xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” จ้อผ่านเทปผลเยือนมัลดีฟส์ รมว.สธ.แจง P4P ปัดลดค่าตอบแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (แฟ้มภาพ)
“นายกฯ ยิ่งลักษณ์” จัดรายการแห้ง อัดเทป “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” แจงเยือนมัลดิฟส์ ลงนาม MOU 7 ฉบับ ขยายการลงทุนด้านการศึกษา สาธารณสุข ประมง หวังเชื่อมท่าเรือทวายไปมัลดีฟส์ ขณะที่ รมว.สาธารณสุข ชี้แจง P4P วัดผลงานบุคลากรการแพทย์ ยันไม่ได้ลดค่าตอบแทนถ้ามีผลการปฏิบัติงาน ระบุหากกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในชนบท ก็ไม่จำเป็นต้องได้ค่าตอบแทนในระดับชนบท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันนี้ (8 มิ.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จัดรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” ตามปกติ โดยเป็นการอัดเทปปฏิบัติภารกิจที่สาธารณรัฐมัลดีฟส์ระหว่างวันที่ 31 พ.ค. - 3 มิ.ย. 56 โดยมีนายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เยือนสาธารณรัฐมัลดีฟส์ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้เดินทางเยือนอย่างเป็นทางการ หลังไทย-มัลดีฟส์มีความสัมพันธ์กันมานานถึง 34 ปี โดยไทยกับมัลดีฟส์มีความร่วมมือในหลายด้าน เช่น การท่องเที่ยวที่มีนักธุรกิจไทยมาลงทุนหลายแห่ง สิ่งแวดล้อม ซึ่งมัลดีฟส์เป็น 1 ในประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย มัลดีฟส์นำเข้าสินค้าไทยถึงร้อยละ 66 ส่วนไทยนำเข้าปลาทูน่าจากมัลดีฟส์

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้มีการลงนามเอ็มโอยู 7 ฉบับ เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการร่วม ในการหารือการค้าการลงทุนให้มากขึ้นในอนาคต โดยหวังขยายความร่วมมือด้านการส่งออกอาหาร การประมง ความร่วมมือด้านการศึกษา การแพทย์ และสาธารณสุข รวมถึงสินค้าโอท็อป ซึ่งทางประธานาธิบดีของมัลดีฟส์ ก็ให้ความสนใจ และจะขอความร่วมมือในการศึกษารูปแบบการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนและภาคเอสเอ็มอี และจากการที่มัลดีฟส์เป็นประเทศเกาะ และได้ให้ภาคเอกชนที่สนใจมาลงทุน มาขอรับสัมปทานสร้างโรงแรม การลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม แต่ก็ประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำจืด จึงอยากให้มีการลงทุนเรื่องน้ำ รวมถึงการท่องเที่ยว ความมั่นคง และแรงงานไทย

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ในอนาคตอาจมีการเชื่อมท่าเรือทวายมาที่มัลดีฟส์ด้วย ซึ่งก็จะช่วยในเรื่องระบบการขนส่ง ขณะที่ศาลฎีกาของมัลดีฟส์ก็กำลังศึกษาข้อกฎหมายในการปกป้องนักลงทุน รวมถึงการพัฒนาประชาธิปไตย ที่สาธารณรัฐมัลดีฟส์กำลังจะมีการเลือกตั้งขึ้นในเดือน

ในช่วงที่ 2 นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน (Pay for Performance) หรือ P4P

โดย นพ.ประดิษฐกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของ P4P คือ การจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แพทย์อยู่ในภาครัฐ หรือพื้นที่ชนบท ไม่แตกต่างจากแพทย์ของเอกชน และสูงกว่าแพทย์ในเขตเมืองหรือเขตปกติ ถือเป็นนโยบายรัฐบาลในการปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้เงิน

