xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกผลไม้ร้องนายกฯ สุดทนถูกมกอช.รีดเลือด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (25 เม.ย.) ตัวแทนผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ฉายรังสีไปสหรัฐอเมริกา 5 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท เบสท์ฟรุ๊ต จำกัด บริษัท พี.โอ.เค อิมปอร์ต แอนด์ เอ็กซ์ปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท วัลวีร์ จำกัด บริษัท ไชน์โฟร์ท จำกัด และบริษัท บีเคเค สยาม อินเตอร์เทรด จำกัด นำโดย นายสมโภชน์ วัลยะเสวี ตัวแทนศูนย์ประสานงานความร่วมมือไทย-สหรัฐอเมริกา เพื่อการส่งออกผลไม้ จำกัด(TUCC) เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีได้รับความเดือดร้อนจากการเปลี่ยนแปลงผู้ประสานงานในโครงการการตรวจรับรองผลไม้ล่วงหน้า ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตร และอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 54 ที่ผ่านมา ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงระบบการส่งออก โดยการกำหนดเงื่อนไขการชำระค่าตรวจผลไม้ และการคิดราคาค่าตรวจผลไม้ จากเดิมเก็บอยู่ในอัตรากก. ละ 8 บาท เป็นกก.ละ 25 บาท อีกทั้งยังมีการเรียกเก็บชำระค่าตรวจล่วงหน้า 50 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าการตรวจทั้งฤดูกาล ซึ่งกฎระเบียบใหม่นี้ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากส่งผลกระบต่อการส่งออกผลไม้ไทยไปยังสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการต่างชาติ เข้ามาดำเนินการส่งออกแทนผู้ประกอบการไทย
นายสมโภชน์ เปิดเผยว่า มกอช.ได้ประกาศให้บริษัท บัดดี้ โคโคนัท จำกัด (BCC) มาเป็นผู้จัดจ้างเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ในการตรวจผลไม้ก่อนการส่งออกแทน TUCC นั้น ตนตั้งข้อสังเกตว่า บริษัท BCC เป็นบริษัทที่ไม่มีที่มาที่ไป เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีเจ้าของเพียงคนเดียว และเป็นใครที่ไหนก็ไม่รู้ ซึ่งบริษัทนี้ตั้งขึ้นก่อนที่ มกอช. จะประกาศให้ทำหน้าที่แทน TUCC เพียง 11 วัน และไม่เคยมีการพูดคุยกับตน ในฐานะผู้ประสานงาน TUCC และผู้ประกอบด้วย นอกจากนี้ ยังมีข้อสงสัยว่า เงินส่วนต่าง 17 บาท ที่เพิ่มจากอัตราเดิม หายไปไหน และเหตุใดจึงต้องเรียกเก็บค่าตรวจผลไม้ล่วงหน้า ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นปัญหาสำคัญ เพราะ BCC ระบุว่า ถ้าการส่งออกไม่ตรงตามยอดที่แจ้งไว้ จะถูกยึดเงินมัดจำทั้งหมด จึงเป็นปัญหาเนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ เพราะขึ้นอยูกับสภาพภูมิอากาศ
นายสมโภชน์ กล่าวต่อว่า ตนเคยนำเรื่องดังกล่าวร้องต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ถามเรื่องไปยัง มกอช. ซึ่งรายงานที่ มกอช. เสนอกลับไปนั้น ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และ มกอช.พยายามชี้แจงให้กระทรวงเกษตรฯ เห็นว่า การส่งออกยังดำเนินต่อได้ แม้จะมีการเพิ่มอัตราค่าตรวจผลไม้ก็ตาม ซึ่งเป็นภาระหนักที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับ และไม่สามารถส่งออกผลไม่อยู่ช่วงหนึ่ง และขณะนั้น BCC และ มกอช. ยังได้ประสาน บริษัทส่งออกผลไม้จากประเทศไต้หวัน ที่สามารถรับเงื่อนไขที่ มกอช. กำหนดมาส่งออกแทน จึงถือเป็นการแทรกแซงและแย่งส่วนแบ่งการตลาดของผู้ส่งออกไทย
ทั้งนี้ ตนขอเรียกร้องให้มีการจ้างผู้ตรวจผลไม้ฉายรังสีคู่ขนานไปกับ BCC โดยจะเรียกเก็บอัตราค่าตรวจผลไม้เท่าเดิม โดยในส่วนนี้ TUCC ได้มีการเสนอแนวคิดนี้ไปยังกระทรวงเกษตรฯของสหรัฐอเมริกาแล้ว และก็ได้รับความยินดี เนื่องจากสหรัฐอเมริการู้ปัญหาที่เกิดขึ้นและไม่ต้องการให้ราคาผลไม้ในตลาดเพิ่มขึ้น
ด้านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทนรับเรื่องพร้อมระบุว่า เรื่องนี้เป็นปัญหามา 2 ปีแล้ว และยังส่งผลกระทบต่อภาพร่วมเกษตรกร การส่งออก และรายได้ของประเทศ โดยตนจะรีบสรุปประเด็นเรื่องร้องเรียนร่วมถึงข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ที่ต้องการให้ จ้าง 2 บริษัท TUCC และ BCC ต่อ นายกฯ และจะเขียนแนบท้ายรายงานด้วยว่า เห็นควรให้เรียก นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ ผอ.มกอช. พร้อมกับผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ มาร่วมกันชี้แจง โดยตนจะเป็นผู้นั่งหัวโต๊ะทำการประชุมเอง เบื้องต้นคาดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นช่วงประมาณต้นเดือนพ.ค.
กำลังโหลดความคิดเห็น