xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” จ้อศรีลังกา อ้างมีคนจ้องทำลายประชาธิปไตยไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ยิ่งลักษณ์” กล่าวสุนทรพจน์รัฐสภาศรีลังกา บอกต้องร่วมมือกันส่งเสริมพุทธศาสนา เน้นความอดทน อดกลั้น อ้างทุนนิยมรุนแรง การเมืองวุ่นวาย ไม่วายกล่าวหามีคนทำลายความเชื่อประชาธิปไตยไทย อีกด้านเล็งร่วมมือประสานระบบเตือนภัย เชื่อมต่อคมนาคม พัฒนาท่าเรือน้ำลึก

วันนี้ (31 พ.ค.) ณ อาคารรัฐสภาศรีลังกา กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมรัฐสภาศรีลังกา ว่า ไทยและศรีลังกามีความยึดมั่นและศรัทธาต่อศาสนาพุทธ และความเชื่อทางการเมืองและวัฒนธรรมร่วมกัน จึงมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนม ตนรู้สึกว่าได้รับเกียรติอย่างสูงที่มีโอกาสมากล่าวต่อสมาชิกผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชน เพราะประชาชนศรีลังกาได้แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญในการปกป้องประเทศ และรักษาไว้ซึ่งคุณค่าประชาธิปไตยมาโดยตลอด ในขณะเดียวกัน โดยส่วนตัวแล้ว รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้กล่าวต่อรัฐสภา ที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของโลก นางสิริมาโว บันดาราไนยเก เคยเป็นผู้นำรัฐบาล

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า การเยือนศรีลังกาครั้งนี้ มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นกว่าที่มีมา และต้องการแสวงหาการสนับสนุนจากศรีลังกา เพื่อสร้างสะพานแห่งความร่วมมือในหลากหลายมิติที่ครอบคลุมไปทั้งภูมิภาคเอเชีย ทั้งมิติด้านศาสนา คำว่า “ลังกาวงศ์” มีความหมายสูงส่งสำหรับคนไทย และมีความหมายถึงจุดเริ่มของพุทธศาสนาในประเทศไทยจากศรีลังกาถึงไทยเมื่อ 8 ศตวรรษที่แล้ว และที่สำคัญเมื่อ 260 ปีที่แล้ว คณะสงฆ์จากไทยไปแสดงธรรมแก่พระสงฆ์ศรีลังกา อันนำซึ่งการก่อตั้ง สยามมหานิกายในศรีลังกา อันเป็นปัจจัยที่ทำให้พุทธศาสนิกชนของทั้งสองประเทศมีความผูกพันที่ไม่เหมือนใคร และเป็นเหตุผลที่ประชาชนสองประเทศเชื่อมและสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น

นายกฯ กล่าวต่อว่า ในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการแข่งขันที่รุนแรงในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม มีความวุ่นวายทางการเมือง และความผันผวนสังคม เราจึงต้องร่วมมือกันส่งเสริมพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่เน้นความอดทน อดกลั้น และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ และจะนำมาซึ่งสันติภาพ ไม่เพียงแต่สำหรับปัจเจกบุคคล แต่รวมถึงมนุษยชาติ

“สำหรับมิติด้านการเมือง ไทยและศรีลังกาให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบอบประชาธิปไตย แม้ว่ามีความท้าทาย ที่พยายามทำลายความเชื่อในประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยก็ยังคงอยู่ เพราะเป็นความปรารถนาของประชาชน ประชาธิปไตยเป็นรูปแบบที่ดีที่สุดของรัฐบาลในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และสังคมโดยรวม แต่ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องภายในประเทศของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยลำพัง ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั่วโลกต้องร่วมมือกันในการปกป้องและคุ้มครองประชาชน ซึ่งไทยและศรีลังกามีบทเรียนและประสบการณ์ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวอีกว่า ขณะที่โลกกำลังเผชิญกับภัยคุกคามของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ ซึ่งไทยและศรีลังกาต่างต้องเผชิญชะตากรรมร่วมกับสึนามิในปี 2004 และไทยต้องเผชิญกับอุทกภัยที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติเมื่อ 2 ปีที่แล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของมนุษย์ และจำเป็นต้องมีความร่วมมือกันเพื่อปกป้องความปลอดภัยของประชาชน โดยการลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และเสริมสร้างความร่วมมือให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยให้มีแผนปฏิบัติการเพื่อประสานงานในระบบเตือนภัย และการบรรเทาสาธารณภัย

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวอีกว่า มิติด้านเศรษฐกิจ เอเชียมีประชากรร้อยละ 60 ของประชากรโลก และเป็นศูนย์กลางการเติบโตของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ วันนี้ ประชากรราว 3 พันล้านคนจากเอเชียและแอฟริกา อาศัยอยู่รอบมหาสมุทรอินเดีย ดังนั้น การเชื่อมโยงภูมิภาคจะช่วยเสริมสร้างการเชื่อมต่อโดยรอบมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ไทยและอาเซียนริเริ่มและผลักดัน และกำลังสร้างการเชื่อมต่อการคมนาคมระหว่างอาเซียนและภูมิภาคต่างๆ รวมทั้ง เอเชียใต้ ในส่วนของประเทศไทย มีการลงทุน 66 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่เชื่อมต่อภูมิภาค การเชื่อมโยงที่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ท่าเรือน้ำลึกทวายเป็นโครงการหนึ่งในโครงการสำคัญ ที่ไทยและเมียนมาร์จะร่วมมือกันพัฒนาในชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งจะเชื่อมต่อกับท่าเรือแหลมฉบังในอ่าวไทย และขณะเดียวกันจะเป็นระเบียงเศรษฐกิจใหม่ ที่เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย

ทั้งนี้ การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกของศรีลังกาจะทำให้ศรีลังกาได้ประโยชน์จากการค้ากับทวาย และท่าเรืออื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ไทยได้ร่วมมือกับประเทศเอเชียอื่นผ่านความร่วมมือภูมิภาคเอเชีย หรือ ACD เพื่อพัฒนาวิสัยทัศน์ โดยการวางเส้นทางสายไหมใหม่ ที่จะเชื่อมเอเชียทั่วทุกมุมไว้ด้วยกัน และต่อไปยังส่วนอื่นๆ ของภูมิภาค การเชื่อมโยงที่กว้างขวางขึ้นนี้ ขยายต่อไปยังแอฟริกา ซึ่งได้มีการกำหนดวาระการประชุมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาร่วมกัน โดยไทยริเริ่มความร่วมมือไทย-แอฟริกา ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับสูงไทย-แอฟริกาในเดือนพฤศจิกายนนี้

นายกฯ กล่าวอีกว่า การเชื่อมโยงเอเชียและภูมิภาคต่างๆ นั้น ช่วยเสริมสร้างสันติภาพและความรุ่งเรืองของภูมิภาค และคงไว้ซึ่งการเป็นกลไกสำคัญของเศรษฐกิจโลกของเอเชีย อย่างไรก็ตามตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าไทยและศรีลังกาจะก้าวสู่ศักราชใหม่ของความร่วมมือ อันตั้งอยู่บนพื้นฐานของศรัทธาและผลประโยชน์ร่วมกัน และเชื่อมั่นว่าทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันในระยะยาว เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคเอเชีย อันเป็นภูมิภาคสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น