xs
xsm
sm
md
lg

เอ็นจีโอร้องศาลปค.สั่งปิดปาก”ปลอดประสพ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- เอ็นจีโอฟ้องศาลปกครองปิดปาก “ปลอดประสพ” หลังออกมาตำหนิภาคประชาชนว่าเป็น “พวกขยะเกะกะ” ซึ่งเข้าข่ายละเมิดสิทธิและเสรีภาพประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองไว้ "ยิ่งลักษณ์" ยกมหาอุทกภัยไทย บทเรียนราคาแพง ปลุกผู้นำเอเซีย-แปซิฟิก รวมพลังขับเคลื่อนบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนต่อเนื่อง หวังหลัง 2015 เวทีโลกบรรจุแผนบริหารจัดการน้ำในแผนพัฒนา "มาร์ค"ติงไม่มีการพูดถึงปัญหาภัยแล้ง

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า วันนี้เวลา 10.00 น. สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนเดินทางไปศาลปกครองกลางเพื่อยื่นฟ้องนายปลอดประสพ สุรสวดี รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยการให้สัมภาษณ์ตำหนิภาคประชาชนที่จะใช้สิทธิในการชุมนุมประท้วงแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในเวทีการประชุมด้านน้ำแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 ที่เชียงใหม่ ว่า “จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการจับกุมดำเนินคดีทั้งหมด” และเปรียบเปรยผู้ที่จะมาชุมนุมว่าเป็น “พวกขยะเกะกะ” ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวเข้าข่ายจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 29 ให้การคุ้มครองไว้ ผนวกกับมาตรา 63 ก็ได้บัญญัติสิทธิของประชาชนว่าสามารถทำได้ ซึ่งคำพูดดังกล่าวเข้าข่ายผิดประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 297 ประกอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2551 ข้อ 11 และข้อ 12 ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องใช้อำนาจตามข้อ 30 ในการสั่งลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือต้อง “สั่งปลด” รัฐมนตรีที่กระทำการละเมิดประมวลจริยธรรมดังกล่าว แต่นายกรัฐมนตรีก็เพิกเฉย หาได้กระทำการใด ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไม่ สมาคมฯจึงร่วมกับภาคประชาชนมายื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา 3 ข้อ คือ

1)ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดี ห้ามการกระทำหรือให้สัมภาษณ์ในลักษณะดูถูก เหยียดหยาม หรือละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนและผู้ฟ้องคดี ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในตำแหน่งทางปกครองหรือทางการเมือง และให้รายงานให้ศาลและผู้ฟ้องคดีทราบทุก ๆ 3 เดือน หรือตามดุลยพินิจศาล

2)ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวคำขอโทษประชาชนและผู้ฟ้องคดี ผ่านสื่อโทรทัศน์สาธารณะของรัฐและเอกชน รวมทั้งประกาศถ้อยคำขอโทษในหนังสือพิมพ์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดของประเทศไล่เรียงกันลงมาอย่างน้อย 10 ฉบับ เป็นระยะเวลาติดต่อกันอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 15 วัน โดยค่าใช้จ่ายของผู้ถูกฟ้องคดี หรือตามดุลยพินิจศาล

และ 3)ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการลงโทษผู้ถูกฟ้องคดีตามความร้ายแรงแห่งการกระทำ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2551 ภายใน 7 วัน หรือตามแต่ศาลจะเห็นสมควร นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด

***ชี้ปฎิญญาเชียงใหม่พิสูจน์ความจริงใจรัฐบาล

นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ กล่าวถึงปฏิญญาเชียงใหม่ ว่าด้วยภาวะผู้นำและพันธะ และผูกพัน เพื่อความมั่นคงด้านน้ำและการเผชิญภัยพิบัติด้านน้ำในการประชุมผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 19-20 พ.ค.2556 ซึ่งมีผู้นำจากประเทศต่างๆ และตัวแทน ร่วมให้ปฏิญญาจำนวน 83 ประเทศ ที่มีขึ้นว่า โดยภาพรวมของเนื้อหาแล้วมองว่าในเนื้อหาหลักการมีเหตุผลที่น่าสนใจ แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องพิสูจน์ในการปฏิบัติการ ในประเด็นหลัก ๆ เช่น กระบวนการศึกษาองค์ความรู้ท้องถิ่นด้านการจัดการทรัพยากรกับการอนุรักษ์ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม นโยบายการพัฒนาประเทศในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำ

นอกจากนี้กระบวนการตรวจสอบการดำเนินโครงการให้เกิดความโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล และควรให้ความสำคัญกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศในการดำเนินงาน ทำงานด้วยความมุ่งมั่นอย่างเป็นเอกภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกระบวนการมีส่วนร่วมในลักษณะประชาสังคมต่อการตัดสินใจในการดำเนินโครงการ และโดยเฉพาะรัฐบาลจะต้องพร้อมรับฟังการวิพากวิจารณ์อย่างกว้างขวาง พร้อมกับกระบวนการรับฟังขอเสนอแนะจากทุกฝ่าย

"ในบางประเด็นที่เนื้อหาของปฏิญญาที่จะเปิดกว้างเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนด้วย แต่ก็ต้องพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลต่อข้อเรียกร้องของเครือข่ายชาวบ้านฯ ที่ได้เรียกร้องไปว่า จะมีความจริงใจสักเพียงใด จะเป็นเพียงคำกล่าวบทร้อยแก้วด้วยภาษาที่งดงามทำได้จริง หรือ ถ้อยคำฟังแล้วน่าชื่นใจ แต่ต้องเห็นแผนปฏิบัติการ แผนการตรวจสอบ โดยระยะเวลาที่ชัดเจน และต้องเปิดเผยให้ให้เห็นกระบวนการทำงานทั้งหมดตลอดระยะเวลาในการทำงาน ซึ่งพวกเราภาคประชาชนจะติดตามและตรวจสอบทุกขั้นตอนของการบริหารจัดการน้ำ เพราะงบประมาณที่ถูกนำไปใช้คือหยาดเหงื่อและแรงงานของประชาชนชาวไทยทุกคนที่ต้องแบกรับร่วมกัน"นายสมเกียรติ กล่าว

***”ยิ่งลักษณ์” ยกน้ำท่วมใหญ่บทเรียนราคาแพง

ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการประชุมผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก ที่จ.เชียงใหม่ ว่าเมื่อวานนี้ (20 เม.ย.) เวลา 07.45 น. ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารเช้าผู้นำประเทศต่างๆที่เข้าร่วมประชุม

จากนั้นเวลา 08.30 น. นายกฯ พร้อมด้วยนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) นำผู้นำ รัฐมนตรี และผู้แทนประเทศต่างๆ ชมนิทรรศการด้านน้ำ ตามโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาทิ โครงการฝนหลวง , โครงการปลูกหญ้าแฝก, การสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณเชิงเขา , เขื่อน , เกษตรทฤษฎีใหม่ , แก้มลิง , การแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับมหาอุทกภัยในประเทศไทย ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2554 และการแสดงเทคนิคการบริหารจัดการน้ำ ระบบเฝ้าระวังเตือนภัย การพยากรณ์น้ำท่วมฉับพลันอย่างแม่นยำ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

จากนั้นนายกฯ กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมว่า น้ำคือชีวิต มนุษย์ทุกคนถ้าขาดน้ำวันไหน ย่อมหมายถึงชีวิต แต่ถ้าน้ำท่วมเกินความจำเป็นอาจมีอำนาจในการทำลายล้าง และสามารถคร่าชีวิตมนุษย์ได้ ไม่แพ้พภาวะความแห้งแล้ง และขาดแคลน น้ำเชื่อมโยงความเป็นอยู่เสริมสร้างคุณภาพชีวิต เป็นเส้นทางคมนาคม เป็นปัจจัยการผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม เป็นพื้นฐานสร้างขวัญมั่นคงทางอาหาร ตลอดจนการพัฒนาที่ยั่งยืน ทรัพยากรน้ำเป็นสมบัติของมนุษย์ทุกคนไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่งหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง

ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับ นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ที่เคยกล่าวไว้ว่า “น้ำ เป็นเรื่องของสิทธิมนุษย์ชนที่เราทุกคนควรปกปักรักษา“

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หารือประเด็นสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับความมั่นคงด้านน้ำและภัยภิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับน้ำที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่ผ่านมามนุษย์เป็นผู้ทำลายทรัพยากร โดยเฉพาะป่าไม้ ทำให้ธรรมชาติขาดความสมดุล และทำให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวกับน้ำ บางคนถึงกับทำนายว่า ต่อไปจะเกิดสงครามจากการแย่งชิงน้ำ และภูมิภาคเอเชียมีการเข้าถึงน้ำดื่มน้อย รวมถึงมีโอกาสเจอภัยภิบัติสูงกว่าภูมิภาคอื่นของโลก ขณะที่ภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง แต่ความหวังจะเป็นจริงไม่ได้หากไม่ร่วมกันบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ นายกฯได้ หยิบยกประสบการอุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศไทย โดยระบุว่า ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯ รัฐบาลและประชาชนคนไทยต้องรวมพลังกันเพื่อเผชิญและฟันฝ่ากับมหาอุทกภัยที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติไทย จนได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ทั้งการเสียชีวิต ทรัพสิน และไร้ที่อยู่อาศัย รายได้ 3 ไตรมาตรแรกของปี 54 สูญเสีย ส่งผลให้การเจริญเติบโตได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แต่ก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคครั้งนี้มาได้ ด้วยความเป็นเอกภาพของประชาชนที่ร่วมใจกันทุกภาคส่วน

ขณะเดียวกันรัฐบาลได้เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาศ โดยการลงทุน 1,2000 ล้านดอนลาร์สหรัฐฯ ในการจัดการน้ำทั้งระบบ โดยดำเนินการตามแนวทางพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงอุทิศพระวารกายมาโดยตลอดพระชนม์ชีพ เพื่อจัดการกับปัญหาด้านน้ำของประชาชนชาวไทย การดำเนินการดังกล่าวทำให้ได้รับความเชื่อมั่น ทั้งชุมชน และภาคธุรกิจระดับโลกคืนกลับมา ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเติบโต ร้อยละ 6.4 ในปีที่ผ่านมา

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำต้องให้ความสำคัญ และดำเนินการสอดคล้องกันทั้งระบบ เพราะภัยพิบัติไม่รู้จักพรหมแดน และความแตกต่างของคน ดังนั้นต้องเน้นแก้ปัญหาที่ต้นทาง และลงกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอากาศ ซึ่งต้นทุกนร่วมมือกันวางแผนป้องกัน จะต่ำกว่าค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในการต้องมาฟื้นฟูซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลังเกิดเหตุภัยภิบัติและอุทกภัย ซึ่งการป้องกันดังกล่าวจะสร้างความมั่นคงให้กับประชาชน และประเทศรวมถึงภูมิภาคด้วย และไม่มีประเทศใดจัดการได้เพียงลำพัง ต้องสร้างพลังขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือที่ใกล้ชิดในระดังภูมิภาค และระดับโลก โดยไทยพร้อมมีบทบาทร่วมอย่างเต็มที่ โดยร่วมกันบริหารจัดการ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สร้างระบบเตือนภัยที่แม่นยำ วางระบบป้องกันความเสี่ยงต่างๆ

