ASTVผู้จัดการ – นิด้าโพลเผยผลสำรวจ ชี้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์ ควรคืนตำแหน่งเลขาฯ สมช.ให้ นายถวิล เปลี่ยนศรี ตามคำสั่งศาลปกครอง นักรัฐศาสตร์ชี้คนเข้าใจหลักคุณธรรมของการบริหารงานภาครัฐที่ใช้เป็นสากลว่า การโยกย้ายข้าราชการประจำ ไม่ควรเป็นไปตามเหตุผลทางการเมือง เพราะ สมช.มีพันธกิจดูแลความมั่นคงของ “ชาติ” ไม่ได้ดูแลความมั่นคงเฉพาะของ “รัฐบาล”
วันนี้ (7 มิ.ย.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “คำสั่งศาลปกครองกลาง กับการคืนตำแหน่งเลขาฯ สมช.” โดยนิด้าโพลทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4-6 มิถุนายน 2556 จากประชาชนทั่วประเทศ ที่ติดตามข่าวเกี่ยวกับการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี ในตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จำนวน 1,252 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ เกี่ยวกับการตัดสินใจของ นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายถวิล เปลี่ยนศรี ว่าควรจะดำเนินการอย่างไร และอำนาจในการตัดสินใจการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐานไม่เกินร้อยละ 1.4
ผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.62 ระบุว่า ต้องการให้ นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แก่นายถวิล เปลี่ยนศรี เพราะศาลได้ตัดสินแล้ว ควรเคารพการตัดสินของศาล นายกฯควรแสดงความโปร่งใสในการใช้อำนาจของรัฐ เพื่อยุติความขัดแย้ง และนายถวิล เปลี่ยนศรี ก็ใกล้จะเกษียณอายุราชการแล้ว รองลงมา ร้อยละ 32.35 ระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ควรยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง เพราะนายกรัฐมนตรีน่าจะมีเหตุผลในการตัดสินใจ เพื่อหาบุคคลที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่ง
เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่า หากนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะยื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุดจะมีความเห็นว่าอย่างไร พบว่า ประชาชน ร้อยละ 61.50 ระบุว่า นายถวิล เปลี่ยนศรี ควรยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.เพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง พร้อมทั้งต่อสู้คำอุทธรณ์ในศาลปกครอง รองลงมา ร้อยละ 27.64 ระบุว่า นายถวิล เปลี่ยนศรี ไม่ควรยื่น ป.ป.ช.แต่ใช้กระบวนการต่อสู้คำอุทธรณ์ในศาลปกครองเพียงอย่างเดียว ขณะที่ ร้อยละ 2.00 ระบุว่า นายถวิล เปลี่ยนศรี ไม่ต้องทำอะไร ควรยอมรับและปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เพราะใกล้จะเกษียณอายุราชการแล้ว
เมื่อถามถึงบุคคลที่ควรมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง (ข้าราชการประจำ ระดับ 11 หรือเทียบเท่า) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.83 ระบุว่า ควรเป็นคณะกรรมการที่ไม่ขึ้นตรงต่อฝ่ายการเมืองพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย รองลงมา ร้อยละ 41.21 เป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้องพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย และ ร้อยละ 1.36 อยากให้ทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงภาคส่วนของประชาชน และองค์กรอิสระ เข้ามาตรวจสอบถึงการทำงานของข้าราชการ และร่วมพิจารณาตัดสินใจ และจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรมจริยธรรมด้วย
ด้าน รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับผลการสำรวจในครั้งนี้เพิ่มเติมว่า “ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.62 “รับรู้และเข้าใจดีว่า” การย้ายคุณถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ เป็นการย้ายด้วยเหตุผลทางการเมือง ไม่ได้มาจากเหตุผลเรื่องความบกพร่องในการทำงานหรือการทำงานที่ไม่มีประสิทธิผล ไม่มีประสิทธิภาพหรือการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ ประชาชนส่วนใหญ่จึงเห็นว่าควรคืนตำแหน่งเลขาธิการความมั่นคงแห่งชาติ ให้กับคุณถวิล เปลี่ยนศรี ซึ่งสอดคล้องกับหลักคุณธรรมของการบริหารงานภาครัฐที่ใช้เป็นหลักการอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่กำหนดไว้ว่าการโยกย้ายข้าราชการประจำ ไม่ควรเป็นไปตามเหตุผลทางการเมือง เนื่องจากข้าราชการประจำอยู่ในฐานะผู้รับนโยบายจากทุกรัฐบาล ไปดำเนินการ ข้าราชการประจำไม่อยู่ในฐานะที่จะสามารถเลือกได้ว่าตนเองชอบรัฐบาลนี้ จึงกระตือรือร้นในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ หรือไม่ชอบรัฐบาลนี้จึงเฉื่อยชาหรือวางเฉย ไม่นำนโยบายไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ ฝ่ายการเมืองจึงไม่ควรมองอย่างจำแนกว่าข้าราชการเป็นคนของพรรคการเมืองใด แต่ต้องมองว่าข้าราชการเป็นกลางทางการเมือง นอกจากนี้ สภาความมั่นคงฯ มีพันธกิจดูแลความมั่นคงของ “ชาติ” ไม่ได้ดูแลความมั่นคงเฉพาะของ “รัฐบาล” เท่านั้น รัฐบาลจึงควรใช้มุมมองต่อตัวบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติว่าต้องทำงานแบบมืออาชีพ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นคนในเครือข่ายที่รัฐบาลไว้วางใจเท่านั้น
ในกรณีที่รัฐบาลยื่นอุทธรณ์คดีของคุณถวิล เปลี่ยนศรี ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ เกือบร้อยละ 89.14 เห็นว่า คุณถวิล เปลี่ยนศรี ควรต่อสู้คดีในชั้นศาลปกครองสูงสุดต่อไป โดยประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.50 เห็นว่านอกจากจะต่อสู้คดีในชั้นศาลปกครองสูงสุดแล้ว ควรยื่น ป.ป.ช.เพื่อปกป้องสิทธิ์ของคุณถวิล เปลี่ยนศรี เองนั้น สอดคล้องกับแนวคิดของคุณถวิล เปลี่ยนศรี เอง ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าอาจเลือกแนวทางในการปกป้องตนเอง ในแนวทางใดแนวทางหนึ่งจาก 3 แนวทาง คือ 1) ยื่นให้ ป.ป.ช.ให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือ 2) ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินว่าทำผิดประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง หากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าผิดร้ายแรงก็จะส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช.เพื่อให้ดำเนินการถอดถอนนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง หรือ 3) ฟ้องละเมิดทางแพ่ง ทั้งนี้ การดำเนินการเพื่อปกป้องตนเองของข้าราชการประจำที่เห็นว่าตนเองถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจรัฐนั้น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ข้าราชการพึงกระทำได้เพื่อรักษาเกียรติยศและชื่อเสียงของตนเอง
สำหรับเรื่องว่าใครควรมีอำนาจในการตัดสินใจ เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงนั้น ประเด็นสำคัญไม่น่าจะอยู่ที่ว่าใครควรเป็นผู้มีอำนาจ แต่น่าจะอยู่ที่ “การกำหนดหลักเกณฑ์และกระบวนการ” ให้ชัดเจนมากกว่าปล่อยให้เป็นดุลยพินิจของผู้มีอำนาจอย่างเดียวโดยปราศจาก “หลักเกณฑ์และกระบวนการ””