xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” เปิดประชุมผู้นำด้านน้ำฯ ยกอุทกภัยใหญ่ในไทย เป็นบทเรียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“นายกฯยิ่งลักษณ์” ปาฐกถาเปิดประชุมระดับผู้นำด้านน้ำฯ ยกมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นบทเรียน พร้อมปลุกผู้นำเอเซีย-แปซิฟิก ร่วมขับเคลื่อนบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน หวังปี 2015 เวทีโลกบรรจุแผนบริหารจัดการน้ำในแผนพัฒนา ขณะที่ผู้นำประเทศสนใจชมนิทรรศการโครงการพระราชดำริฯ เกี่ยวกับน้ำ ด้านตำรวจคุมเข้มด้านความปลอดภัยเต็มที่


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันนี้ (20 พ.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้จัดเลี้ยงอาหารเช้าผู้นำประเทศที่เดินทางเข้าร่วมประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 ภายในบริเวณศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนที่จะนำชมนิทรรศการโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาทิ โครงการฝนหลวง, โครงการปลูกหญ้าแฝก, การสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณเชิงเขา, เขื่อน, เกษตรทฤษฎีใหม่, แก้มลิง, การแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับมหาอุทกภัยในประเทศไทยที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2554 และการแสดงเทคนิคการบริหารจัดการน้ำ ระบบเฝ้าระวังเตือนภัย การพยากรณ์น้ำท่วมฉับพลันอย่างแม่นยำ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

จากนั้นในเวลา 09.00 น. จึงเริ่มการประชุมเต็มคณะในการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 2 ซึ่งจะเริ่มจาก นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย กล่าวนำและสรุปผลการประชุมวิชาการ ต่อด้วย นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ภัยพิบัติและการรับมือ : การดำเนินงานและพันธกิจของประเทศไทยต่อการจัดการน้ำและอุทกภัยเพื่ออนาคต”

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่าน้ำคือชีวิต มนุษย์ทุกคนถ้าขาดน้ำวันไหน ย่อมหมายถึงชีวิต แต่ถ้าน้ำท่วมเกินความจำเป็น อาจมีอำนาจในการทำลายล้าง และสามารถคร่าชีวิตมนุษย์ได้ ไม่แพ้ภาวะความแห้งแล้ง และขาดแคลน น้ำเชื่อมโยงความเป็นอยู่เสริมสร้างคุณภาพชีวิต เป็นเส้นทางคมนาคม เป็นปัจจัยการผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม เป็นพื้นฐานสร้างขวัญมั่นคงทางอาหาร ตลอดจนการพัฒนาที่ยั่งยืน ทรัพยากรน้ำเป็นสมบัติของมนุษย์ทุกคนไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่งหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับ นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ที่เคยกล่าวไว้ว่า “น้ำเป็นเรื่องของสิทธิมนุษย์ชนที่เราทุกคนควรปกปักรักษา"

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หารือประเด็นสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับความมั่นคงด้านน้ำและภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับน้ำที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่ผ่านมามนุษย์เป็นผู้ทำลายทรัพยากรโดยเฉพาะป่าไม้ ทำให้ธรรมชาติขาดความสมดุล และทำให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวกับน้ำ บางคนถึงกับทำนายว่า ต่อไปจะเกิดสงครามจากการแย่งชิงน้ำ และภูมิภาคเอเชียมีการเข้าถึงน้ำดื่มน้อยรวมถึงมีโอกาสเจอภัยภิบัติสูงกว่าภูมิภาคอื่นของโลก ขณะที่ภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง แต่ความหวังจะเป็นจริงไม่ได้หากไม่ร่วมกันบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจัง

นายกรัฐมนตรี ยังได้หยิบยกประสบการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศไทย โดยระบุว่า ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯ รัฐบาลและประชาชนคนไทยต้องรวมพลังกันเพื่อเผชิญและฟันฝ่ากับมหาอุทกภัยที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติไทย จนได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ทั้งการเสียชีวิต ทรัพย์สิน และไร้ที่อยู่อาศัย รายได้ 3 ไตรมาสแรกของปี 54 สูญเสีย ส่งผลให้การเจริญเติบโตได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แต่ก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคครั้งนี้มาได้ด้วยความเป็นเอกภาพของประชาชนที่ร่วมใจกันทุกภาคส่วน

