว่ารู้เรื่องข้าวดีมาก แต่กลับไม่รู้เรื่องส่งออกเลย
“หากรัฐบาลปรับลดราคาจำนำข้าวลง จะเป็นการเฉือนเนื้อชาวนา เพราะหากลดราคาลง ปริมาณการจำนำนาปีจะลดลงร้อยละ 21 นาปรัง ร้อยละ 24 ซึ่งส่งผลให้มีการขาดทุนลดลง 9 หมื่นล้านบาท แต่รัฐบาลกลับทำแบบเฉือนเนื้อชาวนา แต่ปล่อยให้กลุ่มอื่นหากินต่อไป เพราะค่าใช้จ่ายโครงการลดเพียงร้อยละ 18 และรัฐบาลยังไม่เปลี่ยนวิธีระบายข้าวแบบลับๆ โดยเมื่อ 2-3 วันก่อน ยังมีการเรียกผู้ส่งออกข้าวไปให้คำแนะนำพ่อค้าพรรคพวก 3-4 ราย”
ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า การทุจริตที่มากที่สุด คือขั้นตอนการระบายข้าว ที่มีการระบายข้าวแบบลับๆ โดยขายให้นายหน้าในราคาถูก และปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนกฎเกณฑ์การชะลอการส่งข้าวให้โกดังรัฐบาล จากเดิมที่ต้องส่งภายใน 7 วัน ก็มีการขยายเวลาว่าหากโรงสีใดมีข้าวปริมาณมากก็ไม่ต้องส่งภายใน 7 วัน ซึ่งส่งผลให้มีการนำข้าวเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิ์ และคณะอนุกรรมการกำกับดูแลฯกรมการค้าต่างประเทศก็อนุญาตให้นำเข้าข้าวสารราคาถูกจากต่างประเทศนำเข้าได้ทุกเดือน รวมทั้งเดือนที่มีการจำนำข้าว ซึ่งมีเอกสารราชการชัดเจน ทั้งที่แต่ก่อนอนุญาตนำเข้าแค่เดือนที่ขาดแคลนเท่านั้น ซึ่งก็เป็นการยืนยันว่าเป็นการทุจริตระดับสูง ไม่ใช่ทุจรติระดับโกดัง หรือโรงสี แต่เป็นทุจริตนโยบาย
“เรากำลังทำนโยบายช่วยเหลือชาวนาในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะหลังจากมีโครงการรับจำนำก็ทำให้ราคาข้าวในประเทศเพื่อนบ้านสูงขึ้น ซึ่งหากรัฐบาลทำโครงการอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะเสียคุณภาพข้าวไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำลายโดยโครงการรับจำนำข้าว นอกจากนั้นหากทำโครงการเรื่อยๆ ก็จะเป็นการทำลายระบบการค้าข้าวที่มีประสิทธิภาพของประเทศ และทำลายเศรษฐกิจข้าวให้สิ้นซาก โดยหวังเพียงคะแนนเสียง และประโยชน์ของตนเอง” ดร.นิพนธ์ กล่าว
ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อ.ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการจำนำข้าวเป็นการทำโครงการประชานิยม ที่ทำให้ประชาชนมานิยมใครคนใดคนหนึ่ง โดยอาศัยข้าวเป็นเครื่องมือ ทั้งนี้นโยบายและกระบวนการนั้นจะแตกต่างกัน เพราะการประกาศนโยบายจะเป็นการทำดูเหมือนว่าคนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ แต่กระบวนการทำนโยบายนั้นจะเป็นการทำประโยชน์เพื่อคนส่วนน้อย โดยมีการทำให้มีรูรั่วตลอดเวลา พอจับได้ก็บอกว่านโยบายดีแต่ปัญหาอยู่ที่ผู้ปฏิบัติ
“รัฐบาลกำลังผูกขาดการซื้อข้าว และคิดว่าจะใช้บทบาทของรัฐค้าขายแข่งกับเอกชน ซึ่งถือว่าผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 86 ที่ระบุว่าการขายข้าวต้องให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม ทั้งนี้หากรัฐบาลอยากช่วยชาวนาแบบยั่งยืนควรลดต้นทุนการทำนา โดยการพยุงราคาปุ๋ย และยาฆ่าแมลง เปลี่ยนโครงการกองทุนหมู่บ้าน เป็น 1 หมู่บ้าน 1 รถไถ หรือ รถเกี่ยว และควรเก็บภาษีพ่อค้าปุ๋ยเคมีเพิ่มเพื่อนำมาเป็นกองทุนให้ชาวนา” ดร.ณรงค์ กล่าว