โพลราชภัฏสวนดุสิต เผยผลสำรวจเรื่องจำนำข้าว เสียงเกือบครึ่งชี้ ทำความเชื่อมั่นลด ชี้ ส่อไม่โปร่งใส และปัญหาค่าครองชีพพุ่งตามมา ด้านเรื่องที่ทำให้ความเชื่อมั่นฝ่ายค้านเพิ่ม คือสอบโกงจำนำข้าว ปชช.ชมได้ข้อเท็จจริง แถมซักเรื่องกู้ จน รบ.ไปไม่เป็น แต่ส่วนใหญ่มองค้านทุกเรื่องทำความเชื่อมั่นลด ส่วนความเชื่อมั่นของ รบ.ส่วนใหญ่เชื่อการพัฒนาตามนโยบาย
วันนี้ (16 มิ.ย.) “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนทั่วประเทศ ในหัวข้อ “เรื่องราวหรือเหตุการณ์” ที่มีผลต่อ “ความเชื่อมั่นของรัฐบาลและฝ่ายค้าน” ณ วันนี้ ซึ่งในสภาพปัจจุบัน ความเชื่อมั่นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้การทำงานของรัฐบาลและฝ่ายค้านทำได้อย่างบรรลุผล เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานและใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจในการทำงานของทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ซึ่งจากผลสำรวจจำนวน 1,303 คน ระหว่างวันที่ 12-15 มิถุนายน 2556 สรุปผลได้ดังนี้
ต่อคำถามว่าเรื่องราว หรือเหตุการณ์ใดบ้างที่มีผลต่อ “ความเชื่อมั่นรัฐบาล” เรื่องราว หรือ เหตุการณ์ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงนี้ที่ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล “เพิ่มขึ้น” อันดับ 1 ร้อยละ 32.27 เห็นว่าการพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลที่พยายามพัฒนาประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ฯลฯ อันดับ 2 ร้อยละ 22.89 เห็นว่านายกรัฐมนตรีเดินทางไปต่างประเทศเพื่อสานความสัมพันธ์และเพื่อส่งเสริมการลงทุน เพราะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประเทศไทย ฯลฯ อันดับ 3 ร้อยละ 20.67 เห็นว่ารัฐบาลสามารถผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 เพราะรัฐบาลมีแผนและรายละเอียดการใช้งบประมาณที่ชัดเจน อยากเห็นบ้านเมืองพัฒนาเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ฯลฯ อันดับ 4 ร้อยละ 15.42 เห็นว่าการปราบปรามยาเสพติด เพราะมีผลงานให้เห็นชัดเจน สามารถจับกุมและทำผลงานได้อย่างต่อเนื่อง ฯลฯ และอันดับ 5 ร้อยละ 8.75 เห็นว่าการเพิ่มค่าจ้าง ขึ้นเงินเดือน เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญและช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง ต้องการช่วยเหลือให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ฯลฯ
ส่วนเรื่องราว หรือเหตุการณ์ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงนี้ที่ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล “ลดลง” อันดับ 1 ร้อยละ 47.52 มองว่ากรณีโครงการรับจำนำข้าว เพราะจากกระแสข่าวที่ออกมาทำให้เห็นความไม่โปร่งใสและไม่สามารถบอกตัวเลขการขาดทุน 2.6 แสนล้านบาทได้ ฯลฯ อันดับ 2 ร้อยละ 18.48 มองว่าไม่สามารถแก้ปัญหาสินค้าแพง ค่าครองชีพสูง เพราะรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ดีพอ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ของกิน ของใช้ยังมีราคาสูงโดยเฉพาะราคาไข่ ฯลฯ อันดับ 3 ร้อยละ 15.86 มองว่าไม่สามารถแก้ปัญหาไฟใต้ เพราะยังมีข่าวการก่อการร้ายในพื้นที่ภาคใต้เกิดขึ้นทุกวัน ประชาชนในพื้นที่ต้องเสี่ยงอันตราย ฯลฯ อันดับ 4 ร้อยละ 10.08 มองว่าการประท้วงของกลุ่มต่างๆ เช่น กรณีหน้ากากขาว หน้ากากแดง เพราะแสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจของประชาชนบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการทำงานของรัฐบาล ฯลฯ และอันดับ 5 ร้อยละ 8.06 มองว่าการเสียชีวิตของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร เพราะมีกระแสข่าวว่านักการเมืองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ฯลฯ
ด้านเรื่องราว หรือ เหตุการณ์ใดบ้างที่มีผลต่อ “ความเชื่อมั่นฝ่ายค้าน” เรื่องหรือ เหตุการณ์ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงนี้ที่ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อฝ่ายค้าน “เพิ่มขึ้น” อันดับ 1 ร้อยละ 42.00 ระบุว่าการตรวจสอบทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เพราะสามารถตรวจสอบการทุจริตและนำเสนอข้อมูลต่างๆ ให้ประชาชนรับรู้ข้อเท็จจริงได้มากขึ้น ฯลฯ อันดับ 2 ร้อยละ 21.86 ระบุว่าการกู้เงินของรัฐบาล เพราะจากการอภิปรายที่ผ่านมา ฝ่ายค้านมีข้อซักถาม แต่รัฐบาลไม่สามารถตอบคำถามให้ชัดเจนได้ ฯลฯ อันดับ 3 ร้อยละ 16.87 ระบุว่าการคัดค้านเรื่องนิรโทษกรรม เพราะเป็นประเด็นสำคัญที่กระทบต่อคนบางกลุ่มและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ฯลฯ อันดับ 4 ร้อยละ 12.56 ระบุว่าการตรวจสอบการประมูลโครงการจัดการน้ำ เพราะมีการติดตาม ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง มีทีมงานบุคลากรที่มีฝีมือ ฯลฯ และอันดับ 5 ร้อยละ 6.71 ระบุว่ายกฟ้องคดีเงินบริจาคอีสต์วอเตอร์ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีความผิดตามที่กล่าวหา เป็นเพียงเกมการเมือง ฯลฯ
ขณะที่เรื่องราว หรือเหตุการณ์ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงนี้ที่ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อฝ่ายค้าน “ลดลง” อันดับ 1 ร้อยละ 42.90 มองว่าการค้านทุกเรื่อง เพราะทำให้ภาพลักษณ์ของฝ่ายค้านดูไม่ดี เป็นการค้านที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ฯลฯ อันดับ 2 ร้อยละ 22.05 มองว่าการกล่าวหารัฐบาลโดยไม่มีหลักฐานชัดเจน กล่าวหาแบบลอยๆ เพราะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการทำงานที่ไม่ดีพอ เมื่อไม่มีเอกสารหลักฐานยืนยันก็ทำให้ไม่น่าเชื่อถือ ฯลฯ อันดับ 3 ร้อยละ 15.11 มองว่าเล่นเกมการเมือง นำคดีสำคัญมาโยงเป็นเรื่องร้อนทางการเมือง เพราะทำให้ประชาชนรู้สึกเบื่อ และไม่อยากติดตามข่าวสารทางการเมือง ไม่เชื่อมั่นต่อนักการเมือง ฯลฯ อันดับ 4 ร้อยละ 12.39 มองว่าความไม่ร่วมมือในการแก้ปัญหาไฟใต้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์มี ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้ แต่ไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ ฯลฯ และอันดับ 5 ร้อยละ 7.55 มองว่าการสร้างความขัดแย้งทางการเมืองโดยเฉพาะการทะเลาะเบาะแว้งกับรัฐบาล เพราะทำให้ภาพลักษณ์ของนักการเมืองเสื่อมเสีย ประชาชนรู้สึกเบื่อหน่ายกับการเมือง ฯลฯ