งานเสวนาลดราคาจำนำข้าวของสมาคมนักข่าวฯ รมว.พาณิชย์ ส่งอธิบดีกรมการค้าภายในเข้าร่วมแทน เผยลดราคาจำนำข้าวทำรัฐบาลลดงบได้ 3-4 หมื่นล้าน พยายามปราบทุจริตจริงจัง ด้านนายกสมาคมชาวนาเคลื่อนขบวนเข้ากรุงอังคารนี้ ยื่นข้อเรียกร้องรัฐบาลขอราคาตันละหมื่นห้า ก่อนแยกย้ายกลับบ้านรอคำตอบ
วันนี้ (23 มิ.ย.) ที่ถนนสามเสน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดการเสวนา “ลดราคาจำนำข้าว : ลดขาดทุน-ป้องกันทุจริตได้จริงหรือ?” โดยมี น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เข้าร่วมการเสวนา นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากอีกหลายพรรคส่วน เข้าร่วมการเสวนา อาทิ นายนิพนธ์ พัวพงศกร จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ และนายรังสรรค์ กาสูลงค์ ตัวแทนชาวนาไทย ซึ่งการเสวนาในครั้งนี้เพื่อเป็นการตอบโจทย์ทุกฝ่าย หลังจากรัฐบาลได้มีการตัดสินใจลดราคาการรับจำนำข้าวลง
อย่างไรก็ตาม การเสวนาดังกล่าวจากเดิมมีชื่อของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เข้าร่วมการเสวนาด้วย แต่ได้มีการยกเลิกอย่างกะทันหัน และได้ส่ง น.ส.วิบูลย์ลักษณ์มาเป็นตัวแทน โดยกล่าวว่าการปรับลดราคาการรับจำนำข้าวลงจากตันละ 15,000 บาท เหลือตันละ 12,000 บาท ในฤดูนาปรัง ปี 2556 นั้น จนถึงสิ้นฤดูกาล จะทำให้รัฐบาลลดงบประมาณได้ 30,000-40,000 ล้านบาท แต่จะสามารถป้องกันการทุจริตได้จริงหรือไม่นั้น เห็นว่าการจูงใจในการกระทำทุจริตจะลดลง ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ ได้พยายามตรวจสอบการกระทำทุจริตอย่างจริงจัง และมีการดำเนินคดีกับโรงสี และชาวนาที่มีการกระทำผิด แต่จากบทลงโทษที่น้อยทำให้ความเกรงกลัวต่อการกระทำผิดน้อยลงด้วย
อีกด้านหนึ่ง นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 25 มิ.ย. นี้ ชาวนาทั่วประเทศ จะเคลื่อนขบวนเข้าสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ให้คงราคารับจำนำข้าวที่ตันละ 15,000 บาท โดยไม่มีการปรับลดลงมาเป็น 12,000 บาทตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ส่วนกรณีการกำหนดโควตาให้ชาวนาจำนำข้าวได้ครัวเรือนละไม่เกิน 500,000 บาทนั้น นายประสิทธิ์กล่าวว่า จากการหารือกับกลุ่มชาวนาได้ข้อสรุปว่ารับได้กับโควตาดังกล่าว ทั้งนี้ ในวันดังกล่าว ชาวนาทั่วประเทศได้มีการนัดหมายรวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เวลา 09.00 น. ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล จากนั้นจะแยกย้ายกันเดินทางกลับ เพื่อรอฟังคำตอบจากรัฐบาล แต่หากยังไม่มีการประกาศความชัดเจนต่อข้อเรียกร้องก็จะมีการหารือกัน ก่อนดำเนินการในขั้นต่อไป