นายกฯ ถกผู้ว่าฯทั่วประเทศ ขอทำงานควบคู่ กบอ.รองรับโครงการจัดการน้ำ ให้ ปชช.มีส่วนร่วม เก็บสถิติเป็นแนวทางพัฒนา ก่อนคณะนายกฯจะลงพื้นที่ รับปรับราคาจำนำข้าวสอดคล้องตลาดโลก แจงปลูกข้าวแยะจากปีแรก ปัญหาค่าเงินบาท และต้องรักษาวินัยการเงิน อ้างทำเพื่อชาวนายังไม่แจงกำไรขาดทุน ฝากจัดการสวมสิทธิ์โกง เอาจริงหาก จนท.มีเอี่ยว ชูแผนระยะยาวปลูกพืชตามนโยบายจัดโซนนิ่ง มอบ “โต้ง” ดูแล ฝาก “ปึ้ง” รับผิดชอบปรับคุณภาพข้าว
วันนี้ (19 มิ.ย.) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวน และจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พร้อมด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด เข้าร่วมประชุมเพื่อทบทวนยุทธศาสตร์จังหวัด และกลุ่มจังหวัดให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ รวมถึงร่วมกันจัดทำดัชนีชี้วัดการพัฒนาจังหวัด เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้แต่ละจังหวัดทำงานควบคู่กับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ และอุทกภัย หรือ กบอ.หลังจากคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติวงเงินให้กับ 4 บริษัทเพื่อลงทุนด้านการบริหารจัดการน้ำ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องนำแผนงานได้ดูในพื้นที่ แล้วสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างเต็มที่ รวมถึงขอให้แต่ละจังหวัดได้เก็บข้อมูลทางสถิติ พัฒนาตัวชี้วัด เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาจังหวัด จากนั้นนายกรัฐมนตรี และคณะจะมีการลงพื้นที่ติดตามงาน และหากจังหวัดใดมีแผนการพัฒนาจังหวัดที่ชัดเจนจะให้เป็นต้นแบบในการพัฒนาจังหวัดอื่นๆ
สำหรับโครงการรับจำนำข้าว นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงต่อผู้ว่าราชการจังหวัดถึงสาเหตุการปรับราคาจำนำข้าว และการขาดทุน การทุจริต และการใช้งบประมาณที่สูง โดยย้ำว่ารัฐบาลมีนโยบายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนา ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ดังนั้นรัฐบาลจึงมีการแถลงต่อรัฐสภาว่าเป็นนโยบายที่เร่งด่วน ในการยกระดับเกษตรกรให้มีรายได้ที่ดีขึ้น ที่สำคัญต้องคุ้มทุนกับค่าใช้จ่าย และให้ความเป็นธรรมเรื่องต้นทุนให้เหมาะสม ส่วนราคาเบื้องต้นที่นำเสนอได้อิงกับราคาตลาดโลก ซึ่งในปีแรกได้ดำเนินการตามนโยบายเรียบร้อยแล้ว และเห็นว่าเป็นประโยชน์กับชาวนาจึงได้ต่อนโยบายในปีที่ 2 แต่จากนโยบายทำให้มีจำนวนผู้ปลูกข้าวสูงขึ้น ขณะที่ราคาตลาดโลกไม่ได้เปลี่ยนแปลง รวมทั้งมีปัญหาค่าเงินบาท ทำให้ราคาในตลาดโลกไม่ปรับอย่างที่คาดคิด
ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องรักษาวินัยการเงินการคลังเพื่อให้กลับสู่สภาพสมดุล เพราะงบประมาณที่จะใช้แต่ละปี รัฐบาลต้องคิดว่าจะดูแลประชาชนแต่ละกลุ่มอย่างไร ซึ่งโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลไม่ได้บอกว่าขาดทุน หรือกำไร เพราะต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนา แต่การรักษาวินัยการเงินการคลังก็เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องรักษาความสมดุล ดังนั้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จึงเห็นชอบมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือ กขช.ในการปรับราคารับจำนำข้าวให้สอดคล้องกับกลไกตลาด อย่างไรก็ตาม ในอนาคตถ้าราคาตลาดโลกขึ้นก็ควรจะคืนให้กับชาวนา ซึ่งต้องดูตามสภาวะ
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ไม่อยากเห็นการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นในขั้นตอนการปฏิบัติงาน จึงขอฝากผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ร่วมงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบขั้นตอนต่างๆ ให้เกิดความโปร่งใส ไม่มีการทุจริตสวมสิทธิ์ของข้าว
“อย่าให้พบว่าเจ้าหน้าที่ของเราเป็นใจ หรือเป็นหู เป็นตา ให้เกิดช่องการทุจริตคอร์รัปชัน ถ้าพบจะต้องดำเนินการ ลงโทษทางวินัย พร้อมดำเนินคดีทั้งอาญา และแพ่ง และต้องจ่ายค่าปรับต่างๆ ด้วย” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องจัดทำเพิ่มคือแผนระยะยาว โดยต้องส่งเสริมให้ปลูกพืชประเภทอื่นด้วยตามนโยบายการจัดโซนนิง ซึ่งได้มอบหมายให้นายกิตติรัตน์ บูรณาการทุกกระทรวง เพื่อให้เกิดกลไกส่งเสริมภาคการเกษตรไปยังจังหวัดต่างๆ พร้อมกันนี้อยากเห็นการปรับปรุงคุณภาพข้าวให้ดีขึ้น และอยากให้ปลูกข้าวเชื่อมกับพื้นที่เกษตรโซนนิง โดยมอบให้นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในฐานะดูแลสถาบันวิจัย นำผลวิจัยที่เกี่ยวกับข้าวมาพิจารณาเพิ่มมูลค่าข้าว ซึ่งจะส่งเสริมการแปรรูปได้อีก