xs
xsm
sm
md
lg

ภาคประชาชนชี้แผนจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน “ไม่ฟังเสียงชาวบ้าน-ขาดการมีส่วนร่วม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่าวภาคประชาชนด้านน้ำร่วมกันแถลงการณ์
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เวทีภาคประชาชนชี้แผนจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านของรัฐจัดการแบบรวมศูนย์-ไม่สนใจเสียงชาวบ้าน-ขาดการมีส่วนร่วม หวั่นโครงการล้มเหลวเพราะขั้นตอนผิด แถมไม่มีมาตรการชัดเจน ส่วนการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำน่าผิดหวัง เพราะไม่หารือเรื่องจัดการน้ำชายแดน ระบุ “แม่น้ำโขง-สาละวิน” ปัญหาเขื่อนเพียบ แต่ไม่หยิบยกมาหารือ

ตัวแทนภาคประชาชนจากพื้นที่ต่างๆ ในเครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ และภาคอีสาน ต่างขึ้นปราศรัยถึงนโยบายการจัดการน้ำของรัฐบาลตามแผนการจัดการน้ำโดยภาครัฐ 3.5 แสนล้านบาท บนเวทีภาคประชาชน “การจัดการน้ำ : ผู้นำต้องฟังเสียงจากรากหญ้า” ซึ่งจัดขึ้นที่ร้านหนังสือบุ๊ครีพับลิก ถนนคลองชลประทาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ในวันนี้ (19 พ.ค.)

การจัดเวทีภาคประชาชนครั้งนี้ มีขึ้นเพื่อเสนอข้อเท็จจริงในมุมมองของภาคประชาชน เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสิทธิมนุษยชน หลังจากที่ทางเครือข่ายเห็นว่า การจัดการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 14-20 พฤษภาคม ภายใต้หัวข้อ “ความมั่นคงด้านน้ำ” นั้นกลับไม่มีการหยิบยกเอาประเด็นปัญหาการจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในระดับประเทศ และระดับภูมิภาคมาหารือเท่าที่ควร รวมทั้งยังมองว่าแผนการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย ยังเป็นการจัดการแบบรวมศูนย์อำนาจที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

โดยการประชุมดังกล่าว ได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนภาคประชาชนจากพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่มีการสร้างเขื่อน หรือมีแผนการสร้างเขื่อน นำเสนอสถานการณ์ในพื้นที่ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจำนวนหนึ่งที่มาดูแลรักษาความสงบในพื้นที่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ซึ่งเป็นกลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ประกาศจะจัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครเพื่อต่อต้านการชุมนุม หรือตั้งเวทีของภาคประชาชน หรือองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ที่มีทิศทางไม่เห็นด้วย หรือคัดค้าการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำ โดยระบุว่า จะส่งกำลังอาสมัครไปเผชิญหน้าทันที หากทราบว่าภาคประชาชน หรือเอ็นจีโอมีการชุมนุมหรือตั้งเวที อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า ตลอดระยะเวลาของการจัดงานไม่พบว่ามีกลุ่มคนเสื้อแดงเข้ามาภายในบริเวณงานแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล โดยระบุว่า แผนงานดังกล่าวตั้งอยู่บนวิธีคิดของการทำงานจากเบื้องบนลงสู่เบื้องล่าง โดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้เสนอความคิดเห็น หรือรับฟังข้อเรียกร้องจากภาคประชาชนแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังขาดความสนใจเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชุมชน โดยเลือกมองในภาพรวม และผลักให้ประชาชนบางกลุ่มต้องรับบทเป็นผู้เสียสละ

ขณะเดียวกัน ตัวแทนภาคประชาชนยังให้ความเห็นด้วยว่า แผนการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านของรัฐบาลนั้น อาจจะได้ผลลัพธ์เป็นการใช้งบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งจากการที่แผนงานต่างๆ มีขั้นตอนที่ผิดพลาด อีกทั้งยังขาดความชัดเจนในหลายๆ จุด นอกจากนี้ ในโอกาสที่มีตัวแทนจาประเทศต่างๆ มาร่วมการประชุมระดับนานาชาติครั้งนี้ แต่กลับไม่มีการหยิบยกเอาเรื่องการจัดการน้ำตามแนวชายแดนของประเทศต่างๆ ขึ้นมาหารือด้วยแต่อย่างใด พร้อมทั้งให้ความเห็นว่า การจัดการประชุมที่ใช้เม็ดเงินมหาศาลในครั้งนี้ เป็นเสมือนการโฆษณาประชาสัมพันธ์แผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลมากกว่า

อนึ่ง ตัวแทนภาคประชาชนยังได้ระบุด้วยว่า การเดินทางมาร่วมงานในครั้งนี้ ถูกตั้งข้อสงสัยจากหน่วยงานภาครัฐ โดยมีทั้งการสอบถามโดยตรง การขอร้องไม่ให้เข้าร่วมเวที หรือความพยายามที่จะขัดขวางไม่ให้ตัวแทนภาคประชาชนเดินทางมาร่วมเวทีได้อีกด้วย

