xs
xsm
sm
md
lg

ทุกฝ่ายในงานเสวนาของ กมธ.สิทธิฯ ประสานเสียงหนุน ปชช.ทุกกลุ่มมีสิทธิเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กมธ.สิทธิฯ ร่วมจัดเสวนา 81 ปีปชต. กับสิทธิเลือกตั้งที่ยังเข้าไม่ถึง อ.ศูนย์สิทธิฯศึกษา ม.มหิดล ติง รธน.มีข้อห้ามสมณเพศเลือกตั้ง ชี้เป็นสิทธิพื้นฐานไม่ควรกีดกัน กก.กสม.หนุน แนะ กกต.แก้ไข รวมถึงคนด้อยโอกาส-นักโทษ “ไพบูลย์” ย้อนแนวคิดเก่า ปัจจุบันควรเปิดโอกาส เลขาฯ สมาคมพิทักษ์ รธน. หนุนตาม แต่ติง ส.พระปกเกล้าให้ความรู้ ปชช.ให้เข้าใจ แทนการจัดหลักสูตรให้นักการเมือง

วันนี้ (21 มิ.ย.) กรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ร่วมกับมูลนิธิอันเฟรล, เครือข่ายเอเซียเพื่อการเลือกตั้งเสรี จัดเสวนาสาธารณะเรื่อง 81 ปีประชาธิปไตยไทย กับสิทธิการเลือกตั้งที่ยังเข้าไม่ถึง : ปัญหาและทางออก โดยมีนักวิชาการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเวที โดยนางศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สิทธิการเลือกตั้งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน โดยที่องค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงกฎหมายที่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนให้การรับรองไว้ แต่ของประเทศไทยกลับพบว่าในรัฐธรรมนูญระบุให้มีข้อห้ามให้บุคคลในสมณเพศใช้สิทธิเลือกตั้ง ในหลักการของสิทธิมนุษยชนการใช้สิทธิ ต้องไม่ใช่การกีดกันคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกไป ทั้งนี้ ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เช่น ศรีลังกา ยังเปิดโอกาสให้พระสงฆ์ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ขณะเดียวกันที่ประเทศเวียดนามได้อนุญาตให้พระสงฆ์สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ด้วย

ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ตามหลักสิทธิมนุษยชนในระบอบประชาธิปไตย คือ การปกครองโดยกฎหมาย การทำให้ประเทศเป็นนิติรัฐ ดังนั้น สิทธิการเลือกตั้งที่กลุ่มคนด้อยโอกาส, นักโทษ นักบวชเข้าไม่ถึง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องมีระเบียบมาคุ้มครอง หรือออกแบบระเบียบเพื่อให้กลุ่มดังกล่าวใช้สิทธิขั้นพื้นฐานได้ และรัฐต้องให้การคุ้มครองสิทธิประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 87 ว่าด้วยแนวนโยบายการมีส่วนร่วมของประชาชน

ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวว่าการจะคืนสิทธิให้ผู้ที่จำกัดสิทธิการเลือกตั้ง ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 (1) ด้วยการห้ามภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวชห้ามใช้สิทธิเลือกตั้ง ส่วนตัวมองว่าการกำหนดห้ามกลุ่มดังกล่าวใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นแนวความคิดเมื่อ 81 ปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันการจำกัดสิทธิดังกล่าวหมดเวลาแล้ว ส่วนกรณีที่แม่ชีถูกตัดสิทธิการลงคะแนนเลือกตั้งด้วยนั้น เพราะถือว่าเป็นนักบวช ประเด็นนี้ตนมองว่าแก้ไขได้ โดยการทำหนังสือไปยังราชบัณฑิตยสถานให้แก้ไขคำแปลของแม่ชีใหม่ ให้เป็นประเภทของอุบาสิกา ซึ่งไม่ใช่นักบวชก็จะทำให้แม่ชีมีสิทธิเลือกตั้งได้

ส่วนนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่าการเลือกตั้งถือเป็นหน้าที่ของคนไทย ดังนั้น กกต.ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลการเลือกตั้งจำเป็นต้องกำหนดให้คนทุกกลุ่มเข้าถึง อาทิ การออกประกาศหรือระเบียบ กกต. ให้ผู้ด้อยโอกาส, คนชายขอบ ผู้พิการเข้าถึงการใช้สิทธิ นอกจากนั้นแล้วตนอยากฝากไปยังสถาบันพระปกเกล้า ที่ควรทำหน้าที่ให้ความรู้กับคนที่ไม่รู้ ไม่ใช่จัดอบรมหรือหลักสูตรให้กับนักการเมือง รวมถึงสถาบันพระปกเกล้าต้องส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิด้วย เช่น การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่สถาบันอาจไปรับฟังความเห็น และการสะท้อนปัญหาจากประชาชน แล้วนำมาเสนอต่อสภาฯ เพื่อให้มีการออกกฎหมายแก้ไข


กำลังโหลดความคิดเห็น