นอกจากนี้ P4P ยังช่วยวัดผลการทำงานของบุคลากร จากเดิมการจ่ายค่าตอบแทนนั้นไม่ได้มีการวัดผลประเมินผล แต่ P4P จะวัดตามปริมาณงาน คุณภาพงาน จากการดูแลคนไข้ การประชุมวิชาการ ฯลฯ ทั้งนี้จึงถือว่า P4P เป็นเครื่องมือหนึ่งในการวัดผลประสิทธิภาพของกระทรวงสาธารณสุข

รมว.สาธารณสุขกล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้มีความตั้งใจไปลดค่าตอบแทน แต่หากมีผลการปฏิบัติงานตามที่ประเมิน ก็จะได้มี P4P ไปบวก แต่บางกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ใช่ชนบท ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเอาค่าตอบแทนในระดับของชนบทมาจ่าย เพราะเขตชนบทกับเขตเมืองก็ต่างกันแล้ว แต่ P4P จะมาช่วยเสริม ทำให้บุคลากรมีกำลังใจมากขึ้น

นพ.ประดิษฐยังกล่าวถึงการหารือกับชมรมแพทย์ชนบท เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ได้ทำความเข้าใจกันว่ามีวัตถุประสงค์ตรงกันหรือไม่ ซึ่งก็เข้าใจกันดีว่า P4P ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ และรัฐบาลไม่ได้ตั้งใจที่จะไปตัดเงิน ซึ่งตอนนี้ P4P ก็ได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งก็จะทำต่อไป ส่วนตรงไหนที่มีปัญหาก็จะเข้าไปดูแล ในส่วนของกลุ่มที่ยังไม่พร้อม ต้องทำอย่างน้อยไม่เกิน 1 ต.ค.56 ทั้งนี้ จึงมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อพิจารณาว่าสิ่งไหนต้องปรับปรุง และมีรายละเอียดปลีกย่อยอย่างไรบ้าง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและทำให้ระบบเดินต่อไปได้ เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าระบบมันขัดข้องจริงๆ



ด้าน นพ.ณรงค์กล่าวว่า มาตรการการเงินเป็นหนึ่งในหลายมาตรการ ในการดูแลบุคลากรในพื้นที่ห่างไกล เรามีโครงการผลิตแพทย์เพิ่มในชนบท โครงการหนึ่งแพทย์หนึ่งอำเภอ แพทย์ที่ไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เช่น 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก็มีโอกาสเรียนต่อได้ไวกว่าในพื้นที่ปกติ หลายมาตรการที่เราใช้มีหลายอย่าง รวมทั้งมาตรการการเงินที่ผ่านมาใช้ส่วนเดียว คือจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง ซึ่งก็ควรจะมีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในพื้นที่ที่อยู่ยาก และการจ่ายตามผลการปฏิบัติงาน กระทรวงฯ มีพนักงาน 1.8 แสนคน การจะจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ก็จะต้องมองว่าไม่เหลื่อมล้ำวิชาชีพอื่นด้วย

“บุคลากรเองก็เริ่มมีความพึงพอใจที่กระทรวงฯ เห็นคุณค่า และเห็นว่าคนทำงานหนัก ควรได้รับค่าตอบแทนตามปริมาณงาน แต่บางส่วนยังมองว่าเป็นการสร้างภาระงาน ซึ่งจริงๆ ถือว่าเป็นการปฏิบัติงานตามปกติ ทุกคนต้องเก็บรวบรวมผลงานเพื่อขึ้นเงินเดือน”

นพ.ณรงค์ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาการขาดแคลนด้านบุคลากรด้านการแพทย์ และการกระจายกำลังคน ถือเป็นปัญหาของกระทรวง ทั้งนี้กระทรวงจึงคิดที่จะดึงกำลังคนกลับมาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีโครงการผลิตแพทย์ชนบท 1 อำเภอ 1 แพทย์ ส่วนนักเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัยจะจบมาปีละ 2,500 คน ซึ่งจะส่งผลให้การขาดแคลนบุคลากรด้านการแพทย์ลดน้อยลงเรื่อยๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น