ภายหลังจากเสร็จสิ้นการพูดคุยบนเวทีภาคประชาชน เครือข่ายภาคประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือ และภาคอีสานได้ประกาศแถลงการณ์ “การจัดการทรัพยากรน้ำต้องมีส่วนร่วม เคารพสิทธิมนุษยชน สร้างมาตรฐานสิ่งแวดล้อมภูมิภาค” โดยมีนายนิวัตร ร้อยแก้ว จากกลุ่มรักษ์เชียงของ เป็นผู้อ่านแถลงการณ์ ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปคือ เครือข่ายภาคประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือ และภาคอีสาน มีข้อกังวลและข้อเสนอต่อปัญหาด้านการจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในประเทศไทย และในระดับภูมภาค ได้แก่ กรณีโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยภายใต้เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลวางแผน และตัดสินใจเองโดยไม่มีการหารือกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความคิดที่หลากหลาย อีกทั้งยังทำอย่างเร่งรีบ ไม่มีขั้นตอน และมาตรการรองรับว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้จริง มีการนำเสนอโครงการเขื่อนในพื้นที่ต่างๆ โดยที่ชาวบ้านไม่ได้รับทราบข้อมูล และไม่สามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นได้

ขณะที่ปัญหาการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนก็ขาดหลักธรรมาภิบาล และขาดการคำนึงถึงข้อกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน เช่น การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงของจีน ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนในลุ่มน้ำโขง และยังไม่มีการหยิบยกขึ้นมาแก้ไข การสร้างเขื่อนอีกหลายแห่งในแม่น้ำโขงตอนล่าง และในแม่น้ำสาละวิน โดยให้ความสำคัญในด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาโดยไม่ใส่ใจเรื่องระบบนิเวศวิทยา เป็นต้น ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว เครือข่ายภาคประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือ และภาคอีสานจึงขอแสดงจุดยืนคัดค้านการพัฒนาทรัพยากรน้ำที่ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเห็นว่า ระบบสั่งการแบบรวมศูนย์ไม่ใช่คำตอบของการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอีกด้วย

นอกจากนี้ เครือข่ายภาคประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือ และภาคอีสานยังได้ทำพิธีสำเร็จโทษ หรือประหาร ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ด้วยการนำหุ่นจำลองที่มีภาพใบหน้าของ ดร.ปลอดประสพ มาทำพิธีตัดศีรษะอีกด้วย โดยระบุว่า การที่นายปลอดประสพ อ้างถึงการจัดการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำที่จังหวัดเชียงใหม่ การเลือกเวียงกุมกาม เป็นสถานที่เลี้ยงต้อนรับผู้นำ และการรับบทเป็นพญามังรายในการแสดงต้อนรับผู้นำ ว่าต้องการสื่อถึงแนวคิดด้านการบริหารจัดการน้ำของพญามังรายนั้น ถือเป็นการอวดอ้าง และยกตนขึ้นเทียบ รวมทั้งฉวยโอกาสนำเอาแนวคิดด้านการจัดการน้ำของพญามังราย ซึ่งเป็นที่ยอมรับมาอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในแนวทางบริหารจัดการน้ำของรัฐ ทั้งที่ในความเป็นจริง การบริหารจัดการน้ำของรัฐไม่ได้ทำโดยเคารพนับถือธรรมชาติ รับฟังเสียงของประชาชน และตั้งมั่นบนหลักของศาสนา เหมือนที่พญามังรายทำแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อนายปลอดประสพ พยายามยกตนขึ้นเทียบกับพญามังราย ซึ่งเป็นที่เคารพของชาวล้านนา จึงต้องทำพิธีสำเร็จโทษดังกล่าว

ด้านความเคลื่อนไหวของกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ในวันนี้นั้น พบว่า ส่วนหนึ่งมีการรวมตัวกันที่หน้าโรงแรมวโรรส แกรนด์ พาเลส ซึ่งจัดตั้งเป็นกองบัญชาการของกองกำลังอาสาสมัครพิทักษ์เมืองเชียงใหม่ ขณะที่อีกส่วนหนึ่ง จำนวนประมาณ 100 คน ได้เคลื่อนขบวนไปยังศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา โดยอ้างว่าจะมาตั้งบกองอำนวยการเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศูนย์ประชุม และพื้นที่โดยรอบ

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ไม่ได้อนุญาตให้ทางกลุ่มเข้าไปภายในบริเวณศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติแต่อย่างใด ทำให้ทางกลุ่มไปหันไปรวมกันที่บริเวณทางเข้าศูนย์ฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 33 ซึ่งตั้งอยู่ติดกับศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ แทน



กำลังโหลดความคิดเห็น