ขณะเดียวกันรัฐบาลได้เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสโดยการลงทุน 1,2000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการจัดการน้ำทั้งระบบ โดยดำเนินการตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงอุทิศพระวรกายมาโดยตลอดพระชนม์ชีพ เพื่อจัดการกับปัญหาด้านน้ำของประชาชนชาวไทย การดำเนินการดังกล่าวทำให้ได้รับความเชื่อมั่นทั้งชุมชน และภาคธุรกิจระดับโลกคืนกลับมา ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเติบโต ร้อยละ 6.4 ในปีที่ผ่านมา

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่าการบริหารจัดการน้ำต้องให้ความสำคัญ และดำเนินการสอดคล้องกันทั้งระบบ เพราะภัยพิบัติไม่รู้จักพรมแดน และความแตกต่างของคน ดังนั้นต้องเน้นแก้ปัญหาที่ต้นทาง และลงกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอากาศ ซึ่งทุกคนต้องร่วมมือกันวางแผนป้องกัน จะต่ำกว่าค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในการต้องมาฟื้นฟูซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลังเกิดเหตุภัยพิบัติและอุทกภัย ซึ่งการป้องกันดังกล่าวจะสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนและประเทศ รวมถึงภูมิภาคด้วย และไม่มีประเทศใดจัดการได้เพียงลำพัง ต้องสร้างพลังขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือที่ใกล้ชิดในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยไทยพร้อมมีบทบาทร่วมอย่างเต็มที่ โดยร่วมกันบริหารจัดการ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สร้างระบบเตือนภัยที่แม่นยำ­ วางระบบป้องกันความเสี่ยงต่างๆ

“ดิฉันหวังว่าประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก จะร่วมมือกับภูมิภาคอื่นๆ ในเวทีสหประชาชาติและเวทีอื่นๆ เพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จัดทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ลดความเสี่ยงที่เกิดจากภัยพิบัติน้ำ และในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ เราต้องมั่นใจว่าประเด็นเหล่านี้จะถูกบรรจุไว้ในวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 และหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะนำไปสู่ความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างเอเชีย-แปซิฟิก ให้มีภูมิคุ้มกันต่อน้ำและภัยภิบัติที่ดียิ่งขึ้น”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของการดูแลรักษาความปลอดภัย เป็นไปอย่างเข้มงวดโดยบุคคลและรถยนต์ที่เข้า-ออกจะต้องติดบัตรให้ชัดเจน ในส่วนของผู้นำแต่ละประเทศจะมีการอารักขาของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยในช่วงเช้าตำรวจได้เปิดให้มีการตรวจอุปกรณ์การถ่ายภาพสำหรับการต้อนรับผู้นำประเทศของนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เวลา 06.00 น.ก่อนที่ผู้นำแต่ละประเทศจะเดินทางมาถึงศูนย์ประชุมฯ

ขณะที่ตำรวจจากทุกภาคส่วนระดมกำลังทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบได้ตั้งจุดสกัดบริเวณโดยรอบ โดยเฉพาะพื้นที่ภายในศูนย์ประชุม เช่น ตำรวจม้า 4 ตัว เดินตรวจตรารอบๆพื้นที่, เจ้าหน้าที่เก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด (อีโอดี) ตรวจสิ่งแปลกปลอม, ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.), สุนัขสงครามจากหน่วยต่างๆ หลายสิบตัว, ตำรวจสันติบาล, ทหารอากาศกองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่, เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้กว่า 1,000 คน, ตำรวจทางหลวง, ตำรวจจราจร, ตำรวจท่องเที่ยว, ตำรวจกองปราบปราม ซึ่งมีตำรวจภูธรภาค 5 เป็นกำลังหลักในการดูแลความปลอดภัยทั้งหมดให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย










กำลังโหลดความคิดเห็น