“ดิฉันหวังว่าประเทศในเอเชียแปซิฟิก จะร่วมมือกับ ภูมิภาคอื่นๆในเวทีสหประชาชาติและเวทีอื่นๆ เพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จัดทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ลดความเสี่ยงที่เกิดจากภัยภิบัติน้ำ และในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ เราต้องมั่นใจว่าประเด็นเหล่านี้จะถูกบรรจุไว้ในวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 และหวังว่าการประชุมครั้งนี้ จะนำไปสู่ความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างเอเซียแปซิฟิก ให้มีภูมิคุ้มกันต่อน้ำและภัยภิบัติที่ดียิ่งขึ้น” นายกรัฐมนตรี กล่าว

**ประกาศ"ปฏิญญาเชียงใหม่"ยกน้ำเป็นวาระชาติ

ด้าน นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการบริการจัดการน้ำและอุทกภัยได้ประกาศปฏิญญาเชียงใหม่(Chiang Mai Declaration) สำหรับการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำฯ โดยมีสาระสำคัญว่า ผู้แทนประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของน้ำต่อการดำรงชีพของมนุษย์ ทั้งความมั่นคงต่อสภาพแวดล้อมและเศรษฐกิจ และตระหนักถึงความจำเป็นในการรวมประเด็นน้ำเข้ากับการพัฒนาอย่างยั่งยืน อีกทั้งภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติสูงที่สุดในโลก โดยเฉพาะภัยพิบัติด้านอุทกภัยและภัยแล้วซึ่งมีความรุนแรงและมีความถี่มากขึ้น ขณะเดียวกันผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอาจจะเพิ่มความรุนแรงและความถี่ของสถานการณ์ภัยพิบัติ ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและอาจสูญเสียชีวิต

อย่างไรก็ตามมีความห่วงใยประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กและกลุ่มประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลต่อผลกระทบจากภัยพิบัติที่สร้างความเสี่ยงหายสูง และเห็นความพยายามของรัฐและประเทศเหล่านี้ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้บรรลุผล ทั้งนี้ จะเน้นการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำ โดยใช้หลักการมีส่วนร่วมของผู้ใช้น้ำ นักวางแผนบริหารและผู้กำหนดนโยบายในทุกระดับ และเน้นว่าสตรีมีบทบาทสำคัญในการจัดหาการบริหารจัดการและการพิทักษ์ทรัพยากรน้ำ อีกทั้งตระหนักว่าความยั่งยืนของการผลิตอาหารขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

นายปลอดประสพ กล่าวอีกว่า เรายินดีปรับมติของการประชุมระดับผู้น้ำครั้งที่ 1 เมื่อปี 2007 ให้ประเด็นด้านน้ำและสุขาภิบาลขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ ให้มีการจัดการน้ำและสุขาภิบาลอย่างเหมาะสม และส่งเสริมให้การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาในระยะหลังปี 2015 เพื่อลดความสูญเสียชีวิต ทรัพย์สินที่เกิดจากภัยธรรมชาติ

** "อภิสิทธิ์"ติงประชุมน้ำไร้ถก"ภัยแล้ง"

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประชุมผู้นำด้านน้ำเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 ที่ จ.เชียงใหม่ ว่า รู้สึกเสียใจที่การประชุมในครั้งนี้ ไม่มีเนื้อหาสาระที่จะกล่าวถึงปัญหาเรื่องทรัพยากรน้ำ ปัญหาภัยแล้ง ทั้งที่ควรเป็นเรื่องใหญ่ในที่ประชุม เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญต่อทุกประเทศ และจะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตอย่างแน่นนอน ขณะที่ไทยก็มีเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่เกิดขึ้นจากปัญหาน้ำท่วม และปัญหาภัยแล้ง สำหรับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนนั้น กลุ่มดังกล่าวก็ยืนยันว่าไม่ได้มีความคิดที่จะขัดขวางจนทำให้ไม่สามารถประชุมได้ แต่กลับมีการให้ข่าวในลักษณะที่ทำให้กลุ่มนี้เสียหาย
กำลังโหลดความคิดเห็น