ตัวแทนผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ฉายรังสีไปอเมริกา ร้องนายกฯ หลัง มกอช.เรียกเก็บค่าตรวจล่วงหน้า 50% และเพิ่มเป็นกิโลฯ ละ 25 บาท เปลี่ยนบริษัทประสานงาน แถมเอาบริษัทไต้หวันเสียบแทน จี้กลับไปใช้ดังเดิม ด้านกลุ่มเกษตรกรสิทธิชุมชนไร้ที่ทำกิน 14 จว.ใต้บุกจี้ช่วยจัดสรรที่ดิน หลังถูกผู้มีอิทธิพลบุกเผาบ้าน ขณะที่ ผรท.มาอีก ร้องเงินช่วยเหลือ
วันนี้ (25 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 12.30 น.ตัวแทน 5 ผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ฉายรังสีไปสหรัฐอเมริกา นำโดยนายสมโภชน์ วัลยะเสวี ตัวแทนศูนย์ประสานงานความร่วมมือไทย-สหรัฐอเมริกา เพื่อการส่งออกผลไม้ (ทียูซีซี) เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายกฯ ผ่านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกฯ กรณีสำนักงานมาตรการฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรฯ เปลี่ยนแปลงระบบการส่งออก โดยกำหนดเงื่อนไขการชำระค่าตรวจผลไม้ จากเดิมไม่เก็บ มาเป็นเรียกเก็บชำระค่าตรวจล่วงหน้า 50% ของมูลค่าการตรวจทั้งฤดูกาล และเก็บค่าตรวจผลไม้เพิ่มเป็นอัตรากิโลกรัมละ 25 บาท เดิมอัตรากิโลกรัมละ 8 บาท พร้อมเปลี่ยนผู้ประสานงานโครงการตรวจรับรองผลไม้ล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 54 เป็นบริษัทบัดดี้ โคโคนัท (บีซีซี) เพื่อทำหน้าที่จัดจ้างเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ทำหน้าที่ตรวจสอบผลไม้ก่อนส่งออก ส่งผลผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ไปสหรัฐฯ อย่างมาก นอกจากนี้ บีซีซีและ มกอช.ยังประสานบริษัทส่งออกผลไม้จากประเทศไต้หวันมาส่งออกแทนผู้ประกอบการส่งออกไทยเดิม ดังนั้น ขอเรียกร้องให้เปลี่ยนบริษัทผู้ประสานงานและเปลี่ยนเงื่อนไขชำระค่าตรวจผลไม้กลับไปเหมือนเดิม ขณะที่นายสุภรณ์กล่าวว่า จะรีบสรุปเรื่องร้องเรียนเสนอนายกฯและเชิญผู้เกี่ยวข้องมาหารือแก้ไขปัญหาต่อไป
ขณะเดียวกัน กลุ่มเกษตรกรสิทธิชุมชนไร้ที่ทำกิน 14 จังหวัดภาคใต้ ประมาณ 400 คน นำโดยนายสุมลตรี สุกดำ เดินทางมาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีช่วยเหลือจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรที่ยากจน ผ่าน พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ ประจำสำนักเลขาธิการนายกฯ โดยขอให้นายกฯ ตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องและผู้มีอิทธิพลบุกเผา ทำลายบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และทรัพย์สินของชาวบ้านกลุ่มเกษตรกรที่ อ.เหนือคลอง ต.คลองขนาน จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 55 และวันที่ 18 ธ.ค. 55 พร้อมขอให้ตรวจสอบความเสียหายของทรัพย์สิน เพื่อจัดการช่วยเหลือเยียวยาและให้ความเป็นธรรมการประชาชนกลุ่มเกษตรกร นอกจากนี้ ขอให้ ครม.ร่วมพิจารณาจัดสรรที่ดินทำกิน สวนปาล์ม ที่หมดสัมปทานในพื้นที่ อ.เหนือคลอง ต.คลองขนาน จ.กระบี่ ให้แก่ประชาชนเกษตรกรสิทธิชุมชนไร้ที่ทำกิน จำนวน 2,355 ราย และขอให้พิจารณาจัดสรรที่ดินทำให้แก่เกษตรกรและประชาชนที่ยากจนในพื้นที่ที่หมดอายุสัมปทาน และป่าเสื่อมโทรม จำนวน 10,645 ราย รวมที่เดือดร้อน จำนวน 13,000 ราย ได้มีที่ดินทำกินตามความเหมาะสม ด้าน พ.ต.ต.เสงี่ยมกล่าวว่า รัฐบาลยืนยันที่จะช่วยประชาชนที่เดือนร้อน โดยในวันที่ 2 พ.ค.นี้ตนจะลงพื้นที่ใน จ.กระบี่ อ.คลองลึก ดังนั้นขอให้เกษตรกรส่งตัวแทนไปพบเพื่อติดตามความคืบหน้า พร้อมทั้งจะหาช่องทางการช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น
ด้านกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยจากทั่วประเทศจำนวนหนึ่ง ได้รวมตัวชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเพิ่มรายชื่อและคัดกรองรายชื่อผู้ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือการประกอบอาชีพ ซึ่งได้มีตัวแทนผู้ชุมนุม ประชุมร่วมกับนายสุภรณ์เพื่อหาทางออก โดยตัวแทนผู้ชุมนุมได้เสนอขอให้ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยมีส่วนร่วมในการจัดทำแบบฟอร์มกรอกประวัติ และขอให้นายกรัฐมนตรี หรือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยชุมใหญ่ ตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาผู้ที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์การรับเงินช่วยเหลือ, ขอให้ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ และขอขยายเวลาการยื่นแบบฟอร์มจากวันที่ 30 เม.ย.นี้ออกไป แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่ยอมรับข้อเสนอของรัฐบาล ทั้งแบบฟอร์มการกรอกประวัติ และระยะเวลาในการยื่นแบบฟอร์ม
ขณะที่นายสุภรณ์ได้กล่าวต่อผู้ชุมนุมว่า อยากให้ทุกคนยอมรับการดำเนินการของรัฐบาลเพื่อให้ได้มีการจ่ายเงินช่วยเหลืออย่างเร็วที่สุด ส่วนผู้ที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ก็จะหาช่องทางช่วยเหลือต่อไป ส่วนข้อเสนอของผู้ชุมนุมก็จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ ในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรนั้นก็ต้องขึ้นกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