xs
xsm
sm
md
lg

ดุสิตโพล เผย ปชช.ไม่เชื่อข้อมูล รบ.-ฝ่ายค้าน อภิปรายงบ คาดขัดแย้งเช่นเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โพลดุสิต เผยความเห็น ปชช.ที่ตามอภิปรายงบ 57 ชม ฝ่าย รบ.-ค้าน เตรียมตัวดี ข้อมูลแน่น ติงยังประท้วง ทะเลาะกันเช่นเดิม ส่วนใหญ่ไม่เชื่อข้อมูลทั้ง 2 ฝ่าย เหตุเอาแต่เถียง เห็นแก่ประโยชน์ตัวเอง เฉยๆ ผลโหวต ชี้ เรื่องปกติ เชื่อ การเมืองไทยขัดแย้งไม่เลิก

วันนี้ (2 มิ.ย.) “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่สนใจติดตาม “การอภิปรายงบประมาณรายจ่าย” หลังจากที่การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 เสร็จสิ้นลง โดยที่ประชุมมีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 292 เสียง ต่อ 155 เสียง และมีผู้งดออกเสียง 27 เสียง ไม่ลงคะแนน 4 เสียง เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนได้มีส่วนร่วมทางการเมือง และเป็นฐานข้อมูลให้กับผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งจากผลสำรวจทั่วประเทศ จำนวน 1,139 คน ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2556 สรุปผลดังนี้

โดยสิ่งที่ประชาชน ประทับใจ/พอใจ ในการอภิปรายครั้งนี้ คือ อันดับ 1 ร้อยละ 42.47 มองว่าทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างเตรียมตัวมาดี มีข้อมูลเอกสารต่างๆ ประกอบการอภิปราย อันดับ 2 ร้อยละ 31.50 มองว่าได้รับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากขึ้น อันดับ 3 ร้อยละ 20.55 มองว่าการอภิปรายเสร็จสิ้นลงตามระยะเวลาที่กำหนด ไม่ยืดเยื้อ อันดับ 4 ร้อยละ 5.48 มองว่าบรรยากาศโดยรวมเป็นไปด้วยดี ไม่มีวอล์กเอาต์ ไม่มีการกระทบกระทั่งที่รุนแรง

ต่อคำถามว่าสิ่งที่ประชาชน ไม่ประทับใจ/ไม่พอใจ ในการอภิปรายครั้งนี้ คือ อันดับ 1 ร้อยละ 34.88 ระบุว่าทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านยังคงโต้เถียง ทะเลาะเบาะแว้ง ลุกขึ้นประท้วงเหมือนเดิม อันดับ 2 ร้อยละ 30.23 ระบุว่าพูดนอกประเด็น นำเรื่องเก่ามาพูด พูดไม่ตรงตามหัวข้อการอภิปราย อันดับ 3 ร้อยละ 27.91 ระบุว่าไม่เคารพประธาน ไม่ฟังสิ่งที่ประธานพูด ลุกขึ้นประท้วงท่านประธาน อันดับ 4 ร้อยละ 6.98 ระบุว่าระหว่างที่มีการอภิปรายมี ส.ส.บางคนลุกเดินออกจากที่ประชุม/ไม่ตั้งใจฟัง

ขณะที่ระหว่าง “ฝ่ายรัฐบาล” กับ “ฝ่ายค้าน” ประชาชนเชื่อข้อมูลของใคร? มากกว่ากัน อันดับ 1 ร้อยละ 38.59 ไม่เชื่อทั้ง 2 ฝ่าย เพราะมีแต่การโต้เถียงทะเลาะเบาะแว้ง เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว หยิบยกแต่เรื่องเก่าๆ นอกประเด็นมาพูด ฯลฯ อันดับ 2 ร้อยละ 24.07 เชื่อพอๆ กัน เพราะต่างฝ่ายต่างมีข้อมูล เหตุผลมาหักล้างพอๆ กัน พูดโต้ตอบได้ดีทั้ง 2 ฝ่าย ฯลฯ อันดับ 3 ร้อยละ 20.74 เพราะสามารถชี้แจงได้ทุกประเด็น สิ่งที่รัฐบาลทำก็เพื่อต้องการช่วยเหลือประชาชนและพัฒนาประเทศ หวังได้รับการสนับสนุน ยอมรับ และความไว้วางใจจากประชาชน ฯลฯ และอันดับ 4 ร้อยละ 16.60 เชื่อ “ฝ่ายค้าน” มากกว่า เพราะเอกสารหลักฐานที่นำมาดูน่าเชื่อถือ มีน้ำหนัก มีการเตรียมตัวมาดี ฯลฯ

ส่วนคำถามว่าประชาชนเห็นด้วยกับผลโหวต/การลงมติ อันดับ 1 ร้อยละ 44.58 คิดว่าเฉยๆ เพราะเป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีการประชุมสภาเพื่อพิจารณางบประมาณประจำปี อันดับ 2 ร้อยละ 28.75 คิดว่าเห็นด้วย เพราะอยากเห็นบ้านเมืองพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ประชาชนทุกคนจะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ฯลฯ อันดับ 3 ร้อยละ 26.67 คิดว่าไม่เห็นด้วย เพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมากอยู่แล้วย่อมชนะการโหวตเป็นธรรมดา การชี้แจงรายละเอียดการใช้งบประมาณในบางเรื่องยังไม่ชัดเจน ฯลฯ

ทั้งนี้เมื่อถามว่าประชาชนคิดว่า “การเมืองไทย” หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร? อันดับ 1 ร้อยละ 43.30 มองว่ายังคงมีความขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้ง และแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเหมือนเดิม อันดับ 2 ร้อยละ 23.71 มองว่ายังคงทุจริตคอร์รัปชัน เห็นแก่อำนาจและผลประโยชน์ส่วนตน อันดับ 3 ร้อยละ 20.62 มองว่าสังคมไทยให้ความสนใจและติดตามตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้งบประมาณ การพัฒนา และการบริหารประเทศของรัฐบาล และอันดับ 4 ร้อยละ 12.37 มองว่าไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ยังหาบทสรุปที่แน่นอนไม่ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น