xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เพิ่มเวลานำเข้าข้าวโพด-หนุนภาคีมรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้-เพิ่มค่าครองชีพ ตลก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
“ภักดีหาญส์” เผย ครม.เห็นชอบขยายเวลานำเข้าข้าวโพดจาก ก.ค. 56-ส.ค. 56 ตามที่ พณ.เสนอ หลังเขมรขอ พร้อมหนุนร่างแผนปฏิบัติการเครือข่ายอินเทอร์เน็ต IPv6 ในไทย และยุทธศาสตร์การบูรณาการ e-Government “ธีรัตน์” แจงครม.เห็นชอบ เข้าภาคี สงวนวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ 5 สาขา “หมวดเจี๊ยบ” เผย ครม.เพิ่มค่าครองชีพ ขรก.ตลก.และดะโต๊ะยุติธรรม

วันนี้ (4 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2556 จากเดือนมีนาคม - กรกฎาคม 2556 เป็น เดือนมีนาคม - สิงหาคม 2556 และในส่วนปริมาณการนำเข้าให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2556 ตามมติคณะกรรมการนโยบายอาหารในคราวประชุมเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานกรรมการนโยบายอาหารเสนอ

เนื่องจากในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้าไทย-กัมพูชา (Thailand-Cambodia Joint Trade Committee: JTC) ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2556 ณ ประเทศกัมพูชา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายจอม ประสิทธิ์ รัฐมนตรีการค้าอาวุโสและรัฐมนตรีการค้ากัมพูชาเป็นประธานร่วม ฝ่ายกัมพูชาได้ยกเรื่อง มาตรการจำกัดช่วงเวลานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยขึ้นหารือว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของกัมพูชาได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่ไทยมีมาตรการจำกัดช่วงเวลานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จึงขอให้ฝ่ายไทยพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยขอให้ยกเลิกการจำกัดช่วงเวลาและปริมาณการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยเร็ว เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของกัมพูชากำลังจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมิถุนายน

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายอาหารได้พิจารณาทบทวนมาตรการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2556 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์การผลิต การตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของโลกและของไทย และพิจารณาข้อเรียกร้องของประเทศกัมพูชา ผลดีและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับปรุงมาตรการบริหารการนำเข้า โดยที่ประชุมมีมติ ดังนี้

1.ให้ขยายระยะเวลาการนำเข้าของผู้นำเข้าทั่วไป ภายใต้ AFTA และโครงการ Contract Farming ตาม ACMECS ออกไปอีก 1 เดือน จากเดือนมีนาคม-กรกฎาคม 2556 เป็นเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2556 และกำหนดมาตรการบริหารการนำเข้า ภาษีอัตราร้อยละ 0 ให้ อคส.นำเข้าได้ตลอดทั้งปี โดยให้จัดทำแผนการจัดซื้อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านการผลิต การตลาด ภาวะราคาและความต้องการใช้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อผลผลิตในประเทศ สำหรับผู้นำเข้าทั่วไปนำเข้าได้ช่วงเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2556 และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานควบคุมการนำเข้าตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525

2.ให้คงมาตรการบริหารการนำเข้าภายใต้ความตกลงการค้าอื่นๆ ได้แก่ การนำเข้าตามความตกลง WTO TNZCEP TAFTA JTEPA AJCEP AKFTA การนำเข้าทั่วไป (ประเทศนอกข้อตกลง) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2555 ซึ่งเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายอาหารเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2555

3.เพื่อให้อาหารสัตว์ในประเทศมีคุณภาพมาตรฐานและสุขอนามัยและไม่กระทบต่อสัตว์ การส่งออกเนื้อสัตว์ของไทย ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทั้งทางด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (The Application of Sanitary and Phytosantary Measures: SPS) และเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้กรมปศุสัตว์ กรมการค้าต่างประเทศประสานข้อมูลรายชื่อผู้ขออนุญาตนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ระหว่างกัน เพื่อติดตามกำกับดูแล การนำเข้าได้อย่างทั่วถึง และสร้างความมั่นใจแก่อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ

นายภักดีหาญส์ เปิดเผยอีกว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบต่อแผนปฏิบัติการเพื่อผลักดัน ส่งเสริม เร่งรัด และติดตามผลการดำเนินงานเครือข่ายอินเทอร์เน็ตรุ่นที่ 6 (Internet Protocol version 6: IPv6) ในประเทศไทย โดยมอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นหน่วยงานหลักทำหน้าที่ในการกำกับดูแล บริหารจัดการตามแผนปฏิบัติการเพื่อผลักดัน ส่งเสริม เร่งรัด และติดตามผลการดำเนินงาน IPv6 ในประเทศไทย ให้เป็นวาระแห่งชาติด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ

ทั้งนี้ กำหนดเป้าหมายของการดำเนินการคือเป็นแผนปฏิบัติการระยะสั้น ดำเนินการในระยะ 3 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2556 - 2558 โดย หน่วยงานภาครัฐระดับกรมขึ้นไปทุกหน่วยงาน มีการเชื่อมต่อสู่อินเทอร์เน็ตที่รองรับ IPv6 ภายในเดือนธันวาคม 2558, ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกราย ซึ่งครอบคลุมผู้ให้บริการในระบบใช้สาย และไร้สาย เปิดให้บริการเชื่อมต่อและใช้งานที่รองรับ IPv6 ภายในเดือนธันวาคม 2557, โครงข่ายของสถาบันการศึกษาของรัฐทุกระดับ (NEdNet และ UniNet) ให้สามารถใช้งาน IPv6 ได้อย่างน้อย 10,000 สถาบัน ภายในเดือนธันวาคม 2558 ส่วนการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและปฏิบัติการ IPv6 เพื่อให้คำปรึกษา อบรม ทดสอบ ตรวจประเมินด้าน IPv6 ของประเทศไทย ภายในเดือนธันวาคม 2556

