รมว.เกษตรฯ โร่แจงข่าวมะกันแบนข้าวไทย สั่ง อย.ตรวจข้าวห้างแล้ว เจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลร่อนเอกสาร สนง.ที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ วอชิงตัน ดี.ซี. ปัดสหรัฐฯ แบนข้าวไทย ชี้สหรัฐฯ ยังไม่ส่งสัญญาณ และยังไม่พบปัญหาสินค้าข้าวของไทยในสหรัฐฯ เผยปี 56 แบน 1 รายกรณีของสิ่งเจือปน
วันนี้ (28 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.เกษตรและสหกรณ์ แถลงกรณีข้อเท็จจริงกรณีการนำเสนอข่าวองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (USFDA) แจ้งเตือนกักกันสินค้าข้าวไทยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่นิ่งนอนใจเราได้ตรวจสอบไปยังสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งไทยมีทูตเกษตรที่สหรัฐฯจึงได้ให้ตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้น และเป็นไปตามที่มีข่าวหรือไม่ ที่ปรึกษาการเกษตรฯได้แจ้งมาว่า หน่วยงานของสหรัฐฯไม่มีสัญญาณห้ามนำเข้าข้าวจากประเทศไทยเลย ตรงนี้อาจจะเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ทำให้ทุกคนสับสนและไม่เข้าใจ ขอยืนยันว่าข้าวที่ส่งออกไปมีเซอเวเยอร์คอยตรวจสอบคุณภาพทั้งหมดอยู่แล้ว กระบวนการส่งออกได้มีการดูแลตั้งแต่ต้นน้ำและส่งไป ทางสหรัฐฯเองก็ไม่มีสัญญาณ หรือผู้นำเข้าก็ระบุว่าไม่มีสัญญาณอะไร จึงยืนยันได้ว่าตอนนี้ยังไม่มีการสั่งห้ามนำเข้าหรือกักกันข้าวที่ส่งออกจากประเทศไทย
นายยุคล กล่าวว่า นอกจากนี้ เพื่อให้ทุกคนสบายใจขณะนี้ทางกรมวิชาการเกษตร และสำนักงานคณะกรรมการมอาหารและยา (อย.) ได้ร่วมมือกันในการที่จะไปเก็บตัวอย่างข้าว ทั้งในส่วนของห้างสรรพสินค้าและด่าน เพื่อมาตรวจสอบอีกครั้งเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าไม่มีสารตกค้าง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทางกรมวิชาการเกษตรได้มีการเก็บตัวอย่างมาแล้วก็ไม่พบว่า มีสารตกค้าง จึงมั่นใจได้ว่า ข้าวในประเทศไทยยังไม่มีสารตกค้าง ขณะเดียวกัน ยังได้มีการสั่งการให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำหนังสือถึงเอกอัครทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทยให้รับรู้ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่างๆ เราได้มีการดำเนินการอย่างไร และทำให้เกิดความเชื่อมั่นในมาตรฐานและการดูแลของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ
ด้านนายพิศาล พงศาพิชณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า สำหรับการส่งออกข้าวไปยังสหรัฐฯนั้น ในกระบวนการผลิตข้าวจะต้องผ่านหลายขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนโรงสี การปรับปรุงคุณภาพข้าว จนถึงการส่งออกจะต้องใช้เวลาเป็นเดือน กระบวนการนี้ใช้เวลามาก ฉะนั้น เรื่องสารตกค้างที่ใช้ระหว่างกระบวนการเก็บรักษาข้าวจึงไม่มีหลงเหลือไปถึงในขั้นตอนที่สินค้าไปถึงปลายทางแน่นอน ซึ่งกระบวนการตรงนี้มีการตรวจสอบและควบคุมโดยทั้งเซอเวเยอร์และหน่วยราชการด้วย
อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลได้นำเอกสารของสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่ลงนามโดย น.ส.เบญจรัตน์ แพร่หลาย เลขานุการเอก (ฝ่ายการเกษตร) รองผู้อำนวยการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงการนำเสนอข่าวของประเทศไทย กรณีองค์กรการอาหารและยาสหรัฐฯ (USFDA) ประกาศแจ้งเตือนกักกันสินค้าข้าวนำเข้าของไทยนั้น สำนักงานฯ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ยังไม่มีสัญญาณจาก USFDA ในการแจ้งเตือนในเรื่องดังกล่าวตามที่รายงานข่าวของไทยได้กล่าวอ้างแต่อย่างใด ทั้งจากแหล่งข้อมูลเว็บไซต์ของ USFDA ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการแจ้งเตือนในเรื่องนี้ แต่จะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับผู้เกี่ยวข้องอย่างละเอียดอีกครั้งและแจ้งให้สำนักงานทั้งสองทราบต่อไป
นอกจากนี้ จากการสอบถามบริษัทผู้นำเข้าสินค้าข้าวไทยรายใหญ่ในสหรัฐฯ ทราบว่า ผู้นำเข้าได้รับทราบรายงานข่าวดังกล่าวจากประเทศไทยเช่นกัน แต่ยังไม่ได้รับสัญญาณหรือการแจ้งเตือนใดๆ จากทางการสหรัฐฯ รวมทั้งที่ผ่านมายังไม่พบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสินค้าข้าวของไทยในสหรัฐแต่อย่างใด และจากการตรวจสอบข้อมูลในประกาศ Import Alert ของ USFDA พบว่า ที่ผ่านมาในปี 2556 นี้มีปัญหาเกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าข้าวของไทยเพียง 1 ราย ซึ่งเป็นกรณีของสิ่งเจือปน ในผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากข้าว และไม่ใช่การฝ่าฝืนที่มีความผิดร้ายแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคจนกระทั่งต้องมีการประกาศเพิ่มความเข้มงวดการตรวจสอบสินค้าข้าวจากไทยทั้งหมด
ทั้งนี้ โดยทั่วไป การออกคำสั่งเพิ่มความเข้มงวดหรือการปฏิเสธการนำเข้าสินค้าโดย USFDA จะเป็นผลสืบเนื่องมาจากประกาศ Import Alert ซึ่งเจ้าหน้าที่ USFDA ใช้เป็นแนวทางในการตรวจสอบสินค้าและออกคำสั่งห้ามการนำเข้า ซึ่งจะมีลักษณะต่างๆ กันไป ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของปัญหาที่เกิดขึ้น