นอกจากนี้ การเปลี่ยนถ่ายอินเทอร์เน็ตสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตรุ่นที่ 6 (IPv6) จะสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนหมายเลข IP ได้ เนื่องจาก IPv6 มีจำนวนหมายเลข IP มากมายมหาศาล IPv6 คือชุดตัวเลขสัญลักษณ์ที่ใช้ในการอ้างอิงเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เครือข่ายต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตทั่วโลกรุ่นใหม่ โดย IPv4 มีจำนวนหมายเลขประมาณ 4 พันล้าน ขณะที่ IPv6 มีจำนวนหมายเลขจำนวน 340 ล้านล้านล้านล้านเลขหมาย นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงคุณลักษณะอื่นๆ อีกหลายประการ ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและความปลอดภัย เพื่อรองรับระบบแอพพลิเคชั่นใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การเข้าสู่ IPv6 จึงนับว่าเป็นการปรับปรุงอินเทอร์เน็ตครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 30 ปี ตั้งแต่เริ่มมีอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ การวางแผนเพื่อการปรับเปลี่ยนการใช้งาน IPv6 เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญต่อการขยายตัวอย่างมั่นคงของอินเทอร์เน็ตต่อวงการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของโลก

นายภักดีหาญส์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การบูรณาการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) เพื่อใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เสนอ

โดยให้ความสำคัญในเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการบูรณาการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เป็น e-service ต่อไป รวมทั้งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

ทั้งนี้ กรอบแนวทางการดำเนินการ ประกอบด้วย 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานความเร็วสูงด้าน ICT ทั้งด้านโครงข่าย (Network Infrastructure) และด้านสารสนเทศ (Information Infrastructure) รวมทั้งการใช้บริการคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud) เพื่อลดความซ้ำซ้อน และภาระการลงทุนในการพัฒนาด้าน ICT ในหน่วยงานของรัฐ

2.การพัฒนาระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ (e-Government Services) ตามภารกิจของหน่วยงาน ในลักษณะของระบบบริการที่มีการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงาน (Integrated e-Services) ให้บริการระบบสารสนเทศแบบรวมศูนย์ ตลอดจนกำหนดกรอบแนวทางการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ และมาตรฐานด้านความมั่นคงปลอดภัย

ส่วนนายธีรัตน์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้ไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ โดยอนุสัญญาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และเพื่อเป็นการประกันว่าจะเคารพมรดกวัฒนธรรมของชุมชน กลุ่มชนและปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพื่อเป็นการเพิ่มความตระหนักทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติและนานาชาติถึงความสำคัญของวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้และเป็นการให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างประเทศด้วย

ทั้งนี้ มรดกของวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แบ่งเป็น 5 สาขา ได้แก่ ประเพณีและการแสดงออกของมุขปาฐะ รวมถึงภาษาต่างๆ 1.ศิลปการแสดง 2.แนวปฏิบัติทางสังคม 3.พิธีกรรมและงานเทศกาล 4.ความรู้และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติ และจักรวาล และ 5.งานช่างฝีมือดั้งเดิม

ด้าน ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอ ครม.ฝ่ายเศรษฐกิจ ในคราวประชุมครั้งที่ 17/2555 และครั้งที่ 12/2556 ตามที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ เสนอ ที่เห็นชอบการเพิ่มเงินค่าครองชีพชั่วคราวข้าราชการตุลาการ และดะโต๊ะยุติธรรมตามร่างระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยการจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวข้าราชการตุลาการและดะโต๊ะยุติธรรม ฉบับที่ ... พ.ศ. .... และให้สำนักงานศาลยุติธรรม พิจารณาใช้เงินเหลือจ่ายของหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรไปแล้ว ทั้งนี้ หากเงินเหลือจ่ายของหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรไปตามปีงบประมาณ ไม่เพียงพอสำหรับรายการเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวข้าราชการตุลาการและดาโต๊ะยุติธรรม ให้ทำเรื่องขอจัดสรรเงินงบกลางต่อไป

ทั้งนี้ ร่างระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยการจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวข้าราชการตุลาการและดะโต๊ะยุติธรรม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... มีดังนี้ 1.กำหนดให้ระเบียบนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป 2.กำหนดให้ข้าราชการตุลาการผู้ดำรงตำแหน่างผู้ช่วยผู้พิพากษา ผู้พิพากษาประจำศาล ผู้พิพากษา ศาลชั้นต้น ชั้น 2 และดะโต๊ะยุติธรรม ได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวเป็นรายเดือน และ 3.กำหนดให้เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวตามระเบียบนี้ เป็นการให้ชั่วคราว หากมีการปรับโครงสร้างเงินเดือนของข้าราชการตุลาการและดะโต๊ะยุติธรรม คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) อาจแก้ไขหรือยกเลิกเงินดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างเงินเดือนของข้าราชการตุลาการและดะโต๊ะยุติธรรมที่ปรับใหม่ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น